ทันทีที่เข็มยาวของนาฬิกาเคลื่อนผ่านเลข 12 ของคืนวันที่ 14 สิงหาคม 1947 อินเดียก็กลายเป็นประเทศอิสระเกิดใหม่บนโลกใบนี้ สดใสเหมือนทารกแรกเกิดลืมตาดูโลก อย่างไรอย่างนั้น
เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองของชาวภารตะแทบจะทั้งประเทศ ทุกคนวาดหวังกับอนาคตด้วยมุมมองโลกสวยว่า ชีวิตของตนเองจะดีขึ้นกว่าเดิม บางคนคิดไปไกลถึงกับว่า อิสรภาพจะทำให้พวกเขาพ้นจากความยากจน
แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า หนทางข้างหน้าไม่ง่ายดาย และ ไม่สดใสอย่างที่คิด
หลังจากเฉือนแผ่นดินทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และ ภาคตะวันออกบางส่วนไปให้แก่ปากีสถานแล้ว อินเดียก็หันกลับมาจัดการกับปัญหาภายในประเทศอย่างจริงจัง
ในวันที่อินเดียประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ อินเดียมีรัฐอิสระที่เรียกว่า รัฐเจ้าชาย (PRINCELY STATE หรือ NATIVE STATE) อยู่ถึง 565 รัฐ เป็นรัฐของชนหลายชาติพันธุ์ และหลายชนเผ่า มีทั้งรัฐใหญ่และรัฐเล็ก รัฐเหล่านี้จะต้องตัดสินใจว่า จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย หรือ ปากีสถาน หรือ จะเป็นรัฐอิสระตามที่อังกฤษได้วางกรอบเอาไว้ให้
ในจำนวน 565 รัฐ เกือบทั้งหมดตัดสินใจเข้าร่วมกับอินเดียด้วยมุมมองของผลประโยชน์ของตนเอง จะมีเพียงรัฐเล็กๆไม่กี่รัฐ และ รัฐใหญ่อีก 2 รัฐที่ยังไม่ยอมแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะเข้าร่วมกับอินเดีย
(แคชเมียร์(สีเขียวเข้ม) อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ในขณะที่ ไฮเดอร์ราบาด(สีเทา) อยู่ตรงกลางประเทศอินเดีย-ภาพจากกูเกิล แมพ)
สองรัฐใหญ่ที่ยังไม่ยอมตัดสินใจว่าจะเข้าไปอยู่กับใครก็คือ รัฐจามมู และ แคชเมียร(JAMMU AND KASHMIR) กับรัฐไฮเดอร์ราบาด(HYDERABAD)
(นิซาม องค์สุดท้ายของไฮเดอร์ราบาด-ภาพจากวิกิพีเดีย)
ตำแหน่งผู้ปกครองของจามมู และ แคชเมียร เรียกว่า มหาราชา(MAHARAJA) เพราะเป็นชาวฮินดู แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐนี้เป็นชาวมุสลิม
ในขณะที่ตำแหน่งผู้ปกครองของรัฐไฮเดอร์ราบาด เรียกว่า นิซาม(NIZAM) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จักรพรรดิโมกุลแต่งตั้งให้ปกครองต่างพระเนตรพระกรรณเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว และสืบทอดกันเรื่อยมา นิซามนับถือศาสนาอิสลาม แต่ประชากรส่วนใหญ่ของรัฐนับถือศาสนาฮินดู
เป็นความขัดแย้งลึกๆที่รอวันระเบิด
ผมขอพูดถึงรัฐเจ้าชายแห่งไฮเดอร์ราบาดก่อน
นิซามแห่งไฮเดอร์ราบาดได้แสดงเจตจำนงชัดเจนตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน ก่อนหน้าที่อินเดียจะได้รับอิสรภาพ 2 เดือนว่า จะไม่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งไม่ว่ากับอินเดีย หรือ กับปากีสถาน ทั้งๆที่สถานที่ตั้งของรัฐไฮเดอร์ราบาดนั้นอยู่ใจกลางของประเทศอินเดียเลยทีเดียว
ความหมายก็คือ ไฮเดอร์ราบาดต้องการเป็นประเทศอิสระ
สาเหตุที่นิซาม แห่งไฮเดอร์ราบาด ตัดสินใจที่จะเป็นอิสระ ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นรัฐอิสระ หรือ เป็นประเทศอิสระเกิดใหม่ ก็เพราะไฮเดอร์ราบาดเป็นรัฐที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างมากในเวลานั้น
ความมั่งคั่งของรัฐไฮเดอร์ราบาดมาจากเหมืองเพชรที่มีขนาดใหญ่ และ และมีทรัพยากรเพชรใต้ดินจำนวนมากที่สุดในโลกของยุคนั้น ประมาณกันว่า ในปี 1901 ซึ่งอินเดียยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ รัฐไฮเดอร์ราบาดมีรายได้ปีละ 417 ล้านรูปี
นิซาม คนสุดท้ายในวันที่อินเดียได้รับอิสรภาพก็คือ เมียร์ ออสมาน อาลี ข่าน (MIR OSMAN ALI KHAN) ผู้ได้รับการขนานนามว่า เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก
(เพชรจาคอบ ที่นิซามนำมาทำเป็นที่ทับกระดาษ-ภาพจากวิกิพีเดีย)
เพชรที่อยู่ในครอบครองของ ออสมาน อาลี ข่าน มีมากมายจนนับไม่ถ้วน มากถึงขนาดที่เขาต้องเอาเพชรขนาดใหญ่หนัก 185 การัต ที่เรียกว่า เพชรจาคอบ มาทำเป็นหินทับกระดาษในห้องทำงานของตัวเอง
นิซาม ออสมาน ยังเคยถวายชุดเครื่องเพชร อันประกอบด้วย มงกุฎเพชร และ สร้อยเพชร แด่สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ ที่ 2 แห่งอังกฤษเนื่องในวโรกาสวันสมรสของพระองค์ก่อนที่จะขึ้นครองราช ซึ่งพระองค์ก็ทรงสวมใส่มาโดยตลอด
(เครื่องเพชรที่มีชื่อว่า สร้อยพระศอนิซามแห่งไฮเดอร์ราบาด-ภาพจากวิกิพีเดีย)
ร่ำรวยล้นฟ้าขนาดนี้ ไฮเดอร์ราบาด จึงต้องการที่จะดำรงสถานะของตัวเองเป็นรัฐอิสระต่อไป
แต่ด้วยทำเลที่ตั้งของรัฐที่อยู่ใจกลางประเทศอินเดีย รัฐบาลอินเดียจะว่าอย่างไร
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี