บางทีคนใกล้แพ้อาจจะมีอาการเหมือนบั้นปลายของคนป่วยที่โดนพิษอะไรสักอย่าง เพ้อเจ้อเลอะเลือน
คล้ายอาการที่แสดงออกล่าสุดมาจากการที่ ศูนย์ต่อต้านการบิดเบือนข้อมูล (Centre for Countering Disinformation) ของยูเครน สั่งแบน “Sigma Boy” เพลงป๊อปที่เป็นไวรัลไปทั่วโลก โดยกล่าวหาว่า เป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามข้อมูลข่าวสาร” ซึ่งพุ่งเป้าไปที่การโปรโมทภาพลักษณ์ของรัสเซียในหมู่คนรุ่นเยาว์ แปลไทยเป็นไทยดิบๆ ก็คือ เพลงนี้จะล้างสมองเยาวชนนั่นเอง
ศูนย์ต่อต้านการบิดเบือนของยูเครน ซึ่งปฏิบัติการภายใต้สภาความมั่นคงและป้องกันตนเองแห่งชาติ อ้างว่ารัสเซีย อาจเป็นผู้จัดการให้เกิดความนิยมของเพลง ลากโยงไปเปรียบเทียบกับข้อน่าสงสัยว่า รัสเซียแทรกแซงในการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 ไปโน่น และกล่าวหาว่าเพลง “Sigma Boy” กำลังเซาะกร่อนความตระหนักรู้ในข้อมูลที่เป็นอันตรายจากรัสเซีย และทำให้การแผ่อิทธิพลทางวัฒนธรรมของรัสเซียกลายเป็นเรื่องปกติ
แถมยังบอกว่า ความสำเร็จของ “Sigma Boy” บนโซเชียลมีเดียสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกของรัสเซียในหมู่คนรุ่นเยาว์ ไม่ใช่แท็กติกใหม่ - ในทศวรรษ 2000 บทบาทนี้ถูกนำเสนอโดยวงป๊อปรัสเซียน คือ ตาตู และกลูโคซ่า เป็นการใช้ดนตรีสร้างภาพลักษณ์ที่ดึงดูดใจของรัสเซีย
ก่อนหน้านี้ เนล่า ริลล์ สมาชิกรัฐสภายุโรปชาวเยอรมันแห่งพรรค โวลท์ ก็เสนอข้อคิดเห็นการแบนเพลง “Sigma Boy” ในสหภาพยุโรป ด้วยเช่นกันในข้อหาว่ามีทัศนะ “โปรรัสเซีย”
แต่ที่มาจริงๆของเพลง “Sigma Boy” คือผลงานของเด็กหญิงก่อนวัยรุ่น 2 คน - เบ็ทซี่(สเวทลาน่า เชอร์ติชเชฟ) อายุ 11 ขวบและ มาเรีย ยานค็อฟสกาย่า อายุ 12 ปีทั้งคู่เป็นบล็อกเกอร์ดังทางโซเชียลมีเดีย
เบ็ทซี่ ร้องเพลงและอัปโหลดขึ้นโซเชียล มีเดีย มาหลายปี อย่าง “Simple Dimple Pop It Squish” ก็ได้รับความนิยมในแถบเอเชีย ส่วน มาเรีย เป็นบล็อกเกอร์และพิธีกรรายการทางช่องทีวีสำหรับเด็ก พวกเธอปล่อยเพลง “Sigma Boy” เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2024 ผ่านสังกัด ไร้ท์ มิวสิค
ปรากฏว่า “Sigma Boy” กลายเป็นไวรัลทางติ๊กต็อก และขึ้นตารางอันดับเพลงยอดนิยมทาง สปอติฟาย, ยูทูบ, ชาแซม, แอปเปิ้ล มิวสิก และยิ่งกว่านั้น เพลงขึ้นไปติดท็อป 10 บนชาร์ต “ฮอต แดนซ์/อิเล็กทรอนิกส์ ซองส์”ของ บิลล์บอร์ด ในอเมริกา ขึ้นสูงสุดที่อันดับ 7 มีผู้ชมนับล้านๆ
เพลง “Sigma Boy” แต่งโดย มิคาอิล เชอร์ติชเชฟพ่อของ เบ็ทซี่ ร่วมกับนักร้องเพลงร็อก มุคค่า เจ้าของเพลงดังในรัสเซีย - “Girl with a Bob Haircut”เชอร์ติชเชฟ เล่าว่า เพลงมันมาเองโดยไม่มีความหมายอะไรในตอนแต่ง และปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่า ไม่ได้เจตนาทางการเมือง หรือซ่อนเร้นข้อความทางการเมืองใดๆไว้ในเพลง เป็นแค่เพลงง่ายๆ บอกเล่าเรื่องเบาๆเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเด็กชายและเด็กหญิง
เบ็ทซี่ เล่าที่มาความหมายของเพลงว่า “ไอเดียคือ มาเรีย กับฉันเป็นคนเท่ ซิกม่า บอย พยายามจะเอาชนะเราและเราก็พยายามจะเอาชนะเขาเช่นกัน ซิกม่า บอย เป็นเด็กผู้ชายที่เชื่อมั่นในตัวเองผู้ไม่ต้องการใคร ในเวลาเดียวกัน เด็กผู้หญิงล้วนตกหลุมรักเขา”
“Sigma Boy” ใช้คำง่ายๆ และจังหวะง่ายๆเพื่อให้ติดหูแบบเพลงป๊อป-บั๊บเบิ้ลกัมทั่วไป เมื่อดูที่เนื้อเพลงก็จะพบว่าหน่อมแน้มมาก ท่อนสร้อยร้องว่า...
“Sigma, sigma boy, sigma boy, sigma boy
Every girl wants to dance with you
Sigma, sigma boy, sigma boy, sigma boy
I’m so special, it will take you a year to win me”
คอมเมนท์ทางโซเชียลมีเดียบางส่วนยังบอกว่า“น่ารำคาญ” ด้วยซ้ำ ไม่รู้เป็นเพราะวรรคสุดท้ายที่ร้องว่า “I’m so special, it will take you a year to win me”ถูกตีความไปเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน+นาโตหรือเปล่า
“ตะวันตกไม่สามารถระงับสติอารมณ์ในการปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นรัสเซียน ตอนนี้นักการเมืองยุโรปกำลังกลัวเด็กรัสเซียน” ลีโอนิด สลัทสกี้ ประธานกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสภาดูมาแห่งรัสเซีย กล่าวประชดประชัน
ขณะที่มีอีกหลายคนชี้ว่า การแบนหรือต่อต้านเพลง “Sigma Boy” จะยิ่งเติมเชื้อแห่งความนิยมมากขึ้น มีคนคอมเมนท์ทางโซเชียลมีเดียข้อความหนึ่งบอกว่า “การแบนเพลงฮิตทาง บิลล์บอร์ด รังแต่จะทำให้มันดึงดูความสนใจอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น นี่เป็นวิชา สไตรแซนด์ เอฟเฟกท์ 101”
“สไตรแซนด์ เอฟเฟกท์” เป็นคำที่เขียนโดย ไมค์ แมสนิค บรรณาธิการและซีอีโอแห่งเว็บล็อกชื่อ เท็คเดิร์ท จากเหตุการณ์ที่ยอดดารา บาร์บรา สไตรแซนด์ ฟ้องช่างภาพ เคนเน็ธ เอเดลแมน และ พิคโทเปีย.คอม ว่าละเมิดความเป็นส่วนตัว เมื่อพบภาพถ่ายทางอากาศคฤหาสน์ที่บนหน้าผาริมหาดมาลิบูของเธอ
คำฟ้องขอให้ลบภาพหมายเลข Image 3850 ซึ่งอยู่รวมกับภาพอื่นๆ ที่ถ่ายตลอดริมฝั่งแคลิฟอร์เนียราวๆ 12,000 ภาพ ในสารคดีชุดหนึ่ง คำฟ้องเรียกเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ศาลยกฟ้อง แถมยังสั่งให้ สไตรแซนด์ ต้องจ่ายชดใช้ค่าทนายให้ เอเดลแมน อีก 177,000 เหรียญ
ภาพ Image 3850 ถูกดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ พิคโทเปีย.คอม ไปเพียง 6 ครั้งก่อนที่ สไตรแซนด์ จะยื่นฟ้อง และ 2 ครั้งในจำนวนนั้นเป็นการดาวน์โหลดของทนายของเธอ คือไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไหร่ แต่พอเป็นข่าวคดีความ ทำให้มีคนเข้าไปดูในเว็บไซต์มากกว่า 420,000 คนในเดือนต่อมา
หลังจากนั้นสองเดือน แมสนิค จึงเรียกผลกระทบนี้ว่า “สไตรแซนด์ เอฟเฟกท์” ซึ่งตอนหลังก็มีคนนำมาใช้เมื่อเกิดกรณีความพยายามปิดกั้นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่มีความหมายอะไรนัก หรือไม่ค่อยมีใครสนใจ กลับทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา
เช่นเดียวกับกรณีแบนเพลง “Sigma Boy” ที่ทำให้ฝ่ายตะวันตกออกอาการถึงขนาดนี้ และยิ่งทำให้เพลงดังมากขึ้นอีก จนไม่รู้ว่าระหว่างเพลง “Sigma Boy” และศูนย์ต่อต้านการบิดเบือน และสหภาพยุโรป ใครหน่อมแน้มกว่ากัน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี