กองเชียร์พรรคประชาชนต้องอึดอัดมากแน่ๆ ที่พรรคในดวงใจของตนแพ้การเลือกตั้ง อบจ.ทุกสนาม (12 สนาม) จึงมีผู้เสนอ (เช่นคุณสุทธิชัย หยุ่น) ให้มีการ “ดีเบต” ระหว่างคุณทักษิณกับคุณพิธา ในศึกเลือกตั้งนายกอบจ.ที่เชียงใหม่ ด้วยหวังว่า “ความหล่อ เท่ เสน่ห์และวาทะ” ของคุณพิธาจะเรียกคะแนนเสียงได้มากกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา
เพราะการดีเบตจะเปิดโอกาสให้คุณพิธากลับมาอยู่สายตาของประชาชนบนเวทีอีกครั้ง และสื่อต่างๆ ก็จะนำไปเผยแพร่และขยายผลต่อ
แต่ถ้าผมเป็นคุณทักษิณผมจะไม่ดีเบตกับใคร ยิ่งกับคุณพิธาด้วยแล้วผมยิ่งไม่สนเลย
เพราะชื่อ-ชั้นทางการเมืองของคุณทักษิณนั้นถือว่าระดับ “จอมอสูรครองพิภพ” ส่วนคุณพิธานั้นยังละอ่อนนัก
ถ้าคุณทักษิณนำเสนอนโยบายน่าสนใจกว่าคุณพิธาก็แค่เสมอตัว แต่ถ้าด้อยกว่าก็เสียหน้า
การดีเบตกับคุณพิธาจึงเท่ากับลดตัวให้ละอ่อนทางการเมืองขึ้นขี่คอ เป็นการยกระดับคุณพิธาให้สูงส่งกว่าตนโดยไม่ได้อะไรเลย นอกจากขาดทุน
พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณพิธาจะมีความคิด-ความรู้สู้คุณทักษิณไม่ได้ เพราะความรู้ยุคนี้นั้นใครก็หาได้ ทั้งในตำรับตำราและกูเกิ้ล ยิ่งมีตำแหน่งฐานะทางการเมืองก็เรียกผู้รู้มาติวให้ไม่ยาก และต่างก็มีนโยบายของพรรคอยู่แล้ว นำมาปรับแต่งให้เข้ากับท้องถิ่นก็ย่อมได้ หลายนโยบายก็นำมาดีเบตได้เลย
ทั้ง 2 คน ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค ไม่ได้เป็นแม้แต่สมาชิกพรรคและถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปแล้ว แต่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนหา “ตัวขาย”ไม่ได้ แม้กระทั่งหัวหน้าพรรค จึงต้องเอา 2 คนนี้มาเรียกคะแนนเสียง
มันเป็นปรากฏการณ์อันน่าอัศจรรย์ของการเมืองไทยและประเทศไทย!
คุณทักษิณนั้นถือเป็น “คนรุ่นเก่า”เล่นการเมืองแบบเก่า ผ่านการบริหารราชการแผ่นดินมาด้วยตัวเองบ้าง ผ่านร่างทรงบ้าง สร้างผลงาน (เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเป็นส่วนมาก) มาไม่น้อย
ส่วนคุณพิธานั้นได้สถาปนาตัวเองเป็น “คนรุ่นใหม่” ตามนิยามของ “พวกก้าวหน้า-ประชาธิปไตย” สดใหม่กว่าคุณทักษิณ แต่ยังไม่มีประสบการณ์การบริหารราชการแผ่นดิน จึงประกาศเสมอมาว่าพรรคของตน “ทำการเมืองแบบใหม่”(ที่น้ำเน่าไม่แตกต่างจากการเมืองแบบเก่า) จึงไม่ต้องมีประสบการณ์การบริหารราชการแผ่นดินก็ได้?
เมื่อ 2 คนนี้ดีเบตกัน ไม่ว่าจะที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศ ก็แทบไม่ส่งผลอะไรต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชน เพราะประชาชนมีพรรคและคนที่จะเลือกอยู่แล้ว และยังไม่ได้ส่งผลด้านคุณภาพใดๆ แก่การบริหารงานแต่อย่างใด
ไม่ว่าใครหรือคนของพรรคไหนจะได้เป็น “นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น” ประโยชน์ที่ประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ จะได้รับก็แทบไม่แตกต่างกันเพราะนักการเมืองเป็นเจ้าของงบประมาณมหาศาล และยังเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ที่ไหน และการใช้งบประมาณนั้นก็ไม่มีประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้
ประชาชนเลือกตั้งแล้วก็รอรับการพัฒนา มากน้อยแค่ไหน ดีหรือไม่ ก็ไม่มีส่วนร่วมใดๆ
พวกนักการเมืองตรวจสอบกันเองก็มีผลอยู่ 2 อย่าง คือ “แบ่งกัน”กับ “แย่งกัน” จึงเห็นพวกนักการเมืองฆ่ากันตายมายาวนาน ล่าสุดก็ที่ปราจีนบุรี
งบประมาณมหาศาลนั้นจึงตกแก่นักการเมืองมากกว่าประชาชนเสมอ เพราะมันเป็นขุมทรัพย์ที่จะกอบโกยได้ง่าย ถ้าจะกอบโกย
แถมนักการเมืองท้องถิ่นยังเป็น “ฐานที่มั่น” ของพรรคการเมือง ในฤดูกาลเลือกตั้งระดับชาติจึงมีผลประโยชน์ก้อนโตให้ “จัดการ” เรื่องคะแนนเสียง จะเรียกว่าเป็นหัวคะแนนต้นทางก็ย่อมได้
การเลือกตั้งทุกครั้ง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ประชาชนได้ประโยชน์ก็แค่ได้รับการยกยอปอปั้นว่า“เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย - เป็นเจ้าของประเทศ” ได้เงินบ้าง ไม่ได้เงินบ้างเลือกตามที่ผู้ทรงอิทธิพลบงการบ้าง เลือกเพราะเชื่อ เพราะหลงนักการเมืองบ้างโดยไม่ได้สนใจว่านักการเมืองจะเป็นอย่างไร และจะส่งผลต่อท้องถิ่นของตนและประเทศชาติอย่างไร
การดีเบตจึงแค่การประกวดการโอ้อวดตนของนักการเมืองเท่านั้น ไม่ได้สร้างคุณภาพของนักการเมืองแต่อย่างใด
วิมล ไทรนิ่มนวล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี