ชาวบ้านอย่างเราๆ ตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องปวดหัว แต่รู้ไว้คร่าวๆ ก็น่าจะดีกว่าไม่รู้อะไรเลย มาดูการคาดการณ์ในปีพ.ศ. 2568 ของหน่วยงานต่างๆสักสองสามแห่ง แต่ไม่เอาฉบับเต็ม เพราะจะยาวและตัวเลขยุ่งเกินไป ตัดทอนมาสั้นๆ เปรียบเทียบกัน
เริ่มด้วยกระทรวงการคลัง คาดว่า “ในปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 ถึง 3.5) จากปัจจัยบวก 4 ด้านหลัก คือ การบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.9 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.4 ถึง 3.4)”
“ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.6 ถึง 3.6) จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ในปี 2568 คาดว่าจะมีจำนวน 39.0 ล้านคน ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ รวมถึงมีแรงสนับสนุนสำคัญจากงบประมาณปี 2568 ที่พร้อมเร่งเบิกจ่าย ส่งผลให้คาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี”
“ในปี 2568 การลงทุนจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยได้รับแรงหนุนจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี ขยายตัวเร่งตัวขึ้นจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการของบีโอไอ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 2.การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนและการเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางต่างๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพการแข่งขันและกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องในภาคเอกชน”
“ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 ถึง 1.5) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวดี ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 10.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.7 ของ GDP”
ดูสวยงามดี แต่ช้าก่อน มาดูการคาดการณ์ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่บอกว่า
“เศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่า จะเติบโตช้าลงกว่าปี 2567 เล็กน้อย ตามแรงหนุนท่องเที่ยว ส่งออกที่ลดลง ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน และภาคการผลิตไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว
แรงส่งจากท่องเที่ยวต่อ GDP เริ่มลดลงหลังจำนวนเข้าใกล้ระดับก่อนโควิด โมเมนตัมการเติบโตของการท่องเที่ยวปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2567 ที่คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวรวมไว้ที่ 35.6 ล้านคน มาอยู่ที่ 37.5 ล้านคนในปี 2568 เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การแข่งขันระหว่างประเทศในการดึงนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการเดินทาง
“การบริโภคภาคเอกชนซึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2565-2567 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากกำลังซื้อที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทิศทางสินเชื่อที่โตช้าลงในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการแจกเงิน 10,000 บาทในเฟสถัดๆ ไปในวงเงินงบประมาณอีกราว 1.8 แสนล้านบาท คาดว่าจะส่งผลบวกต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนราว 0.2-0.3% ของ GDP”
การใช้จ่ายภาครัฐในปี 2568 ได้แรงหนุนจากฐานที่ต่ำและการเบิกจ่ายต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2568 โดยกรอบงบลงทุนภาครัฐในปี 2568 เพิ่มขึ้น 7.8% และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นราว 2.0% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่คาดว่าอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสำหรับปีงบประมาณ 2568 จะอยู่ที่75-80% สูงกว่า 65% ในปี 2567
การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการหดตัวที่เกิดขึ้นในปี 2567 สอดคล้องกับมูลค่าโครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนเม็ดเงินลงทุนในวัสดุอุปกรณ์ (Equipment)ให้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทยส่วนหนึ่งเกิดจากการย้ายการผลิตของจีนหลังจากการเกิดสงครามการค้ารอบแรกโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงมาตรการภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลต่อการไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในศูนย์ข้อมูล (Data Center) เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของ Data Center ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม การไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะในการลงทุนการผลิตรถยนต์ EV ในไทย จากภาวะตลาดโลกที่เผชิญภาวะอุปสงค์ลดลง ท่ามกลางอุปทานสูง ส่งผลต่อการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้การเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ EV ในไทยล่าช้าออกไป
“นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มภาษีนำเข้ากับไทย ในรายการที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้ากับไทยสูงหรือในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานของจีนก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนจริงของนักลงทุนต่างชาติ”
ทีนี้มาดูอีกสักเจ้าหนึ่ง ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ซึ่งประเมินว่า
สำหรับในปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องที่ 2.9% ส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเป็นปกติ
“มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยเผชิญความเปราะบางมากขึ้นทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดย 1.ภาคครัวเรือน : กลุ่มคนรายได้น้อยขาดกันชนทางการเงินที่เพียงพอในระยะข้างหน้า เช่น เงินสำรองฉุกเฉินและประกันความเสี่ยงรูปแบบต่างๆ, 2.ภาคธุรกิจ : แม้โดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่บางกลุ่มยังเปราะบางค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีหนี้สูงมากขึ้น ท่ามกลางปัญหาโครงสร้างของภาคการผลิตไทย SCB EIC ประเมินว่า แม้จะมีมาตรการการเงินเน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางภาคครัวเรือนและธุรกิจมากขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลากว่ามาตรการจะเห็นผลในวงกว้าง”
อ่านแล้วระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชน เหมือนอยู่คนละประเทศกัน จะเชื่อถือใครก็สุดแล้วแต่วิจารณญาณ แต่สำหรับผม ผู้เป็นนักเดินเล่นตามตลาดสดและตลาดแห้ง ถ้ารัฐบาลโดยการนำของพรรคเพื่อไทยที่ได้พิสูจน์ทราบชัดเจนแล้ว ทั้งฝีมือและสติปัญญา อยู่นานกว่านี้อีกสักปี ประเทศไทยจะต้องยืนอยู่บนริมขอบเหวของความหายนะแน่นอน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี