วันก่อนได้ดูการประชุมโต๊ะกลมที่ร่วมกันจัดโดยสื่อหลัก 3 แห่ง คือ กรุงเทพธุรกิจ, ฐานเศรษฐกิจ และ โพสต์ทูเดย์ ตั้งชื่อหัวข้อการประชุมว่า “The Great Trade War : กลยุทธ์ไทยสู้ศึกสงครามการค้าโลก” มีคนสำคัญๆ จากภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็น
ความเคลื่อนไหวนี้ก็เป็นการแสดงความห่วงกังวล เนื่องมาจากการประกาศขึ้นภาษีสินค้าขาเข้าสหรัฐอเมริกาตามนโยบายของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อต้นเดือนเมษายน 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งจะยกระดับการตั้งกำแพงขึ้นนำเข้าจากประเทศต่างๆ ที่ได้เปรียบดุลการค้าอเมริกา และประเทศไทยในฐานะที่อยู่ลำดับต้นๆ ของประเทศได้เปรียบดุลการค้าเหล่านั้น ก็เจอการ
เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยเป็น 36%
จริงๆ แล้ว อเมริกาก็มีส่วนที่ได้ดุลการค้ากับประเทศอื่นๆทั้งเรื่องลิขสิทธิ์, การขายสิทธิบัตร ฯลฯ แต่เพราะอเมริกาเป็นประเทศบริโภคนิยมขั้นสูง หรือทำเองน้อยกว่าซื้อ สินค้าที่ติดตราอเมริกันมากมายก็ผลิตขึ้นในต่างประเทศ และส่งกลับเข้ามาขาย ภาษาบ้านๆเรียกว่า “ได้ไม่เท่าเสีย”
จะบอกว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา อเมริกาพ่ายแพ้ต่อตลาดซื้อขายระหว่างชาติก็คงไม่ผิดความจริงนัก แต่แทนที่จะเจรจากับประเทศคู่ค้าเป็นกรณีไป ทรัมป์ กลับใช้วิธีทุบโต๊ะ ประมาณว่า “กูใหญ่ กูจะเอาอย่างนี้”
แต่ไปๆ มาๆ นโยบายของ ทรัมป์ กลับจะทำให้คนอเมริกันเองได้รับผลกระทบหนักที่สุด เริ่มมีการกักตุนสินค้า และการประท้วงเกิดขึ้นหลายแห่งในประเทศ บอกสัจธรรมอย่างหนึ่งว่า มนุษย์เราไม่มีอะไรสำคัญกว่าปากท้องอีกแล้ว
ตอนเริ่มประกาศนโยบายภาษี โดนัลด์ ทรัมป์ พูดจาดูถูกเหยียดหยันและข่มขู่ประเทศต่างๆ อย่างไม่ไว้หน้า สร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งโลก หุ้นตกรูดทุกแห่ง โดยเฉพาะในอเมริกานั้นหนักหน่วงมาก แม้แต่กิจการในเครือข่ายของ ทรัมป์ เองก็สูญเสียเงินไปร่วม 500 ล้านเหรียญ แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ประกาศยืดเวลามาตรการขึ้นภาษีขาเข้าออกไป
90 วัน
แม้จะมีนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า นี่คือกลยุทธ์เพื่อการต่อรองกับประเทศต่างๆ ของ ทรัมป์ แต่ก็ดูเหมือนว่าความกังวลยังคงมีอยู่ ใครจะมั่นใจกับความคิดและอารมณ์อันแปรปรวนของ ทรัมป์ นั่นจึงเป็นเรื่องดีที่ไทยเรามีการระดมสมองมาช่วยกันหาวิธีแก้ปัญหา เตรียมตัวเอาไว้ไม่เสียหลาย เผื่ออนาคตที่ไม่แน่นอน
จะแข็งขืนยืนซดหมัดต่อหมัดแบบจีนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไทยเราก็ไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้นแต่จะยอมอเมริกาไปเสียทุกอย่าง เศรษฐกิจก็จะพังพาบเอาง่ายๆ หรือจะถึงขั้น “เสียเอกราชทางเศรษฐกิจ”
ผมได้ฟังความคิดเห็นของบุคคลสำคัญต่างๆ ในการประชุมแล้ว ก็รู้สึกว่าเรายังมีคนที่พยายามมองปัญหาอย่างรอบด้าน, วิเคราะห์ และมีข้อเสนอแนะที่พอหวังได้ อย่างเช่น ข้อเสนอแนะของ สภาหอการค้าไทย ที่ว่า (เอาคร่าวๆ ขี้เกียจจดแบบละเอียด)
เปิดเจรจาการเก็บภาษีให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย อะไรที่ได้เปรียบอเมริกามาก ไทยก็ต้องปรับลดให้ ว่ากันเป็นเรื่องๆ ไป และต้องปรับโครงสร้างภาษี แต่ต้องทำการบ้านอย่างละเอียดตอนนี้ศักยภาพในการผลิตอาหารทุกอย่างของเราอยู่ในระดับท็อป 5 ของโลก ถ้าปรับลดภาษีนำเข้าบางอย่างลง ต้นทุนวัตถุดิบบางอย่างของไทยจะถูกลงด้วย
การนำเข้าวัตถุดิบต้องคุยกับทุกภาคส่วน และเกษตรกรตัวจริงเสียจริงต้องไม่เดือดร้อน รัฐบาลจำเป็นจะช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่ใช่ช่วยพ่อค้าคนกลาง ตรงนี้ต้องแยกแยะให้ชัดเจน
การนำเข้าเนื้อสัตว์ หรืออะไรบางอย่างที่ไม่กระทบกับสังคมส่วนใหญ่ ต้องมีความอะลุ่มอล่วย เช่น เนื้อพรีเมียมจากออสเตรเลียปีๆ หนึ่งที่สั่งเข้าเป็นหมื่นล้าน ไม่ใช่เนื้อที่ชาวบ้านทั่วไปจะกินได้หรือได้กินง่ายๆ ก็แบ่งส่วนตรงนี้ไปซื้อจากอเมริกาบ้างพี่เขาจะได้เห็นน้ำใจ
การแก้ปัญหาการสวมสิทธิ์สินค้าส่งออก ลดการนำเข้าสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อประเทศ การนำเข้าที่ประเทศไทยไม่ได้อะไร และเพิ่มการส่งออกให้มากขึ้น หาตลาดทดแทน พูดง่ายๆ คือ ซื้อให้น้อยลง ขายให้มากขึ้น
นอกจากนี้ สภาหอการค้าไทย ยังขอให้รัฐบาลตั้งทีมกับเอกชน Global Trade Trust Force ดูสถานการณ์การค้าทั่วโลก ไม่เฉพาะอเมริกา และต้องเร่งเจรจา FTA (Free Trade Aria เขตการค้าเสรี) ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ที่ค้างคาอยู่ เช่น ไทยกับอียู หรือ แคนาดากับอาเซียน
ครั้นจะฝากความหวังทั้งหมดไว้กับรัฐบาลนี้... ช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปีที่ผ่านมาก็คงพอจะรู้กันแล้วว่า มีสติปัญญาและความสามารถอยู่ระดับไหน - ย่อหน้านี้ สภาหอการค้าไทย ไม่ได้พูด
ผมบอกเอง
ทิวา สาระจูฑะ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี