จะว่าเร็วก็เร็ว จะว่านานก็นาน วันที่ 13 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ก็ครบรอบ 8 ปีของวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งภายหลังกำหนดให้เรียกเป็น “วันนวมินทรมหาราช”
แต่เชื่อว่าคนที่โตพอจะรู้ความแล้ว คงไม่มีใครลืมบรรยากาศที่ความเศร้าโศกครอบคลุมไปทั้งแผ่นดินไทยในห้วงเวลานั้น นั่นเพราะพระกรณียกิจมากมายมหาศาลที่ทรงทำเพื่อประเทศชาติและประชาชน ฝังตรึงอยู่ในการรับรู้ของคนไทยต่อเนื่องยาวนาน
การขึ้นครองราชย์ของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในปีพ.ศ. 2489 จนถึงวันสวรรคต เป็นช่วงเวลาที่ต้องทรงแบกรับปัญหาอุปสรรคต่างๆ หนักหนาสาหัส ทั้งภายในและภายนอก ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
ภายนอกคือต้องดำรงตนอยู่ให้ได้ระหว่างการแสวงอำนาจของชาติใหญ่ๆ โดยประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ใครก็อยากได้ ภายในก็เป็นความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องลัทธิ แย่งชิงอำนาจกันในระหว่างทหารผู้ถืออาวุธ ความยากจนและด้อยการศึกษาของประชาชน
พระองค์มีเป้าประสงค์คือความอยู่ดีกินดีของอาณาประชาราษฎร์ ความมั่นคง ความสงบสุขและพัฒนาการของชาติ แม้จะมีรัฐบาลที่หน้าที่บริหารประเทศ ก็ยังทรงถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นภาระรับผิดชอบของสถาบันกษัตริย์ และถ้าพูดกันตามจริงในภาษาชาวบ้าน ต้องบอกว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใช้สติปัญญาและพลังกายมากมายกับการสร้างสมดุลในสังคม
แต่วันคล้ายวันสวรรคตของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ปีนี้ ผมกลับนึกไปถึงเรื่องการกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานตนของข้าราชการและนักการเมือง
เอาเท่าที่จำได้ เพราะผมไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์สายลึก พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนในประเทศไทยนั้นมีมายาวนานตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา”พูดง่ายๆ ก็คือ มีเจตนาให้ข้าราชการแสดงตนว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ รวมถึงประพฤติตนซื่อสัตย์ หรือเป็นคนดีนั่นเอง ซึ่งคนที่จะได้ประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะพระมหากษัตริย์ แต่เป็นราษฎรที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ด้วย
ความสำคัญของพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนนี้ ถึงขนาดมีเป็นวรรณคดีที่เก่าแก่ในแบบลิลิตของไทยชื่อ “โองการแช่งน้ำ” เป็นการเขียนร่ายผสมผสานกับโคลง ว่ากันว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งไม่ได้มีแต่คำสดุดีเทพเทวดา อวยพรในทางดีอย่างเดียว ยังมีคำสาปแช่งของผู้ที่ตระบัดสัตย์ หรือไม่ทำตัวเป็นไปตามคำปฏิญาณ
การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์เดาเอาว่า คงจะเปลี่ยนถ้อยคำบ้างตามยุคสมัย อันนี้ต้องไปถามผู้รู้ทั้งหลาย แต่แล้วประเพณีนี้ก็ถูกยกเลิกไปเมื่อมีการปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ผู้ที่ยกเลิกส่วนใหญ่ก็เป็นนายทหารที่เคยถือน้ำพิพัฒน์สัตยามาก่อนนั่นเอง
อย่างว่าล่ะ เมื่อจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย จะมาถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาก็ยังไงคงกระอักกระอ่วนอยู่ในใจ เพราะจะบอกว่าพร้อมจงรักภักดีพลีกายถวายชีวิต ขณะที่ลดทอนอำนาจสถาบันกษัตริย์ลง ก็แปลกๆ อยู่
แต่ตอนหลังในรัชสมัย ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีการฟื้นฟูพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปีพ.ศ. 2512 ซึ่งคราวนี้ทำกับทหารและตำรวจที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูง ผู้ประกอบวีรกรรมด้วยความกล้าหาญ เสียสละ และมีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติในการต่อสู้กับศัตรูของบ้านเมือง เน้นที่การให้อวยชัยอวยพรคนที่ตั้งอยู่ในความซื่อสัตย์ สุจริต และกตัญญู
พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยานี้ก็ไม่ได้ให้เห็นในสาธารณะมานาน ไม่รู้ยังมีอยู่หรือเปล่า หรือมีแต่ไม่ได้การถ่ายทอดออกสื่อ ยุคหลังๆ จนถึงปัจจุบันที่คนทั่วไปได้เห็น มักจะเป็นการกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณหรือสาบานตน ไม่ได้มีพระครูด้านพราหมณ์มาอ่านคำสาปแช่งอะไร การกล่าวคำปฏิญาณก็มีตั้งแต่ทหารตำรวจที่เรียนจบรับกระบี่ ข้าราชการหมู่เหล่าต่างๆ และนักการเมืองที่เข้าไปเป็นรัฐบาล
แต่ถึงจะมีการกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดมาก็คือ ประเทศเรายังมีนักการเมืองที่โกงกิน ละเมิดกฎหมาย ใช้อิทธิพลและอำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตน ครอบครัว และพวกพ้อง ยังมีข้าราชการที่คอร์รัปชั่นอยู่ทุกกระทรวงทบวงกรม ตั้งแต่ระดับชาติลงไปยันท้องถิ่น ขนาดยืนปฏิญาณกันต่อหน้าพระ ต่อหน้าพระเจ้าแผ่นดิน ก็ยังไม่ละอายต่อบาปบุญคุณโทษ ท่องปาวๆ ไปอย่างนั้นเอง
ผมไม่ใช่สายมู แต่ชักเริ่มคิดแล้วว่า น่าจะเอาคำสาปแช่งแบบโองการแช่งน้ำกลับมาใช้ใหม่ เปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ให้เหมาะกับยุคสมัย หรือจัดประกวดแต่งคำสาปแช่งคนโกงและคนเลวเสียเลย เอาคำแช่งเด็ดๆ ของพวกที่ได้รางวัลมาผสมกัน แล้วตั้งอัลกอริธึ่มให้ขึ้นบนเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ของนักการเมืองและข้าราชการทุกเช้า เรียกว่าตื่นมาต้องเจอ เป็นการแช่งแบบดิจิทัล
บางทีมันอาจจะกลัวกันบ้าง
ทิวา สาระจูฑะ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี