ในระหว่างการเกิดจลาจลของ “วันปฎิบัติการตรง” วันที่ 16 สิงหาคม 1946 ชาวกัลกัตตาจำนวนนับพันพยายามหนีออกจากเมืองโดยทางรถไฟ แต่จำนวนไม่น้อยที่หนีไม่สำเร็จ ถูกทำร้ายจนตาย
ข่าวการจลาจล และ การสังหารโหดชาวฮินดูโดยชาวมุสลิมในกัลกัตตา แพร่ออกไปอย่างไม่เร็วนัก เพราะการสื่อสารในสมัยนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพ แต่ในไม่ช้า ข่าวก็มาถึงเมืองนัวคาลี(NOAKHALI) ในจังหวัดจิตตะกอง(CHITTAGONG) (ปัจจุบันอยู่ใน บังคลาเทศ) ซึ่งในวันนั้นเป็นส่วงหนึ่งของรัฐเบงกอล
(เมืองจิตตะกอง ซึ่งในปี 1946 ยังเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบังคลาเทศ-ภาพจาก GOOGLE MAP)
อาจเรียกได้ว่า การจลาจลที่ นัวคาลี เป็นภาคสองของ วันปฎิบัติการตรง แต่หนักหนาสาหัสมากกว่า เพราะในพื้นที่นี้มีประชากรมุสลิมมากกว่าประชากรฮินดู
สาเหตุอีกส่วนหนึ่งมาจากข่าวลือที่แพร่กันไปอย่างไร้ความจริงว่า ชาวมุสลิมจำนวนมากถูกชาวฮินดูสังหารในเมืองกัลกัตตา จึงมีความพยายามจากชาวมุสลิมในเมืองจิตตะกองที่ต้องการจะฆ่าล้างแค้นชาวฮินดูให้แก่พวกของตัวเอง
นอกจากนี้ ยังมีข่าวลือแพร่สะพัดที่เสมือนราดไฟเข้าไปในกองเพลิงว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีบูชายัญต่อเทพเจ้าของชาวฮินดูที่ปกติจะใช้แพะเป็นเครื่องบูชายัญมาเป็นใช้เด็กชายมุสลิมแทน
การสังหารโหดชาวฮินดูในนัวคาลี เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม ซึ่งตรงกับเทศกาลเฉลิมฉลองโคจาการี ลักษมี ปูจา ของชาวฮินดู การสังหารโหดดำเนินต่อเนื่องนานราว 1 สัปดาห์
มีชาวฮินดูประมาณ 50,000 คนที่ตกอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวเหมือนโดนปล่อยเกาะ ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะอยู่ภายใต้การจับตาใกล้ชิดของชาวมุสลิม ในบางหมู่บ้าน ชาวฮินดูจะต้องขออนุญาตจากผู้นำมุสลิมเสียก่อนหากต้องการจะเดินทางออกจากหมู่บ้าน
ความรุนแรงของกลุ่มชนที่พลุ่งพล่านด้วยความโกรธ ถูกระบุว่าเป็นม็อบจัดตั้ง พวกนี้มีเจตนาที่จะทำร้ายชาวฮินดู ลบหลู่ และ เหยียดหยามศาสนาฮินดู หรือ อื่นใดที่เกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดูเป็นหลัก
นอกจากการเผายุ้งฉาง อาคารบ้านเรือนของชาวฮินดูแล้ว ยังมีการเผาทำลายวิหารของฮินดูอีกด้วย และยังมีการโยนเนื้อวัวเข้าไปในวิหารเพื่อแสดงการลบหลู่ศาสนาฮินดู เพราะวัวเป็นพาหนะของพระศิวะ และเป็นที่เคารพของชาวฮินดู
(ผู้หญิงชาวเบงกอล ที่สวมกำไลข้อมือสีขาวทำจากหอยสังข์ และ ป้ายสีแดงเหนือหน้าผากขึ้นไป - ภาพจาก PICXY)
ผู้หญิงจำนวนมากถูกดึงเอากำไลข้อมือสีขาวที่ทำจากหอยสังข์ของคู่กายของพระวิษณุ ที่ผู้หญิงชาวเบงกอลทุกคนถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และ ยังลบหลู่ด้วยการลบสี “สินดูร์” สีแดงที่ขีดจากขอบผมตรงหน้าผากขึ้นไปตรงกลางศรีษะ อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว
บางคนถูกบังคับให้ท่องบทสวดของมุสลิมที่เรียกว่าคัลมาห์ (THE SIX QALMAH) และคนจำนวนมากถูกบังคับให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งการจลาจลที่นัวคาลี ถือเป็นครั้งที่มีชาวฮินดูเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในครั้งเดียว ประมาณว่า 95 เปอร์เซนต์ของประชากรของนัวคาลี ถูกบังคับให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม
ผู้หญิงที่โชคร้ายกว่านั้นจำนวนมากถูกข่มขืน และ ฆ่า
(คานธี เดินทางไปตามหมู่บ้านของนัวคาลี เพื่อพูดคุยกับผู้สูญเสีย-ภาพจากวิกิพีเดีย)
คานธี เดินทางเข้าไปที่นัวคาลีในวันที่ 7 พฤศจิกายน 1946 เพื่อเรียกร้องให้หยุดการประหัตประหารกัน เขาใช้เวลาอยู่ที่นั่นนาน 4 เดือนเดินทางไปยังหมู่บ้านต่างๆกว่า 250 หมู่บ้าน เพื่อพบปะกับชาวฮินดู ชาวมุสลิม และ ผู้นับถือศาสนาอื่นๆเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง
คานธี ซึ่งขณะนั้นอายุ 76 ปีแล้ว และ กำลังป่วยได้ประกาศว่า จะอดอาหารจนตาย หรือ จนกว่าประชาชนชาวนัวคาลีจะหยุดการประหัตประหารกัน
ในที่สุด การประหัตประหารกันในนัวคาลีก็สงบลง แต่ก็ยังมีการประหัตประหารกันในที่อื่นๆ เช่น รัฐพิหาร เป็นต้น
ถึงจุดนี้ ผู้นำของพรรคคองเกรส เริ่มยอมรับแล้วว่า การแยกประเทศเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี