ก่อนที่ฮาวายจะกลายมาเป็นรัฐลำดับที่ 50 ของอเมริกา หมู่เกาะแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานและเคยเป็นราชอาณาจักรที่มีกษัตริย์ปกครอง แถมมีภาษาเป็นของตัวเองด้วย แต่ก่อนเป็นที่อยู่ของชาวโพลินีเชีย จนกระทั่งพระเจ้าคาเมฮาเมฮารวบรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียว ก่อตั้งราชวงศ์แรกในฮาวายคือ ราชวงศ์คาเมฮาเมฮา เรียกง่ายๆ ว่าราชวงศ์สองฮา จำชื่อนี้ไว้ให้ดี เพราะจากนี้ไปราชวงศ์สองฮาที่ว่าจะเจอเรื่องที่ไม่ฮา
ลูกหลานพระเจ้าคาเมฮาเมฮาปกครองฮาวายมาตั้งแต่กษัตริย์คาเมฮาเมฮาที่ 1 ไปยันคาเมฮาเมฮาที่ 5 จะว่าไปเป็นราชวงศ์ที่แปลกเอาการ เพราะกษัตริย์อายุสั้นแทบทั้งสิ้น เลยไม่ทันมีรัชทายาท การสืบราชสมบัติเลยตกอยู่ที่น้องชายเป็นส่วนใหญ่ หากมีโอรสและธิดามักสิ้นพระชนม์ก่อนจะได้รับการแต่งตั้ง กษัตริย์คาเมฮาเมฮาที่ 4 สิ้นพระชนม์ ขณะมีพระชนมพรรษาได้เพียง 42 พรรษาเท่านั้น ตรงนี้แหละที่เป็นจุดเปลี่ยน เพราะหวยมาออกที่คนนอก เมื่อไม่มีรัชทายาท สภานิติบัญญัติต้องเลือกผู้มาเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป
ส้มหล่นที่วิลเลียม ชาร์ลส์ ลูนาลิโล บุตรชายขุนนาง แต่ได้เป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าลูนาลิโล ตั้งราชวงศ์คาลาอีมามาฮู แต่เสวยสุขได้แค่ปีเดียวก็โบกมือลาโลก สรุปราชวงศ์นี้มีกษัตริย์พระองค์เดียวนี่แหละ
พอไม่มีรัชทายาท (อีกแล้ว) สภานิติบัญญัติจึงต้องเลือกผู้ที่จะมาเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป ระหว่างพระราชินีเอ็มมา นาเอ รูก พระราชินีในพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 4 ของราชวงศ์ก่อน กับเดวิด คาลาคาอัว ยังไม่ทันเลือกว่าจะเอาใคร เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง สุดท้ายหวยออกที่เดวิด คาลาคาอัว ได้ครองราชย์บัลลังก์ฮาวาย ทรงพระนามว่าพระเจ้าคาลาคาอัวที่ 1 ก่อตั้งราชวงศ์ราชวงศ์คาลาคาอัว ชื่อคล้ายๆ ชื่อเหล้ายี่ห้อหนึ่งเลย
การที่เดวิด คาลาคาอัวได้เป็นกษัตริย์นั้นไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เพราะอเมริกาหนุนหลังอย่างสุดติ่งกระดิ่งแมว ที่ลุงแซมเข้าไปชักใยเบื้องหลัง เพราะต้องการให้กษัตริย์ลงนามนั่นนี่ในกฎหมาย และพระราชบัญญัติในการเอื้อประโยชน์แก่นักธุรกิจอเมริกันนั่นเอง
อเมริกาควบคุมให้เซ็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรฮาวาย 1887 หรือ Bayonet Constitution มีผลคือลดอำนาจของกษัตริย์ลง และกระจายอำนาจออกไปให้กลุ่มนายทุนน้ำตาล ซึ่งก็คือพ่อค้าอเมริกัน ให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทางการเมือง
การเอื้อประโยชน์ที่ว่านี่คือการอนุญาตให้อเมริกาสร้างท่าเรือของตนในฮาวายได้ ซึ่งท่าเรือแห่งนี้คือท่าเรือเพิร์ลฮาเบอร์ แถมมอบอำนาจแก่คนอเมริกันอย่างล้นเหลือ
ช่วงที่พระราชาคาลาคาอัวขึ้นครองราชย์ ได้รับฉายานามว่าเป็นกษัตริย์เพลย์บอย ทรงโปรดงานรื่นเริงทุกสิ่งอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการดื่มสุราข้ามคืน การพนัน การแข่งม้า รวมถึงชอบดูระบำฮาวายส่ายสะโพกแบบพิเศษ ทรงโปรดหมดทุกอย่าง แถมสร้างพระราชวังอิโอลานีในเมืองโฮโนลูลู แทนพระราชวังเดิม ใช้เงินไม่อั้น สั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากโรงงานที่ผลิตเครื่องเรือนให้ทำเนียบขาว
กษัตริย์ฮาวายพระองค์นี้แหละที่เดินทางรอบโลก โดยแวะแคลิฟอร์เนียก่อนแล้วจึงทรงเยือนญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก จากนั้นทรงแวะจีน ฮ่องกง สยาม สิงคโปร์ มาเลเซีย พม่า อินเดีย อียิปต์ อิตาลี อังกฤษ และอีกหลายประเทศในยุโรป แล้วกลับไปส่ายสะโพกต่อที่ฮาวาย
ตอนที่พระองค์เสด็จมาถึงสยามนั้นมีการบันทึกการเดินทาง ตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี ค.ศ. 1904 ชื่อ “Around the World with a King” วิลเลียม เอ็น. อาร์มสตรอง ซึ่งเป็นอัยการสูงสุดของรัฐบาลฮาวายตามเสด็จและจดบันทึกการเดินทาง
กษัตริย์คาลาคาอัวอยากเห็นช้างเผือกของสยามอย่างยิ่ง เพราะสมัยก่อนช้างเผือกของเราโด่งดังทั่วโลก ขณะที่เรือหลวงนำกษัตริย์แห่งฮาวายและผู้ติดตามเข้ามาในบางกอก ชาวฮาวายเห็นต้นมะพร้าวถึงกับดีอกดีใจ เพราะคิดว่า “นี่คือฮาวาย” พร้อมทั้งหวังว่าทางสยามจะต้อนรับขับสู้ด้วยน้ำมะพร้าวอ่อน ลงทุนวาดลูกมะพร้าวให้ทางสยามดู สุดท้ายก็ได้กินน้ำมะพร้าวสมใจนึกฮอนโนลูลู แถมเรียกน้ำมะพร้าวว่า “ไวน์ปะการัง”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสต้อนรับพระเจ้าคาลาคาอัวเป็นภาษาอังกฤษ ในเวลานั้นพระเจ้าคาลาคาอัวมีพระชนม์ได้ 45 พรรษา ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นยังหนุ่มแน่น มีพระชนมพรรษาเพียง 28 พรรษาเท่านั้น เหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านไปด้วยดี นับเป็นการสานสัมพันธภาพระหว่างสองกษัตริย์ที่น่าจดจำ นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งแห่งสยามประเทศที่น้อยคนจะรู้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี