ตำแหน่งคาลิป คือผู้ปกครองที่ถืออำนาจสูงสุดทั้งทางโลก และ ทางศาสนา ของศาสนาอิสลาม เทียบได้กับกษัตริย์ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยยึดกฎหมายสำคัญในการปกครองประเทศก็คือ กฎหมายชาเรีย
ไม่ได้ใช้กฎหมายสากลแบบประเทศทั่วไป
ชาวอินเดียมุสลิมสุดโต่งบางส่วนจึงเกิดความโหยหาอาวรณ์หากโลกมุสลิมจะต้องสูญเสียคาลิปไป เพราะคาลิปก็มีความสำคัญประมาณสันตะปาปาของศาสนาคริสต์ จึงเริ่มขบวนการที่เรียกว่า ขบวนการคิลาฟัต เพื่อระดมเงินไปช่วยในการต่อสู้เพื่อฟื้นฟูตำแหน่งคาลิปขึ้นมาใหม่
ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดของ มาตาฟา เคมาล อะตาเติร์ก และ เสมือนเป็นการล้มล้างอะตาเติร์กด้วย
(ชัวคัต อาลี - ภาพจากวิกิพีเดีย)
นักการเมืองอินเดีย 3 คน คือ ชัวคัต อาลี , เมาลานา โมฮัมหมัด อาลี จัวฮาร์ ฮาคิม อัจมาล ข่าน และ อับดุล คาลาม อาซาด ออกเดินสายตระเวณหาเงินบริจาคเพื่อการนี้ แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด เนื่องจากมีเรื่องคอรัปชั่นเงินบริจาคจำนวนมาก ขบวนการดังกล่าวจึงต้องยุบเลิกไปในปี 1924 หลังจากที่ดำเนินการมาได้ 5 ปี
(เมาลานา โมฮัมหมัด อาลี จัวฮาร์-ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดีย-ภาพจากวิกิพีเดีย )
ปี 1935 รัฐสภาอังกฤษที่ลอนดอนได้ตรากฎหมายที่เรียกว่า กฎหมายรัฐบาลอินเดียปี 1935 (GOVERNMENT OF INDIA ACT 1935) ระบุให้มีการเลือกตั้งตัวแทนประชาชนเข้ามาทำงานในรัฐสภาท้องถิ่น แต่กำหนดให้เลือกตั้งเพียงแค่ 11 จังหวัดนั้น ประกอบด้วย
(การเดินพาเหรดของผู้ต่อสู้ของขบวนการ คิลาฟัตในอินเดีย- ภาพจากวิกิพีเดีย)
มัดราส , จังหวัดกลาง(CENTRAL PROVINCE) , พิหาร , โอดิสสา , อัสสัม (ซึ่งรวมเป็นส่วนหนึ่งของเบงกอล เพรสซิเดนซี่ ที่รวมกอลกัตตาเอาไว้ด้วย) , ยูไนเต็ดโพรวินส์(UNITED PROVINCES) ซึ่งในปัจจุบันก็คือ รัฐอุตตระประเทศ , บอมเบย์ เพรสซิเดนซี่(BOMBAY PRESIDENCY) , จังหวัดพรมแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือ(NORTH-WEST FRONTIER PROVINCE) , ปัญจาบ และ สินด์ (SIND)
ขณะนั้น อินเดียมีพรรคการเมืองใหญ่สุดของประเทศเพียง 2 พรรค คือ พรรคอินเดียน เนชั่นนัล คองเกรส ของฝ่ายฮินดู และ สหพันธ์มุสลิมลีก ที่เป็นคู่แข่งขันกันโดยตรง
ผลการลงคะแนนได้รับการประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 1937 ปรากฎว่า พรรคอินเดียน เนชั่นนัล คองเกรส (ปัจจุบันก็คือ พรรคคองเกรสของตระกูลคานธี) ได้รับเลือกตั้งชนะเด็ดขาดใน 7 จังหวัด อีก 4 จังหวัดที่เหลือแม้ว่าคองเกรสจะไม่ได้เสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นได้ แต่ก็ไม่มีพรรคการเมืองใดที่ครองเสียงข้างมาก ซึ่งทำให้ต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมา
สหพันธ์มุสลิมลีก ได้เสียงเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นในจังหวัดเบงกอล ที่มีเมืองหลวงอยู่ที่กัลกัตตา เพราะมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะในเบงกอลตะวันออก ซึ่งปัจจุบันนี่ก็คือ บังคลาเทศ
ภาพโดยรวมของการเลือกตั้งในปีนั้นก็คือ มุสลิมพ่ายแพ้ฮินดูอย่างขาดลอย
เมื่อเห็นเช่นนี้ จินนาห์ ผู้นำของชาวมุสลิมจึงตัดสินใจว่า จะต้องแยกประเทศออกมาจากอินเดีย เพื่อให้เป็นประเทศปากีสถาน เพราะหากยังเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ชาวมุสลิมจะไม่มีสิทธิ์มีเสียงในสภาไม่ว่าในสภาท้องถิ่น หรือ สภาระดับประเทศเลย
การประชุมของฝ่ายมุสลิมที่เมืองลาฮอร์ได้ออก “ปณิธานแห่งเมืองลาฮอร์ปี 1940” ระบุสาระสำคัญว่า อินเดียจะต้องแบ่งแยก และให้พื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่จำนวนมากที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และ ภาคตะวันออกของประเทศ ออกมาเป็นประเทศอิสระอีกประเทศหนึ่ง
(ลอร์ด วาเวลล์ ผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดีย - ภาพจากวิกิพีเดีย)
รัฐบาลลอนดอน จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง ประกอบด้วยชนชั้นสูงของอังกฤษหลายคน และ ลอร์ด วาเวลล์ ผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดีย กับคู่กรณีทั้งสามฝ่าย เพื่อทำภารกิจประชุมไกล่เกลี่ยให้ยอมรับการอยู่ในประเทศอินเดียประเทศเดียว
แต่ไม่มีใครไว้ใจใคร การประชุมไกล่เกลี่ยจึงล้มเหลว และเป็นผลให้รัฐบาลอังกฤษของคลีเมนต์ แอทลี ทำการเปลี่ยนตัวผู้สำเร็จราชการมาเป็น ลอร์ด เมาท์ แมตเทน แทน
ความรุนแรงที่เลวร้ายสุดๆของประเทศอินเดียราวกับนรกแตกกำลังจะตามมา
ท่านที่สนใจจะร่วมเดินทางเจาะลึกอียิปต์10 วัน 7 คืนกับผม ขณะนี้ทริปสุดท้าย ระหว่างวันที่ 12-21 กุมภาพันธ์ 2568 เหลือที่นั่งไม่มากแล้ว สำรองที่นั่งได้ที่โทร 0885786666 หรือ LINE ID -14092498
รออ่านต่อสัปดาห์หน้าครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี