ทำเอาคนดูประทับใจเป็นที่สุด และมีเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม สำหรับการแสดงของนักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง “จิ๋ม-กุณกนิช คุ้มครอง” กับบท “กุ่น” ในละครเรื่อง “กรงกรรม” ทางช่อง 3 ด้วยประสบการณ์และความสามารถ ซึ่งการันตีด้วยรางวัลเมขลาตัวแรก กับ บทบาท “สมทรง” ในละครเรื่อง “คำพิพากษา” เรียกว่าตลอดระยะเวลากว่า 38 ปีที่คลุกคลีอยู่กับทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทำให้เธอเข้าใจและถ่ายทอดความเป็นตัวละครได้อย่างละเอียด แต่เส้นทางกว่าจะมาถึงวันนี้เธอผ่านบททดสอบมามากมาย เรื่องราวเป็นเช่นไร? Star Retro ขอพาไปเจาะลึกกัน
จุดเริ่มต้นบนถนนสายมายา
เริ่มจากที่เราเข้ามาสมัครเป็นนักเรียนการแสดงของช่อง 3 เราเป็นรุ่นที่สอง จำได้ว่าตอนนั้นมีหนังสือ เหมือนเป็นผังรายการประจำของช่อง 3 ไปส่งที่บ้าน แล้วเราได้มาเปิดดู และเห็นว่ามีเปิดรับสมัครนักเรียนการแสดงก็รู้สึกสนใจ ไปสมัครทิ้งไว้แล้วกัน เพราะตอนนั้นยังเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงอยู่และพอมีเวลาว่าง ถามว่าชอบใช่ไหมที่ไปสมัคร ก็ไม่แน่ใจ ไม่เคยใฝ่ฝันหรือตะเกียกตะกายที่จะทำตรงนี้ ไม่รู้เรื่องในวงการบันเทิงเลยนะ ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมาตรงนี้แต่ว่าตอนมัธยมชอบรำ ชอบการแสดง
เข้าสู่งานแสดงจริงจัง
หลังจากเข้าไปเรียนในโรงเรียนการแสดงจบหลักสูตรได้ใบประกาศนียบัตรเรียบร้อยเราก็กลับไปเรียนหนังสือตามเดิม จนกระทั่งเข้าเปิดเรียนรุ่นที่ 4 ท่านอาจารย์สดใส พันธุมโกมล ก็มีโปรเจกท์จะทำละครเรื่อง คำพิพากษา แล้วเขาก็มีแคสนักเรียนการแสดงรุ่นที่ 4 มาเพื่อจะเป็นพระเอกนางเอก หาเด็กจากตรงนี้แล้วมาฝึกให้จริงจังเลย ซึ่งตอนนั้นเราออกไปเรียนหนังสือแล้วก็ไม่รู้เรื่อง แต่ปรากฏว่าอาจารย์สดใส เรียกให้เรากลับมาเราก็มาแคส นั่งอ่านบท อาจารย์สดใสก็บอกว่าแกไม่เป็นสมทรงเลย แกไม่ใช่เลย แต่มีคำพูดคำหนึ่งที่ทำให้เราตาลุกวาวเลยก็คือ แต่ฉันไม่มีใครแล้ว ฉันจะทำให้แกเป็นสมทรงให้ได้ คำนี้แหละ พลังงานมาจากไหนไม่รู้ เอาเลยค่ะรับเล่นพร้อมทำทุกอย่าง แล้วอาจารย์ก็ให้บทไปอ่าน แล้วก็กลับมาเรียนรู้และพัฒนาต่อ อาจารย์ก็สอนคลุกคลีอยู่กับเรา ดูแลเรารวมทั้ง พี่เอ๋-กษมา นิสสัยพันธ์ เราก็เข้าคอร์สเวิร์กช็อป อยู่กับบทตลอด จนกระทั่งเมื่อเราพร้อม อาจารย์ก็เปิดกล้องถ่ายทำ
ประเดิมงานแสดงครั้งแรก
ตอนฝึก ตอนซ้อม เวิร์กช็อปต่างๆ ก็ยากอยู่แล้ว พอไปถึงเวลาที่เราต้องทำงานจริงๆ ก็ง่าย เพราะเราผ่านขั้นตอนทุกอย่างมาแล้ว เรียกว่าเราอยู่ทำการบ้าน ทำงานร่วมกัน เรา พี่เอ๋ ผู้กำกับ ผู้ช่วย เราอยู่ด้วยกันตลอดจนเหมือนกับว่าเราไม่ได้เล่นละครอยู่ แต่เราใช้ชีวิตเป็นตัวละครตัวนั้นจริงๆ ก็เล่นไป คือที่เล่นได้ไม่ใช่เพราะเราเก่งนะ บอกเลยถ้าไม่ใช่อาจารย์สดใสทำไม่ได้แน่นอน แล้วพอละครออนแอร์ฟีดแบ๊กดีมาก กระแสดีมากจนเราตกใจ เพราะละครมีความเรียลเราไม่ใส่ซาวน์ ไม่ใส่เสียงอะไรที่ช่วยบิ้วท์ คือสดๆ ใช้ตัวตนและเนื้อของการแสดงจริงๆ
การันตีด้วยรางวัล
ก็เป็นละครที่ได้รับรางวัลเมขลาครั้งที่ 5 ประจำปีพ.ศ. 2528 ทั้งหมด 4 สาขา ได้แก่ละครชีวิตดีเด่น,นักแสดงนำหญิงดีเด่น (เราเอง), นักแสดงประกอบชายดีเด่น (มีศักดิ์ นาครัตน์), ผู้กำกับการแสดงดีเด่น (สดใส พันธุมโกมล)คือเป็นเรื่องที่ถ้าสมัยนั้นก็คืออลังการมาก แล้วตอนนั้นหลังจากได้รางวัลมาเราก็ยังไม่ได้คิดอะไร เพราะเราไม่ได้ใฝ่ฝันมาตรงนี้ เราทำหน้าที่ของเรากับหน้าที่ของลูกศิษย์ที่อาจารย์ให้มาช่วยงาน และตอบแทนช่องที่ก่อตั้งโรงเรียนมา ในฐานะที่เราเป็นนักเรียนพอได้ทดแทนสิ่งที่ช่องได้ให้ก็ดีใจภาคภูมิใจแล้ว ก็ไม่ได้คิดอะไร แต่ทางช่อง 3 ก็กรุณารับเราเข้ามาเป็นพนักงาน ทำหน้าที่ช่วยอาจารย์ดูแลเป็นพี่เลี้ยงให้เด็กรุ่นหลัง ตรงนี้แหละสำคัญกว่าเพราะว่าเราได้งานหลักที่เป็นงานประจำทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่แบบว่าแข็งแรงมั่นคง แถมเราก็ยังได้ใช้ความรู้ความสามารถที่เรามีเอามาสอนและช่วยน้องๆ ก็ทำอยู่ประมาณ 10 ปี เพราะนักเรียนการแสดงมีทั้งหมด 11 รุ่น ก็อยู่จนปิดโรงเรียน
เรื่องที่ 2-3 ตามมาติดๆ
พออาจารย์สดใสทำคำพิพากษาจบ อาจารย์ก็มีโปรเจกท์ทำละครต่อมาเรื่อง คนดีศรีอยุธยา ก็ได้เล่นคู่กับพี่เอ๋-กษมา เหมือนเดิม แล้วก็หายไปเลยอยู่เบื้องหลังจนกระทั่งมาเล่นเรื่อง นิราศสองภพ เป็นละครแนว ดราม่า-อิงประวัติศาสตร์ ออกอากาศทางช่อง 3 เป็นอีกเรื่องที่ชอบมากเพราะเราได้แต่งองค์ทรงเครื่องชุดใหญ่เลย ได้ขี่ช้าง มีลูกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้วเป็นตัวละครที่ร้ายมาก ถือว่าเป็นบทที่เราชอบ คือเป็นบทที่ไม่เยอะแต่พอเราออกมาทีคนจำได้ หลังจากนั้นก็เล่นละครมาเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้เยอะ เพราะจะเน้นไปทางเบื้องหลังมากกว่า
ผลงานปัจจุบัน ‘ยายกุ่น’ ที่ถูกพูดถึงใน ‘กรงกรรม’
ตอนแรกที่พี่อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ให้ทีมงานติดต่อมา เราก็โอเคตกลงเลย เพราะเคยร่วมงานกับพี่อ๊อฟมาก่อนแล้ว เป็นละครสั้น เราก็เชื่อมั่นในฝีมือและคิดว่าเขาคงเห็นอะไรในตัวเรา เขาถึงเรียกเรา คือตอนเราเล่นละครเราก็คิดแค่ว่าเราเป็นตัวที่ส่งให้คนอื่น หรือเรียกว่าเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่อยู่ในฉากๆ หนึ่ง แล้วก็ทำให้ตัวละครหรือคนที่อยู่ในฉากนั้นสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นเราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด และด้วยความที่เรามั่นใจในความรู้ที่เรามี แล้วเราก็อยากจะช่วยน้องๆ ก็ทำเต็มที่ แล้วพี่อ๊อฟก็กรุณาบอกนู่นนั่นนี่หลายอย่าง จนตัวละครนี้มีอะไรมากกว่าปกติ พี่อ๊อฟจะคอยมากระซิบว่าอยากได้แบบนี้ ชอบอย่างนี้ คือไม่ใช่เราเล่นเองหรอกนะ เราก็เล่นอะไรพื้นฐานปกติ แต่ผู้กำกับเขาเห็นเขาก็แนะนำให้เราเพิ่มเติม พี่อ๊อฟเก่งตรงที่ว่าเขาให้ตัวละครทุกตัวมีอะไรที่เด่นขึ้นมา ไม่ใช่ให้กลืนหายไป ให้เกียรติตัวละครทุกตัว คือถ้าไม่สำคัญตัวละครนั้นก็คงจะไม่โผล่มา ฉะนั้นทุกตัวสำคัญแล้วคนก็จะไม่ลืม ถึงเราจะเล่นมากเล่นน้อยไม่เป็นไรแค่ผู้กำกับบอกเราว่าอยากได้แบบไหน เราก็ใส่เต็มที่ค่ะ ก็ฝากติดตามละครเรื่อง กรงกรรม ไปจนจบเลยนะคะ เพราะทุกตัวละครสอนคนดูและแฝงข้อคิด เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเป็นแนวทางให้คนคิดและยั้งใจใคร่ครวญในสิ่งที่ตัวเองทำ เราดูไม่ใช่แค่สนุกอย่างเดียวยังได้ความรู้ได้แนวทางคิด อยากให้เป็นละครที่ทำให้ทุกคนได้รับสิ่งที่ดี
บทบาทของการเป็นแอ๊กติ้งโค้ช
เป็นแอ๊กติ้งโค้ช ไปทั่วทุกกองทุกเรื่องแล้วแต่ใครจะว่าจ้าง ไม่ได้มีสังกัด เราก็ทำหน้าที่สอนและทำในสิ่งที่ผู้กำกับอยากได้ เหมือนกับเราเป็นไกด์ให้เขา ตัวละครบางทีเด็กก็จะไม่ค่อยเข้าใจความคิด ความรู้สึกของตัวละครนี้เป็นยังไง เราก็สื่อสารตรงนี้แทนผู้กำกับ คือผู้กำกับภาษาที่ใช้เขาอาจจะไม่ละเอียด เราก็จะไปตีความแล้วอธิบายให้เด็กเข้าใจ เล่าความรู้สึกต่างๆ นานา กล่อมให้เด็กเข้าใจ ก็แน่นอนยากกว่าการเป็นนักแสดงมาก เพราะถ้าเป็นนักแสดงเราก็เล่นไปเลยเพราะเรารู้ เราเข้าใจ ผู้กำกับเดินมาหาแนะนำนิดหน่อยบวกกับทักษะและประสบการณ์ชีวิตเรามาก็ใส่เต็มที่ แต่การที่เราจะเอาสิ่งเหล่านี้ไปถ่ายทอดให้อีกคนมันก็ค่อนข้างยากเพราะบางคนอาจจะมองไม่เห็นภาพแบบเดียวกับเรา เขาไม่เข้าใจ อาจจะเป็นเพราะประสบการณ์น้อยไป หรือความเป็นเด็ก ฉะนั้นเราก็ต้องคอยบิ้วท์ กล่อมเกลา ให้เขาเข้าใจให้ได้มากที่สุด
ความเหนื่อยท้อ บนเส้นทางนี้
เหนื่อยไม่ได้ค่ะ เรามาทางนี้แล้ว และเรารู้สึกว่าก่อนที่เราจะตายจากโลกนี้ไป เราก็อยากจะทิ้งความรู้ตรงนี้ให้รุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป เพราะครูเราก็สอนมาก็อยู่ที่เรา ถ้าเราไม่ถ่ายทอดมันก็ตายไปกับเรา ฉะนั้นเราก็อยากจะเอาตรงนี้มาให้รุ่นหลัง เขาจะรู้ หรือ ไม่รู้ แต่สักวันเขาต้องรู้ ก็เหมือนเราที่เราเรียนตอนแรกๆ ก็ไม่รู้เรื่อง เราก็ไม่ได้แสดงเก่งมาตั้งแต่เกิด กว่าจะปั้นมาได้ขนาดนี้ อาจารย์ก็สอนเยอะเหมือนกัน การแสดงนี่อยู่ที่ผู้กำกับผู้ที่ถ่ายทอดให้เราจริงๆ นะ คือเรามองไม่เห็นตัวเองหรอกเวลาเล่น ต้องมีคนอื่นสะท้อน ฉะนั้นเราต้องใส่ใจกับสิ่งที่เขาบอกมาก เพราะเขาเห็นภาพก่อนเราแล้ว
เมื่อชีวิตไม่เป็นดังหวัง
ก็มีอยู่แล้วแหละในเส้นทางงานของเราแบบนี้ อาจจะงานไม่มีเลย สื่อสารไม่เข้าใจกันนู่นนั่นนี่ บางทีก็เบื่อมากอยากจะหันหลังให้วงการบันเทิงไปเลยก็มีนะ แต่พอจะไปๆ ก็มักจะมีบางอย่างมาดึงไว้ เช่น งานเริ่มติดต่อมา ซึ่งเราก็ปฏิญาณตนไว้กับตัวเองนะว่า เราจะถ่ายทอดอย่างเต็มที่จนกว่าเราจะหมดลมหายใจ ถ้าเราหมดประโยชน์แล้วเราถึงจะไป ตราบใดที่เรามีประโยชน์อยู่เราก็อยู่ และพยายามทำตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันแบบนี้ให้ได้
เสน่ห์ของการเป็นนักแสดงที่ตกหลุมรัก
การเป็นนักแสดงนี่โชคดีมากนะ เพราะเราได้ปลดปล่อย ถ้าเราเป็นตัวละครสักตัว เราสามารถเป็นได้ทุกอย่าง จะเป็นคนเลวที่สุดก็เป็นได้ บางทีเราเครียดๆ อยากจะไประเบิดที่ไหนก็ระเบิดไม่ได้ ก็มาระเบิดในตัวละครทำในความรู้ที่เรามี แล้วเราก็มีโอกาสได้แสดงพลัง นี่คือศาสตร์อย่างหนึ่งที่… จริงๆ การแสดงมันก็คือมนุษย์แหละ เหมือนเราใช้ชีวิตทั่วไป ไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่ว่าในละครเขาจะเสริมเติมแต่งให้สามารถทำได้โดยที่ไม่ผิด สมมุติเราจะเดินไปฆ่าใครก็ไม่เป็นอะไร เพราะนั่นคือละครที่เราสร้างขึ้นมา เราสนุกมากนะเวลาได้เล่น ได้แสดง เพราะในชีวิตจริงเราทำไม่ได้ บางทีอยากจะโมโหก็ทำไม่ได้ (หัวเราะร่วน) เก็บพลังไว้ไปใส่ในการแสดง การเล่นละครของเราดีกว่า อย่างที่บอกเราเป็นคนที่ชอบการแสดง อยากจะอยู่เบื้องหน้า ไม่ใช่ว่าจะอยากอยู่เบื้องหลังเพราะเราเรียนการแสดงมา แต่กลายเป็นว่าหักเหไปอยู่เบื้องหลังซะส่วนใหญ่ (หัวเราะร่วน) ฉะนั้นอาชีพหลักถ้าจะบอกเริ่มต้นเลยก็คือ นักแสดง แต่ด้วยความที่ นักแสดง ของเราดูน้อย พอว่างก็เลยหาอย่างอื่นที่ถนัดทำอย่างการเป็นแอ๊กติ้งโค้ชนี่แหละ แต่ถ้าจะให้เลือกก็เป็นนักแสดงนะ (หัวเราะร่วน) ชอบมากกว่า
การปรับตัวเพื่อเป็นนักแสดงที่ดี
เราอายุจะ 60 ปี อยู่แล้ว การที่เราจะทำงานกับคนรุ่นใหม่ บางทีเขาก็ไม่รู้หรอกว่าความรู้สึกของตัวละครนี้เป็นแบบไหน เราก็พยายามช่วย เพราะการแสดงต้องให้เห็นด้วยตา ต้องสัมผัสด้วยตัวเอง ต้องเจอด้วยตัวเองจังๆถึงจะเข้าใจ ถ้าเด็กคนไหนยอมฟังเราก็ง่าย แต่บางคนจะมีข้ออ้าง ซึ่งข้ออ้างนี่แหละคืออุปสรรคที่ทำให้เราไม่พัฒนา เราจะไม่ไปไหน คนเรามีข้ออ้างทั้งนั้น แต่ว่าอย่าเอาข้ออ้างมาขัดขวางการเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน เราก็เจอมาทุกยุคทุกสมัยแหละ เพราะเด็กเขายังไม่เห็นคุณค่าของการแสดง ยังไม่เห็นว่าคนดูต้องการอะไร ซึ่งจะบอกว่าคนดูสมัยนี้เขารู้นะ ถ้าอะไรผิวเผินธรรมดา เขาไม่ดูก็ได้ ถ้าในละครแสดงได้แค่นี้ เขาดูข้างนอกในชีวิตประจำวันก็ได้ เพราะฉะนั้นการเข้าไปสวมบทบาทเป็นตัวละครมันต้องมีอะไร และคำว่า มีอะไร เราก็ต้องลงทุน เราต้องเปิด พลีชีพ เลย ทำเต็มที่ทุ่มเทไปให้สุด ซึ่งจะบอกว่ากว่า 38 ปี ในวงการที่เราวนเวียนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง จากเมื่อก่อนจนถึงตอนนี้การทำงานก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกันมาก แต่ความต้องการของคนดูมีมากขึ้นนะเราก็ต้องทำการบ้านเยอะขึ้น ขยันขึ้น เขาต้องการนู่นนั่นนี่และเห็นทุกอย่าง ฉะนั้นเราก็ต้องตอบสนองความต้องการตรงนี้เขาให้เต็มที่ แล้วเราต้องไม่ทำแบบว่าให้มันผ่านๆ ไปซึ่งไม่ได้แล้วนะ คนดูเขารู้ เขาเห็น ทุกคนใช้ความรู้ความสามารถมาตรวจสอบพวกเราที่ทำงาน ต้องละเอียดขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าสมัยก่อนไม่ละเอียดหรือไม่ดีนะ แต่สมัยก่อนไม่สามารถกลับมาดูย้อนหลัง เปิดซ้ำดูหลายๆ รอบแบบยุคสมัยนี้
วางอนาคตข้างหน้า
ก็จะหยุดเมื่อตัวเองทำไม่ไหวแล้ว เพราะเราก็ชอบและรัก แล้วไม่ได้เหนื่อยอะไรมากมาย เราอยู่ตรงนี้มารู้จักคนหมดแล้ว ไม่ว่ารุ่นไหน ก็แล้วแต่ว่าเขาจะเอ็นดูเราไหม และเราก็อยากจะเป็นนักแสดงไม่เคยเปลี่ยน จะได้เล่นบทอะไรก็เล่นหมด เพราะเราไม่สามารถเลือกบทได้ เพราะทุกบทคือหัวใจ คือสิ่งที่เราภูมิใจ รับทุกบทบาท ไม่เคยเกี่ยง และคิดว่าจะอยู่ในวงการนี้ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าวันหนึ่งได้มีโอกาสเปิดร้านขนมก็น่าจะดี เพราะชอบทำขนมไทยๆ ถ้าไม่ทำงานในวงการก็คงเปิดร้านแบบนี้แหละ
ชีวิตครอบครัว
หลังจากได้รางวัลแรกก็เข้าทำงานที่ช่อง 3 ประมาณ 3-4 ปี แล้วพี่ป้อ (ปริญญ์ วิกรานต์) ก็เจอที่โรงเรียนการแสดง และเล่นคำพิพากษาด้วยกัน ตอนนั้นก็มองๆจีบๆ กันธรรมดา ไม่ได้ลึกซึ้งอะไรเพราะช่วงนั้นเราทุ่มเทกับการทำงานมากแต่พอจบคำพิพากษา ก็เริ่มพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็เข้าทำงานที่ช่อง 3ด้วยกันอีกก็เลยตกลงแต่งงานกันตอนอายุ 28 ปี แล้วก็มีลูกตอนอายุ 32 ปี ตอนนี้ลูกชายอายุ 26 ปี เรียนจบและทำงานเรียบร้อยแล้วชีวิตเรียบๆ ไม่มีพิเศษอะไรหวือหวาปกติ ลูกก็หายห่วงแล้วเพราะว่าเราก็ทุ่มเทกับการเลี้ยงดูเขาเองมาโดยตลอดไม่ได้จ้างพี่เลี้ยงเลย รับ-ส่งโรงเรียนเองตลอด ไม่มีวันไหนที่ไม่ห่วงเลย แล้วยิ่งเราอยู่กับละครเราก็จะรู้จะเห็นอะไรเยอะแยะ ก็ห่วงเขานะ แล้วเราพวกสายการแสดงก็จะอินมากมโนเยอะ เต็มที่กับทุกสิ่ง ก็จะเป็นห่วงมาก ไม่ปล่อยเลยเรามีคนเดียวด้วย แต่เราก็ปูพื้นฐานครอบครัวเรามาอย่างอบอุ่นตั้งแต่ลูกเล็กๆ เราเป็นแม่บ้านเต็มตัว จะมีบ้างที่แอบไปทำงาน (หัวเราะ) ซึ่งก็สลับกับพ่อนี่แหละให้เขาเลี้ยงดูเราไม่จ้างพี่เลี้ยง ไม่ไว้ใจ เขาบอกว่าเงินน่ะหาได้ แต่ว่าความรู้สึกความผูกพันต่างๆ ที่ลูกจะได้รับจากพ่อแม่จะไม่มีแล้ว พี่เลี้ยงที่ไหนจะมาให้ความรักความเข้าใจลูกเราได้ดีเท่าเราเอง ก็เลยมั่นใจ เพราะเรามีอาหารหล่อเลี้ยงเขาแล้ว พอเขาโตแล้วเขาก็แยกแยะออกว่าอะไรดีไม่ดี
สุขภาพร่างกายในวัยนี้
ตอนนี้มีโรคประจำตัวอยู่คือ แพ้ภูมิตัวเอง แต่ก็มีคุณหมอดูแลอย่างใกล้ชิด ถามว่ากลัวไหมก็ไม่กลัวหรอกค่ะ เพราะคนเราก็เลือกวันตายไม่ได้น่ะ (หัวเราะร่วน) แต่เรายังมีแรงบันดาลใจ มีลูกศิษย์ที่ต้องดูแล และมีละครที่อยากเล่น ไม่ต้องไปย่อท้ออะไร ทุกคนมีปัญหา มีทุกข์อยู่ในตัว อยู่แล้วแหละ
ความภาคภูมิใจในอาชีพ
โชคดีที่เราอยู่ใกล้ชิดกับนักแสดง ทุกวันนี้มีคนเรียกครูเยอะ แล้วเรารู้สึกภูมิใจ แม้กระทั่งคุณแม่ คุณพ่อ ก็เรียกเราครู แล้วความเป็นครูก็ทำให้เรารู้สึกว่า เราได้บุญ เราไม่ได้สอนแล้วทำงานและได้เงินอย่างเดียว เพราะเขาสามารถเอาความรู้ที่เราสอนให้ไปทำเป็นอาชีพการงานเลี้ยงดูพ่อแม่ แสดงว่าเราก็ได้สร้างบุญด้วย ภูมิใจตรงนี้ ไม่ได้ภูมิใจที่ตัวเองมีชื่อเสียงหรือหน้าตาอะไร
ข้อคิดเตือนใจนักแสดงเลือดใหม่
เด็กสมัยนี้โชคดีที่มีช่องทางที่จะนำความสามารถของตัวเองออกสื่อหรือสามารถดังชั่วข้ามคืนได้ สมัยก่อนไม่มีแบบนี้นะ ต้องสู้ ต้องเรียน ไขว่คว้า กระตือรือร้นกว่าจะได้แสดงสักฉากหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็อยากให้เด็กรุ่นหลังจงเห็นสิ่งที่ตัวเองมี โอกาสที่ตัวเองได้รับ ว่านี่มีคุณค่ามากๆ แล้วก็รักสิ่งที่ตัวเองได้รับและพัฒนาอย่าหยุด แล้วสิ่งสำคัญคือการแสดงต้องออกมาจากข้างในต้องจริงใจ เพราะความจริงใจจะอยู่กับเราไปตลอด ไม่ว่าอาชีพใดก็ตามถ้าเราจริงใจก็จะเป็นอมตะ เราต้องรักคนดู สิ่งที่คนดูได้พอหรือยัง ทำตามหน้าที่ เป็นตัวละครให้เต็มที่อย่าไปเสียเวลากับสิ่งอื่น
นักแสดงฝีมือชั้นครูแนะนำมาขนาดนี้แล้ว ใครที่อยากเจริญเติบโตในเส้นทางนี้ อย่าลืมหมั่นศึกษาพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และทำทุกโอกาสอย่างจริงใจ ซื่อสัตย์ จะเล่นบทไหนทำอะไรก็เต็มที่จนเป็นที่จดจำเฉกเช่น จิ๋ม-กุณกนิช คุ้มครอง
กุหลาบสีเงิน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี