ต้นฉบับชิ้นนี้ถูกเขียนก่อนผลการคัดเลือกประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือที่เรียกแบบบ้านๆ ว่า ประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะออกมา โดยคณะกรรมการสรรหา ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ว่าใครจะได้เป็น ระหว่าง กุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน, สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี
สองคนแรกเป็นชื่อที่ถูกเสนอจากธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนคนหลังเสนอโดยกระทรวงการคลังที่มีพรรคเพื่อไทยกำกับดูแล
เสียงคัดค้าน นายกิตติรัตน์ ดังกระหึ่มจากทั่วทุกสารทิศ ถึงขนาดมีการลงรายชื่อผู้คนระดับมันสมองของประเทศ 227 คน คัดค้านคนที่มาจากพรรคการเมืองนั่งประธานแบงก์ชาติ ในจำนวนนี้รวมถึงอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 4 คนด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา
แถมการนัดหมายประชุมคณะกรรมการเพื่อลงคะแนนคัดเลือกในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 “จะลงคะแนนในทางลับ” ทั้งๆ ที่ตำแหน่งสำคัญแบบนี้ควรโปร่งใส ไม่มีอะไรต้องปิดบัง คณะกรรมการคัดเลือก 7 คน มีเงื่อนงำอะไรสลับซับซ้อนหรือเปล่า ถึงต้องลงคะแนนในทางลับ
ถ้าใช้สำนวน คุณสมัคร สุนทรเวช ก็คงต้องบอกว่า “มันจะเป็นจะตายรึไง ทำไมต้องลงคะแนนลับ”
ยิ่งกว่านั้น คนที่กระทรวงการคลังในมือพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อมาให้คัดสรร ก็เป็นคนที่ผู้คนจำนวนมากมีข้อกังขา ตอนน้ำท่วมใหญ่ ปีพ.ศ.2554 เคยไปร้องห่มร้องไห้แถวนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค อยุธยา แทนที่จะแสดงความเข้มแข็งเพื่อให้กำลังใจผู้บริหารชาวญี่ปุ่นของนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคและประชาชนแถวนั้น ไม่รู้เลยว่าใครปลอบใคร
นอกจากนี้ ยังมีคดีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งให้อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องนายกิตติรัตน์ อดีต รมว.พาณิชย์ เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้แก่องค์การสำรองอาหารแห่งประเทศอินโดนีเซีย (BULOG)แต่เพียงผู้เดียว
สมัยรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังกล้า บอกกับสื่อมวลชนด้วยตัวเองว่า ข้อมูลตัวเลขเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่แถลงต่อสื่อมวลชนไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือเรียกว่าเป็น “โกหกสีขาว” เรื่องสำคัญระดับความเป็นความตายของเศรษฐกิจชาติยังไม่พูดความจริง เรื่องที่เหลืออื่นๆ ก็ไม่รู้เชื่อได้แค่ไหน
เมื่อย้อนดูประวัติ นายกิตติรัตน์ พบว่าเคยเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดีตประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนถึงเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ก็ไม่ต้องสงสัยว่ามาจากสายไหน
แต่จริงๆ แล้ว นายกุลิศ ก็เคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เป็นไปได้ไหมว่าสองในสามของผู้ถูกเสนอชื่อคัดเลือกเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติก็เป็นคนที่มีใครบางคนเบื้องหลังพรรคการเมืองส่งมา แบบว่าดักหน้าดักหลังไว้เสร็จสรรพ
เอาล่ะ ผลการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติคงออกมาแล้ว แต่ประเด็นมันอยู่ที่การคัดค้านของกลุ่มคนที่มีศักดิ์มีศรีในบ้านเมือง และการวิพากษ์วิจารณ์กันไปอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นกระแสสังคม แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครไว้วางใจพรรคเพื่อไทย กลัวว่าจะมาแทรกแซงธนาคารกลางของประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระ เช่นเดียวกับความไม่ไว้วางใจอีกหลายเรื่อง
การที่ประชาชนออกมาส่งเสียงคัดค้านเกี่ยวกับความพยายามที่จะดูดทรัพยากรจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลบริเวณเกาะกูดขึ้นมาใช้ โดยกัมพูชามีเอี่ยวด้วย และยังไม่ทำให้เกิดความชัดเจนของเขตแดน นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดมาจากสาเหตุที่คนส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ แต่รองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง?) กลับกล่าวหาผู้ที่คัดค้านว่า เป็นพวก “คลั่งชาติ”
หากย้อนไปดูเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมานับตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย,พลังประชาชน จนมาถึงเพื่อไทย ได้กุมเสียงข้างมากในสภา และจัดตั้งรัฐบาล แทบไม่มีสมัยใดปลอดพ้นจากข้อครหาการคอร์รัปชั่น นักการเมืองและข้าราชการเป็นคดีถูกตัดสินติดคุกติดตะรางไปก็หลายราย
แต่ประชาชนส่วนหนึ่งก็ยังเลือกพรรคแบบนี้เข้ามาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ต่างจากพวกหลงลิเก หลงละคร เพลิดเพลินไปกับการแสดง ข้อเท็จจริงหรือถูก-ผิดอย่างไรไม่สนใจ
ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของเสียงส่วนใหญ่ก็จริง แต่ถ้าตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ที่ถูกเลือกมาไม่แสดงให้เห็นว่าเป็นคนมีคุณภาพ มีความบริสุทธิ์ และใช้เสียงส่วนมากในสภาลากถูลู่ถูกังนโยบายที่มีลับลมคมใน คลุมเครือ ทับซ้อนด้วยผลประโยชน์ของบุคคล ไม่ใช่ผลประโยชน์ของประเทศ ประชาธิปไตยที่พร่ำเพ้อกันสามเวลาหลังอาหารก็กลายเป็นระบอบการปกครองที่ชั่วร้ายชนิดหนึ่ง
ท้ายที่สุด ประชาชนจำนวนมากที่ไม่ไว้วางใจนักการเมืองก็ต้องลงถนน เพราะพวกเขาไม่สามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาได้และฝ่ายค้านในสภาก็ไม่สามารถพึ่งพาได้
ทิวา สาระจูฑะ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี