ผมนึกย้อนไปถึงกรุงเทพฯ เมื่อ 30 ปี
ขึ้นไป ปัญหาฝุ่นยังไม่ได้รับการพูดถึงอาจจะเป็นเพราะว่ามันไม่ได้รุนแรงอย่างในปัจจุบันนี้
สมัยนั้นในกรุงเทพฯรถน้อย บ้านเรือนและตึกสูงที่จะกักกั้นฝุ่นควันยังไม่มาก โรงงานอุตสาหกรรมก็น้อย ที่เหลือก็เป็นเรื่องเผาฟางในนาข้าว เผาไร่ข้าวโพดหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว รวมทั้งเผาหญ้าเพื่อไม่ให้รก
ในป่าในภูเขาก็เผาเพื่อปลูกพืชหมุนเวียน เผาไล่สัตว์จะได้ล่าง่าย และป่าหน้าแล้งจะเกิดไฟขึ้นเอง ที่เรียกกันว่าไฟป่า ทั้งหมดเกิดในช่วงฤดูแล้ง เพราะผืนดินแห้ง ต้นไม้น้อยใหญ่ต่างสลัดใบกลายเป็นเชื้อไฟอย่างดี ต้นหญ้าก็แห้งจึงเผาง่าย
สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่น
สภาพการณ์ยุคนั้นก็เป็นอย่างเดียวกับในปัจจุบันนี้ แต่ทุกอย่างมีมากขึ้น ตั้งแต่รถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ไร่นาป่าเขา ซึ่งขยายจำนวนและพื้นที่มากกว่าในอดีต ฝุ่นควันจึงมากตาม
ผู้ที่มีความรับผิดชอบก็เสนอวิธีแก้ปัญหากันมากมาย แต่ยังไม่มีใครทำจริงและขาดอุปกรณ์
“ฝนหลวง” ที่พอช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง ก็โดนตัดงบประมาณ โดยพรรคที่เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์
ซ้ำยังมีปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดฝุ่นควันอย่างมหาศาล แต่ไม่เคยมีใครพูดถึง!
นั่นคือ “ฝุ่นควันที่เกิดจากพื้นดินแห้งทั่วประเทศ” ตั้งแต่พื้นดินในภาคเกษตรกรรม เช่น เรือกสวนไร่นา ภูเขาและป่า
ป่าในฤดูแล้งนั้นผลิตฝุ่นได้ไม่น้อยแม้จะมีต้นไม้ เหตุก็เพราะดินแห้งและมีลมเช่นกัน
“ถนน” ก็เป็นพื้นที่ผลิตฝุ่นปริมาณมหาศาล เพราะประเทศไทยมีถนนตั้งแต่ถนนเล็ก ตรอก ซอก ซอย ยิ่งเป็นถนนลูกรังก็ยิ่งมีฝุ่นมาก
แม้แต่ถนนสายหลักของประเทศ ที่ขึ้นเหนือล่องใต้ ไปตะวันออก ไปตะวันตก ถนนสายรองต่างๆ ซึ่งมีไหล่ถนนทั้งนั้น และไหล่ถนนนั้นล้วนเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น โดยมีรถยนต์ทุกชนิดและลมในฤดูแล้งช่วยโหมกระพือ
เมื่อรวมถนนหลัก ถนนรอง ถนนซอย ตรอกทั่วประเทศ รวมแล้วกินพื้นที่เท่าไหร่? มันผลิตฝุ่นได้มหาศาลยิ่งกว่าการเผาด้วยซ้ำ!
แม้แต่บริเวณบ้านก็เป็นแหล่งผลิตฝุ่น
ในเวลา 1 ปี ประเทศไทยมีแค่ฤดูฝนประมาณ 3 เดือน ที่เหลืออีก 9 เดือนเป็นฤดูแล้ง คือแล้งหนาวหรือหน้าหนาว กับแล้งร้อน หรือ
หน้าร้อน ในฤดูฝนก็มีฝุ่นเช่นกัน เพราะฝนไม่ได้ตกทุกวัน และไม่ได้ตกทั่วพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทย วันไหนฝนไม่ตกก็มีฝุ่น!
9 เดือน จึงมีแต่ฝุ่นและจะมีมากขึ้น เพราะพื้นที่ป่าน้อยลงทุกวัน แต่เผามากขึ้นทุกวัน ตัดถนนมากขึ้นทุกวัน รถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมก็มากขึ้นทุกวัน แต่ประเทศไทยมีพื้นที่เท่าเดิม ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศทั่วโลกก็เป็นอย่างเดียวกับเรา แล้วฝุ่นจะไปไหน?
มันก็ห้อมล้อมตัวเรา เมืองของเรา ประเทศของเรา โลกของเรา และลอยฟ่องอยู่ในท้องฟ้าสูงลิบจนจดพื้นดิน แม้เมื่อตกลงสู่พื้นดินก็ถูกลมพัดขึ้นไปใหม่ ท้องฟ้าจึงเป็นแหล่งเก็บรวบรวมฝุ่นที่มีมากขึ้นทุกปี จึงมีปริมาณมากกว่าฝน! และฝนก็พาลงสู่พื้นดินไม่หมด
ประการที่น่ากลัวก็คือสิ่งที่แฝงมากับฝุ่นก็คือ “สารเคมี” ทั้งในรถยนต์สารพัดประเภท โรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่การเกษตร
พื้นที่การเกษตรนั้นส่วนมากเป็นสาร DDT !
ประเทศอื่นๆ ก็มีสภาพเหมือนประเทศไทย และฝุ่นควันและสารเคมีนั้นก็ไม่มีพรมแดน
ผมเชื่อว่าเราสามารถบรรเทาฝุ่นควันได้ แต่ต้องมีงบประมาณมหาศาล และต้องไม่มีการเมืองคอยตัดหรือแย่งชิงงบประมาณอย่างที่ทำกันอยู่ และโกงกินให้น้อยลง (เพราะห้ามไม่ได้แน่)
สิ่งที่ช่วยบรรเทาได้อันดับแรกคือน้ำ ทำให้พื้นดินชุ่มชื้น ปลูกพืชคลุมดิน ใช้สารเคมีที่ปลอดภัยพ่นในอากาศเช่นเดียวกับพ่นน้ำ
ถ้าแก้และป้องกันปัญหาไม่ได้ ผมก็ขอให้เราได้สนุกสนานกับการผจญภัยกับฝุ่นควันแถมด้วยสารเคมีแล้วกัน!
วิมล ไทรนิ่มนวล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี