นับจากวันประกาศ “กฎหมายให้อิสรภาพแก่อินเดียปี 1947” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ปี 1947 และมอบหมายให้เมาท์ แบตเทน จัดการเรื่องการคืนอิสรภาพให้แก่อินเดีย รวมถึงการแยกประเทศอินเดียเป็น ประเทศอินเดีย และ ประเทศปากีสถาน ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 สิงหาคม ปี 1947
หมายความว่า เมาท์ แบตเทนมีเวลาแค่ 27 วันในการปฎิบัติภารกิจนี้เท่านั้น
แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาที่หนักกว่า และไม่รู้จะหาทางออกอย่างไรสำหรับเมาท์ แบตเทน ก็คือจะลากเส้นแบ่งประเทศอย่างไรในกำหนดเวลาที่บีบคั้นสุดๆเช่นนี้
ลำพังแค่เดินทางสำรวจแนวเส้นที่จะแบ่ง ก็ต้องใช้เวลาเป็นปีแล้ว แต่นี่มีเวลาแค่ 27 วันเท่านั้น
(แผนที่อินเดีย ที่แสดงพื้นที่รัฐเบงกอล (สีชมพูเข้มและอ่อน) - ภาพจากวิกิพีเดีย)
แม้ว่า ในอดีตเมื่อปี 1905 อังกฤษ โดยลอร์ด เคอร์ซอน (LORD CURZON)ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดีย เคยขีดเส้นแบ่งอินเดียในดินแดนภาคตะวันออกที่เรียกว่า เบงกอล เพรสซิเดนซี่ ซึ่งก็คือ พื้นที่ของรัฐเบงกอลให้แยกออกเป็น เบงกอลตะวันตก และ เบงกอลตะวันออก โดยยึดหลักการการแยกพื้นที่ของประชากรฮินดู ออกจากพื้นที่ของประชากรมุสลิม
(เส้นแบ่งรัฐเบงกอลออกเป็นตะวันตกและตะวันออก (เส้นสีดำทึบ)โดยลอร์ด เคอร์ซอนในปี 1905 -ภาพจากวิกิพีเดีย)
เป็นแนวคิดที่ชั่วร้ายของอังฤษที่ต้องการจะ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” และต้องการจะทำให้ขบวนการชาตินิยมที่ต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพของอินเดียที่มีจำนวนมากอยู่ในรัฐเบงกอลอ่อนกำลังลง
บรรดานักสู้ชาตินิยมของอินเดียต่างออกมาโต้แย้งและคัดค้านการแบ่งแยกเบงกอลอย่างหนัก และย้ำว่า มันจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดู และ มุสลิม เพิ่มมากขึ้นไปอีก
ในที่สุด การแยกเบงกอลออกเป็น 2 ส่วนของลอร์ด เคอร์ซอน ก็ต้องยกเลิกไปในปี 1911
แต่ผลของการแบ่งดินแดนครั้งนี้รอวันเวลาที่จะส่งผลใหญ่ และ ยิ่งย้ำความแตกแยกของกลุ่มหลักทั้งสองให้พร้อมที่จะระเบิดขึ้นมาอีกครั้งเมื่อใดก็ได้
ปัญหาต่อมาก็คือ จะเลือกใครมาเป็นคณะกรรมการขีดเส้นพรมแดนระหว่างอินเดีย และ ปากีสถาน
(ซีริล แรดคลิฟฟ์ ผู้ไม่เคยเห็นอินเดียมาก่อน แต่ต้องมาทำหน้าที่ขีดเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างอินเดีย และ ปากีสถาน - ภาพจากวิกิพีเดีย)
หลังการประชุมร่วมกันของ พรรค เนชั่นนัล คองเกรส , สหพันธ์มุสลิม และ ตัวแทนของชุมชนชาวซิกห์ กับ เมาท์แบตเทนแล้ว ที่ประชุมก็ได้แต่งตั้ง ตามคำสั่งของรัฐบาลอังกฤษที่ลอนดอนให้ ซีริล แรดคลิฟฟ์(CYRIL RADCLIFFE) เป็นประธานคณะกรรมการกำหนดเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างอินเดีย กับปากีสถานทั้งตะวันตก และ ตะวันออก
ดังนั้น การประชุมของสามฝ่ายจึงเป็นเพียงตราประทับเพื่อรับทราบเท่านั้น ไม่มีสิทธิโต้แย้ง
แรดคลิฟฟ์ เป็นนักกฎหมายผู้ไม่เคยเห็นอินเดียมาก่อน เขาได้รับการทาบทามจากรัฐบาลอังกฤษมาตั้งแต่ก่อนวันประกาศใช้กฎหมายเมื่อวันที่ 18 กรกรฎาคมแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่า อังกฤษวางแผนจะแยกประเทศอินเดียออกมาเป็นสองประเทศตั้งแต่ต้น
แต่แสร้งทำเป็นพยายามที่จะให้รักษาอินเดียให้เป็นประเทศเดียว
แรดคลิปฟ์ คงจะอยู่ในสถานการณ์ที่กระอักกระอ่วน กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ไม่ต่างอะไรกับ ลอร์ด เมาท์ แบตเทน ตอนที่ต้องมารับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดียอย่างปฎิเสธไม่ได้ เพื่อจัดการกับภารกิจแบ่งแยกประเทศอินเดียเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้
แรดคลิฟฟ์ เดินทางถึงเดลีวันที่ 8 กรกฎาคม ปี 1947 เขามีเวลาทำงานเพียง 5 สัปดาห์ เพื่อกำหนดเส้นแบ่งพรมแดนของสองประเทศให้เสร็จสิ้น
เป็นภารกิจที่ยิ่งกว่า MISSION IMPOSSIBLE
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี