ความงดงามอย่างหนึ่งที่ได้เห็นจากเหตุการณ์ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งประสบอุทกภัยที่มาอย่างรวดเร็วและสร้างความเดือนร้อนอย่างหนัก ทั้งชีวิตคน, สัตว์เลี้ยง, พื้นที่เกษตรกรรม และอาคารบ้านเรือน นั่นคือการร่วมมือกันอย่างขันแข็งและรวดเร็วของหน่วยงานต่างๆ
นอกจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ยังมีสิ่งของพระราชทาน, ทหารจากสามเหล่าทัพ,อาสาสมัครหลายองค์กรและมูลนิธิ ไปจนถึงประชาชนที่รวมกลุ่มกันเพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย และจากประชาชนทั่วประเทศที่บริจาคเงินทองและข้าวของเครื่องใช้
เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอเมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศเกิดอุบัติภัย หรือจะบอกว่าเป็นพื้นนิสัยของคนไทยส่วนใหญ่ก็คงจะไม่ผิดความจริง แต่ความงดงามอย่างนี้ไม่จำเป็นก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะต้นกำเนิดของการหลั่งไหลน้ำใจคืออุบัติภัย ถ้าไม่มีผู้คนต้องเดือดร้อนและทุกข์ยากเสียเลยจะดีกว่า
หลังจากที่ทุกอย่างกำลังอยู่ในช่วงคลี่คลาย หลายคนคงจะหงุดหงิดเมื่อเห็นบรรดานักการเมืองลงพื้นที่เพื่อแสดงละครกันคนละฉากสองฉาก แต่ผมไม่ค่อยติดใจอะไร เพราะเป็นอาชีพของคนพวกนี้ เขาไม่ค่อยอายกับการทำอะไรก็ได้ที่ดูดี แม้จะไม่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง พยายามสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อเป้าหมายสุดท้ายก็คือคะแนนเสียง
อย่าเพิ่งเชื่อว่า น้ำตาและวาทกรรมจะหล่นออกมาจากความเห็นอกเห็นใจที่แท้จริง
แต่ที่แย่กว่านั้นคือ ขณะคนมากมายกำลังทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยาก กลับมีนักการเมืองจำพวกหนึ่ง พูดจาหรือโพสต์ถ้อยคำที่อาจเป็นคำโกหกพกลม หรือถ้อยคำที่ทำลายหัวใจปรารถนาดีของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร มันไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น ในช่วงระบาดของโควิด-19 ก็เคยทำกันมาแล้ว
วันที่ 25 สิงหาคม 2567 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิหัวหน้าพรรคประชาชน ขึ้นพูดบนเวทีปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจังหวัดราชบุรีว่า “ตอนนี้ทีมเครือข่ายของพรรคประชาชนทั่วประเทศกำลังจัดตาราง ระดมสรรพกำลัง ระดมสส.ในพรรค ไปช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ตอนนี้ครับ”
นั่นเป็นการพูดในช่วงที่เกิดอุทกภัยในหลายจังหวัดภาคเหนือ และน้ำกำลังลงมาที่สุโขทัย แต่ไม่มีความเคลื่อนไหวที่ว่านั้นเกิดขึ้น จนกระทั่งน้ำลดลงไปแล้ว และตามมาด้วยอุทกภัยระลอกใหม่ที่แม่สายและแม่อาย
ต่อมา นายณัฐพงษ์ ได้โพสต์ในสื่อโซเชียลว่า “เนื่องจากขณะนี้ ยังติดข้อจำกัดกฎหมายเลือกตั้งว่าด้วยการห้ามมอบของในการช่วยเหลือหรือผลประโยชน์อื่นใดให้กับประชาชน (ตามกรอบ 180 วัน) พวกเราจึงทำการประสานงานเครือข่ายอาสาสมัครและองค์กรภาคเอกชนต่างๆ เข้าให้การช่วยเหลือแล้วในบางพื้นที่” เป็นตลกร้ายที่ยังไงก็ขำไม่ออก
แต่ยังไม่น่าแปลกใจเท่าการโพสต์ของ นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม ซึ่งเป็นสส.เชียงรายของพรรคประชาชนเอง ว่า “น้ำท่วมแม่สายอ่วม พี่น้องติดอยู่ในอาคาร เจ้าหน้าที่พร้อมช่วย แต่รอคำสั่งจากผู้บัญชาการจะสั่งการกี่โมง”
ปรากฏว่า ถูกตำหนิจากทั่วทุกสารทิศ แม้แต่คนเชียงรายจำนวนไม่น้อยก็รับไม่ได้
จากนั้นเธอก็โพสต์อีก คราวนี้ซอฟท์ลงมาหน่อย ว่า “วันนี้เฮลิค็อปเตอร์ 2 ลำจะเข้าพื้นที่ประมาณเที่ยง เพื่อช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ในอาคารนะคะ ขอบคุณทุกฝ่ายมากๆ ค่ะ”การไม่เอ่ยชื่อหน่วยงานเจ้าของเฮลิค็อปเตอร์ ไม่รู้ถูกสั่งมาจากต้นสังกัดหรือเปล่า เพราะกลัวว่า ทหารและข้าราชการจะได้เครดิท
แล้วก็โดนไปอีกรอบ ก่อนจะเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเป็น “วันนี้เฮลิค็อปเตอร์ของหน่วยงานทหารและ ปภ. จะเข้าพื้นที่ประมาณเที่ยง เพื่อช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ในอาคารนะนะ ขอบคุณทุกฝ่ายมากๆค่ะ” ในเวลาต่อมา
กลางสัปดาห์ที่แล้วก็อีกราย คราวนี้เป็นโพสต์ของนายอิทธิพล ชลธราศิริ สส.ของแก่น ของพรรคประชาชนเขียนว่า “นั่นแหละครับทุกท่าน ซื้อทีลำละเกือบพันล้าน ตอนนี้มี 4 ลำ ลำที่ 5 กำลังซื้อ เกิดเหตุเมื่อไหร่ไม่เห็นสักที หน่วยงานที่ทำงานด้านสาธารณะภัยแบบใด๋ที่มีทีมอาสาเข้าถึงพื้นที่ก่อน”(เขาเขียน “สาธารณะภัย” และ “แบบใด๋” อย่างนี้)
และล่าสุดเป็นจุดพีค ในคลิปหาเสียงเลือกตั้งซ่อมสส.พิษณุโลก อมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล ผู้ถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี กล่าวบนเวทีปราศัยหาเสียงของพรรคประชาชน ว่า “เชียงรายประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 กว่าปี แต่ไม่มีเฮลิค็อปเตอร์กู้ภัยค่ะพี่น้อง แต่มีงบประมาณเป็นหมื่นล้านซื้อเฮลิค็อปเตอร์ให้วี.ไอ.พี.”
คนที่ดูข่าวอุทกภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นๆ ก็จะเห็นการใช้เฮลิค็อปเตอร์ปฏิบัติการอยู่เสมอ แต่ก็ถูกนำมาบิดให้เป็นประเด็นทางการเมือง
แน่นอนว่า ไม่ได้มีนักการเมืองพรรคเดียวที่ออกไปฉวยประโยชน์ด้านภาพจากเหตุการณ์สำคัญๆ ทุกพรรคก็พยายามออกไปหาแสงและหาเสียงทั้งนั้น แต่ก็ไม่มีใครเขาออกมาโพสต์ในเชิงไม่สร้างสรรค์, พูดจาโจมตี, ส่อเสียด หรือภาษาสมัยนี้คือ “ด้อยค่า” คนอื่น ดูเหมือนคนที่ทำแบบนี้จะมาจากพรรคการเมืองเดียวกันทั้งสิ้น
คงไม่ใช่เรื่องพ่อแม่หรือครูบาอาจารย์ไม่สั่งสอนไปเสียทุกคน เพราะคนเราร้อยพ่อพันแม่ บางคนอาจจะลืมที่ถูกสอน หรือบางคนคำสอนอาจจะไม่เข้าหัว แตที่น่าสงสัยคือ เป็นรูปแบบและวิธีทางการเมืองที่จัดตั้งมาให้เป็นแบบนี้หรือไม่ โดยใช้พลังของสื่อโซเชียลเป็นอาวุธ และเคยได้ผลมาแล้วในการเลือกตั้งใหญ่ รวมถึงการหนุนขบวนการเคลื่อนไหวของเยาวชนบนถนน จนเป็นพิมพ์เดียวกันไปหมด
แต่ต่อไปรูปแบบและวิธีนี้อาจจะกัดกร่อนตัวเองลงไปเรื่อยๆก็เป็นได้ เพราะในสถานการณ์บางอย่างที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลือ เมื่อนักการเมืองไม่มีความสามารถพอที่จะช่วย ไม่มีจิตใจเป็นกุศลอยู่ตั้งแต่แรก การไม่พูดอะไรเลยอาจจะเป็นการช่วยเหลือชนิดหนึ่ง
การพูดจาในแง่ลบ หรือกำกวมบิดเบือน อย่านึกว่าประชาชนจะไม่รู้สึก สังคมนี้ไม่ได้มีประชาชนพวกเดียวเท่านั้นที่คิดอ่านเหมือนพวกตน แม้แต่กองเชียร์ของพรรคเอง พวกเขาก็อาจจะรู้สึกว่าผิดกาลเทศะ และถ้าพวกเขาเริ่มรู้สึกว่า ชีวิตไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการ “เล่นแรง” แบบนี้ นอกจากความมันในอารมณ์ชั่วครู่ชั่วคราว พรรคก็คงจะล่มสลายไปอีกไม่นาน
ทิวา สาระจูฑะ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี