ก่อนที่อเมริกาจะเป็นประเทศ มีสภาพเพียงอาณานิคมกระจายตัวกันอยู่หลวมๆ 13 แห่ง ตามพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก ช่วงเวลานั้นก็มีการนำทาสจากแอฟริกามาใช้งานแล้วในหมู่ชาวอาณานิคม ต่อมาจอร์จ วอชิงตัน นำกองกำลังตะลุมบอนกับทหารอังกฤษที่ปกครองชาวอาณานิคมแล้วกดขี่ข่มเหงต่างๆนานา จนอังกฤษพ่ายแพ้ แล้วประกาศอิสรภาพในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกนั้น อาณานิคมได้เลื่อนขั้นขึ้นเป็น 13 รัฐแรกในอเมริกา แบ่งเป็นรัฐห้ามค้าทาสหรือรัฐเสรี 5 รัฐ และรัฐที่อนุญาตให้ค้าทาสได้ 8 รัฐ ซึ่ง 8 รัฐที่มีการค้าทาสนี้เรียกว่ารัฐทาส
หลังจากนั้นขยายขอบเขตออกไปเรื่อยๆ จนมีทั้งหมด 34 รัฐ และแบ่งเป็นรัฐเสรี 19 รัฐ อยู่ทางตอนเหนือของประเทศและรัฐทาส 15 รัฐ ทางตอนใต้
ต่อมามีการขยายดินแดนไปทางฝั่งตะวันตกของประเทศ พื้นที่ส่วนนั้นเรียกว่าดินแดนตะวันตก และเป็นจุดเกิดกรณีขัดแย้ง เพราะรัฐทางเหนือซึ่งเป็นรัฐเสรี ไม่อยากให้รัฐเกิดขึ้นใหม่ในดินแดนตะวันตกเป็นรัฐทาส แต่ขณะเดียวกัน รัฐทางใต้ซึ่งเป็นรัฐค้าทาส ก็อยากให้แผ่นดินตะวันตกกลายเป็นรัฐค้าทาสไปด้วย
นักการเมืองจึงชูประเด็นต่อต้านการมีทาสในดินแดนทางตะวันตก เพื่อสร้างโอกาสให้ตนได้รับเลือก พรรคการเมืองนำนโยบายเรื่องเลิกทาสไปหาเสียง อับราฮัม ลินคอล์น ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาจากนโยบายนี้ ทำให้รัฐทางใต้ 13 รัฐไม่พอใจ จนถึงขั้นแยกตัวไปตั้งรัฐบาลใหม่ในนามว่าสมาพันธรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1861
การทำแบบนี้เหมือนท้าทายกันซึ่งหน้า แถมมีการแต่งตั้งเจฟเฟอร์สัน เดวิด อดีตวุฒิสมาชิกรัฐมิสซิสซิปปี้เป็นประธานาธิบดีซ้อนขึ้นมาโดยไม่ยอมรับอำนาจของรัฐทางเหนืออีกต่อไป มิหนำซ้ำยังประกาศใช้รัฐธรรมนูญของตัวเองอีกต่างหาก
รัฐบาลฝ่ายสหภาพหรือฝ่ายเหนือนอกจากไม่ยอมรับสมาพันธรัฐฝ่ายใต้แล้วก็ประกาศทันทีว่าสมาพันธ์ฝ่ายใต้เป็นกบฎ ขณะที่ฝ่ายใต้เองอ้างว่าพวกตนมีสิทธิ์อย่างเต็มที่ในการแยกประเทศ ฝ่ายใต้จัดตั้งกองทัพอันเกรียงไกรขึ้นมาคือกองทัพแห่งเวอร์จิเนียเหนือ ภายใต้การบังคับบัญชาของโรเบิร์ต อี ลี ในขณะที่ฝ่ายเหนือมีกองทัพแห่งโปรโตแมคเป็นกองกำลังหลัก
สงครามเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1861 หลังจากต่อสู้กันมาสองปียังผลัดกันรุกผลัดกันรับ ไม่สามารถสรุปผลได้ว่าใครแพ้ใครชนะ ประธานาธิบดีลินคอล์นไม่ได้นิ่งนอนใจ ออกประกาศเลิกทาส โดยประทับตราทำเนียบขาวชัดเจน เมื่อวันที่ 22 กันยายน ปี คศ. 1862 สร้างความสะท้านสะเทือนไปทั้งประเทศ โดยเฉพาะรัฐทางใต้
วันแตกหักมาถึงในปี คศ 1863 ในเมืองเล็กๆ รัฐเพนซิลวาเนียชื่อเมืองเก็ตตี้สเบิร์ก ตอนนั้นนายพล โรเบิร์ต อี.ลี แม่ทัพฝ่ายใต้สรุปว่า ถึงเวลาแล้วที่กองกำลังฝ่ายใต้จะต้องรุกขึ้นเหนือ เพราะหากตั้งรับในรัฐทางใต้อยู่แบบนี้คงไม่รู้แพ้รู้ชนะอย่างแน่นอน จึงระดมพลรุกคืบขึ้นไปทางเหนือทันที เพื่อบีบประธานาธิบดีลินคอล์นให้เจรจาหย่าศึก เพราะกองกำลังทั้งสองฝ่ายล้มตายลงเป็นเบือยังไม่รู้หมู่จ่ากันเสียที
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1863 นายพล โรเบิร์ต อี.ลี ยกพลเจ็ดหมื่นนายจากเวอร์จิเนียขึ้นเหนือในพื้นที่รัฐเพนซิลเวเนีย โดยปักหมุดที่เมืองแฮริสเบิร์กอันเป็นชุมทางรถไฟและศูนย์เก็บสัมภาระของฝ่ายแยงกี้ เมื่อถึงปลายเดือนมิถุนายน กองทหารของนายพลลีตีตลบไล่กองทัพรัฐบาลกลางมายังเมืองเกษตรกรรมเล็กๆแห่งหนึ่งชื่อ "เก็ตตี้สเบิร์ก" สถานที่แห่งนี้เองที่กลายเป็นจุดชี้วัดว่าสงครามครั้งนี้ฝ่ายไหนแพ้หรือชนะ ผลคือฝ่ายเหนือเป็นฝ่ายมีชัยในที่สุด
สมรภูมิแห่งเก็ตตี้สเบิร์กกินเวลาทั้งหมด 3 วันเต็มๆ เป็นสามวันที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา ทุกตารางนิ้วในเมืองนั้นเต็มไปด้วยซากศพและชุ่มไปด้วยเลือดแดงฉานไปทุกหย่อมหญ้า ส่งผลให้ทหารเสียชีวิตกว่า 620,000 นาย และพลเรือนเสียชีวิตไม่ทราบจำนวน
นักประวัติศาสตร์ จอห์น ฮัดเดิลสตัน ประเมินยอดผู้เสียชีวิตว่าชายจากรัฐทางเหนือทุกคนที่อายุระหว่าง 20-45 ปี เสียชีวิตไป 10% และชายจากรัฐทางใต้ทุกคนที่อายุระหว่าง 18-40 ปี เสียชีวิตไป 30%
สงครามที่กินเวลายาวนานจบสิ้นลงหลังจากแผ่นดินชุ่มโชกไปด้วยเลือดของอเมริกันทั้งสองฝ่าย น่าเศร้าที่สุดคือคนชาติเดียวกันจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้กันเอง หลังปิดฉากสงครามจึงพยายามฟื้นฟูชาติขึ้นมาใหม่ท่ามกลางกองเถ้ากระดูกอเมริกันนั่นเอง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี