นับเป็นศิลปินที่มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนทั้งยังสร้างความฮือฮาในยุค 90 จนเป็นกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์ หลายต่อหลายครั้งในวันที่ยังไม่มีคำว่าอินดี้ สำหรับศิลปินร็อกอินดี้รุ่นใหญ่ “พราย” ปฐมพร ปฐมพร นักร้องนักแต่งเพลง ที่มีเอกลักษณ์การคาดหน้า ซึ่งเป็นลักษณะเด่นซึ่งแสดงออกถึงการไว้ทุกข์ให้กับการทำงาน ทั้งยังเป็นผู้แต่งเพลง “ก่อน” อัลบั้มชุดแรกของ โมเดิร์นด็อก ซึ่งแต่งเก็บเอาไว้ในปี พ.ศ. 2534
และด้วยความรักที่มี คุณฝน-นรพลพูนศิริวงศ์ บรรณาธิการบันเทิง ทั้งยังควบตำแหน่งผู้บริหารบริษัทหนังสือพิมพ์แนวหน้า ซึ่งเป็นแฟนคลับตัวยง ทำให้ศิลปินร็อกรุ่นใหญ่ พราย ปฐมพร ยอมเผยตัวออกสื่อสัมภาษณ์หลังจากห่างหายไปนานที่ครั้งนี้มาพร้อมกับผลงานอัลบั้มใหม่ล่าสุดในรอบ 10 ปี PRECIOUS(Life is Precious) โดยล่าสุด “พราย ปฐมพร” ก็ไม่ทิ้งลาย ทาตัวด้วยสีน้ำเงิน เดินทางมาพร้อมด้วย เอ-พลกฤษณ์ (มือกีตาร์วงพอส) ซึ่งเป็นแฟนคลับติดตามผลงาน “พราย ปฐมพร” มาตั้งแต่สมัยวัยละอ่อนได้เข้าร่วมพูดคุยกับ “ทีมข่าวบันเทิงแนวหน้า”ย้อนวันวานเล่าถึงจุดเริ่มต้นสู่วงการเพลง
“แรกเริ่มเล่นดนตรีเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผมจำช่วงเวลาได้ไม่แน่ชัด เราเป็นคนชอบแต่งเพลงเอง แต่ไม่มีวงให้เล่น เลยชวนเพื่อนๆ มา แต่ด้วยแนวดนตรีที่เราชอบในยุคสมัยนั้นจะเป็นแนวฮาร์ดร็อก เช่น วงยูเอฟโอ วงสกอร์เปียนส์ เลยทำให้แรกเริ่มหาวงไม่ได้ เนื่องด้วยเนื้อหาเพลงที่ไม่ใช่แนวทั่วไป กว่าทุกอย่างจะลงตัวก็ใช้ระยะเวลาประมาณ 5 ปี เรียกได้ว่าล้มลุกคลุกคลาน สุดท้ายก็ไม่ประสบการณ์ความสำเร็จตัวเราเองในยุคนั้นความคิดเราค่อนข้างแตกต่างจากคนอื่นๆ ในยุคนั้นค่อนข้างมาก พอทำเสร็จก็ไม่เข้ารูปเข้ารอย”
พราย ปฐมพร, คุณฝน-นรพล, เอ วงพอส
ปฐมพรเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพเขาได้พบกับ พิเชษฐ์ นิ่มสุวรรณ โดยพิเชษฐ์ได้แต่งเพลงให้กับพรายเพื่อเป็นของขวัญ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเพลง ปีศาจ หลังจากนั้นไม่นานก็ได้ตั้งวงดนตรีขึ้นชื่อว่าวง GAY ซึ่งมีพิเชษฐ์ ตำแหน่งกีตาร์ สมประสงค์ หมีปาน ในตำแหน่งมือกลอง และ พรายในตำแหน่งร้องนำ ต่อมาได้เข้าร่วมประกวดวงดนตรีของสโมสรผึ้งน้อยโดยใช้เพลง ทรมาน ซึ่งเป็นเพลงต่อต้านยาเสพติด จนในที่สุดก็ได้รับรางวัลชนะเลิศจนได้เซ็นสัญญากับสโมสร ทางวงได้บันทึกเสียงเดโมเทปโดยมีโปรดิวเซอร์อย่าง อัสนี โชติกุลมาดูแลให้ และได้เปลี่ยนชื่อวงมาเป็น May 21st เนื่องจากบันทึกเสียงเสร็จกันในวันที่ 21 พฤษภาคม
ต่อมาทางวงก็ได้ไปเล่นในงานของคลื่นวิทยุไนท์สปอตที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นการเปิดตัวของวง แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น หลังจากที่เพิ่งได้เริ่มเพลงแรกก็พบว่าคีย์บอร์ดมีปัญหา เนื่องจากก่อนหน้านั้นได้มีเด็กมาเลื่อนคีย์ของคีย์บอร์ด ทำให้การแสดงในครั้งนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก จนส่งผลให้ในเวลาต่อมาทางวงจึงแยกย้ายกันไป
“กว่าจะผ่านระยะเวลาที่จะออกผลงานเพลงได้ก็แทบจะกระอักเลือด” หลังจากนั้นอีก 2 ปี พรายได้เซ็นสัญญากับค่ายรถไฟดนตรีในฐานะศิลปินเดี่ยว “ที่ออกเพลงกับค่ายรถไฟดนตรีได้เพราะเราได้พยายามปรับตัวเอง เพราะเพื่อนๆ ในวงแตกไปหมดแล้ว ทำให้สามารถขายได้” โดยได้ออกอัลบั้มแรกชื่อชุด ไม่ได้มามือเปล่า มีเพลงฮิตติดหูในยุคสมัยนั้นอย่างเพลง ไม่ได้มามือเปล่า ตามชื่อของอัลบั้ม “เพลงนี้ผมจะไม่ยอมร้องเพราะเพลงมันหวานมาก และผมไม่ได้แต่งเอง แต่เนื้อหาของเพลงนี้เป็นเพลงที่ดี พูดถึงในแง่มุมที่ดี ลึกๆ เราได้ทำความตั้งใจไว้ให้เพื่อนๆ สำเร็จ แต่พอเปิดออกไปมีคนชอบเยอะ”นอกจากนี้ยังมีบางเพลงของวง May 21st มาทำใหม่อีกด้วย จนกระทั่งมาถึงการแสดงสดที่ ร็อคผับ ได้ประกาศว่าจะเลิกร้องเพลง
พราย ปฐมพร,เอ วงพอส ร่วมกันเล่นดนตรี
“พอจบอัลบั้มชุดแรกเราก็พอใจที่ทำแทนเพื่อนได้สำเร็จ ที่คาดหน้าเพราะเป็นสิ่งเตือนใจให้ระลึกถึงความเจ็บซ้ำน้ำใจที่ผ่านมา เหมือนเรามาด้วยกันแล้วไม่ได้ออกอัลบั้มเพลงด้วยกันตามเป้าหมายที่หวังกันไว้ เลยว่าจะเลิกร้องเพลง เราก็ไม่ได้แจ้งให้ทางต้นสังกัดรถไฟรถดนตรีทราบว่าจะเลิก ซึ่งทางรถไฟดนตรี ก็คงงงอยู่เหมือนกัน แต่สุดท้ายเราก็ได้มีการพูดคุยกัน ว่าถ้าจะให้เราทำเพลงต่อ อย่ามายุ่งกับเพลงเรา ซึ่งเค้าก็โอเค ซึ่งแปลกมาก พี่ระย้าเค้าใจกว้าง ให้อิสระในการทำงาน โดยที่ไม่ยุ่งกับเราเลย เราก็บอกกับทางเค้าว่าเราอยากจะทำโปรโมทโดยมีเพียงแค่โปสต์การ์ดแค่นั้นเอง เราไม่ต้องการอะไรมาก ไม่ต้องมาลงทุนกับเรามากซึ่งทุกอย่างก็โอเค เราได้กลับมาเกิดอีกครั้ง เราได้เป็นตัวเอง”
พ.ศ. 2534 ปฐมพรกลับมาอีกครั้งกับอัลบั้มชุด “พราย” พร้อมกับการแก้ผ้าถ่ายรูป ซึ่งถูกวิจารณ์จากสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งได้ประกาศว่าตัวเองตายไปแล้วอีกด้วยจากคำโฆษณาที่ว่า “ปฐมพร ตายเป็น พราย” โดยมีการโปรโมทในโรงหนังด้วยสมัยนั้นในอัลบั้มชุดนี้ ทุกเพลงล้วนไม่มีชื่อ ยกเว้นเพลง พราย ซึ่งนับได้ว่าสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการเพลงไทยมาก และอัลบั้มชุดนี้ยังคงเป็นที่พูดถึงตลอดมา และสร้างเอกลักษณ์เป็นแบบอย่างของเพลงพรายเรื่อยมา “สำหรับอัลบั้มนี้เป็นอะไรที่ค่อยข้างรุนแรงมาก เพราะเรามองทุกอย่างในสังคมแบบตรงไปตรงมา เพื่อจะสะท้อนความจริงของสังคม”
พ.ศ. 2536 หลังจากห่างหายไป 1 ปีกว่าปฐมพรก็ได้ออกอัลบั้มคู่ชื่อว่า เจ้าหญิงแห่งดอกไม้ กับ เจ้าชายแห่งทะเล โดยอัลบั้มเจ้าหญิงจะพูดถึงความรู้สึกที่ตกต่ำที่สุด ตั้งแต่การฆ่าตัวตาย จนถึงความรู้สึกที่อยากจะเสียสละอยากจะเป็นคนดี ส่วนอัลบั้มเจ้าชายจะสะท้อนให้เห็นถึงสังคมและผู้คนรวมทั้งตัวเขาเองด้วย นอกจากนี้ทุกเพลงยังคงไม่มีชื่อเพลงอีกเช่นเคย แต่เป็นการแทนด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ดอกไม้ บุหรี่ และอื่นๆ เนื่องจากปฐมพรต้องการจะสื่อความหมายมากกว่าภาษาพูดและภาษาเขียนของเขา มีการจัดการแสดงสดเพื่อโปรโมทอัลบั้มคู่ที่บ้านมนังคศิลา แต่กลับไม่มีการเล่นเพลงใดๆ ในอัลบั้มคู่เลย
พ.ศ. 2538 ปฐมพรได้ออกอัลบั้มชุด ใต้สำนึก โดยเป็นการทำเองขายเอง ในอัลบั้มชุดนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความรุนแรงของเนื้อหาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเพลงที่กล่าวถึงนักวิจารณ์โดยเปรียบเทียบระหว่าง สัตว์นรกกับเทวดาสัตว์กะหมา พ.ศ. 2551 อัลบั้ม เพื่อนของฉัน โดย “พราย ปฐมพร” ทิ้งประโยคไว้ว่า “โชคร้ายที่ไม่ได้ดัง แต่โชคดีที่เราเลือกที่จะเป็นแบบนี้”
โดย “เอ มือกีตาร์ วงพอส” หรือเอ-พลกฤษณ์ วิริยานุภาพ ได้เล่าถึงความประทับใจที่มีต่อศิลปินรุ่นพี่ว่า ผมชอบ “พี่พราย”มาตั้งแต่ช่วง ม.ปลายหรือน่าจะม.4 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมันเหมือนกับเด็กที่ไม่รู้จะไปทางไหน มีศิลปินที่เป็นนักร้องไทยเพลงไทยที่ชอบหลายวงอย่าง ไมโคร, โอฬาร จนมี“พี่พราย” ที่แปลกแยกออกจากตลาดเลยเพราะว่าเพลงที่พี่เขาเขียนและงานเขียนของเขามันเป็นบทกวีที่โดนใจ และเป็นอารมณ์ที่ละเอียดอ่อน ผมเป็นคนเซนซิทีฟ และคิดว่ามันอาจจะโดนใจเด็กๆ ที่อยู่ในสายศิลป์ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้รู้ตัวเองว่าเป็นสายศิลป์จนมีชุด “พรายเนวาน่า เนเวอร์มายด์” การเขียนบทเพลงบทกวีของพี่เขาโดนใจมีความเป็นศิลปินสูงมากแตกต่างจากคนในสมัยนั้นแม้แต่ในสมันนี้ก็ด้วย
เมื่อเริ่มเข้ามหาวิทยาลัย ก็เริ่มฟังเพลงแนวอื่น จนเพิ่งกลับมาฟังตอน “พี่พราย” ทำเพลงกับ “พี่เมธี” เหมือนเราถูกฝังรากไว้ตั้งแต่ตอนที่เป็นวัยรุ่น เลยทำให้บทเพลงของ “พี่พราย”ตรึงความรู้สึกอยู่ในใจตลอด เคยเจอตัวจริงของ“พี่พราย” ตอนที่ออกงานกับ “พี่เมธี” ผมไปงานที่ผับแห่งหนึ่งก็เอาซีดีไปให้พี่เขาเซ็น เรียกได้ว่าผมนับถือพี่เขาขั้นศาสดา ที่เขียนเพลง “ที่ว่าง”ของ “พอส” ได้ส่วนหนึ่งก็เพราะมีเพลงเก่าๆ ของ “พี่พราย” จุดประกายแรงบันดาลใจ ซึ่งคิดว่าก็ดีที่ทำให้สามารถสร้างแรงบันดาลใจเป็นงานศิลปะและทำประโยชน์ให้กับคนอื่นที่ได้ยินได้ฟัง และโชคดีที่มีเพื่อนๆ วงพอสเพราะลำพังตนคงไม่สามารถทำได้
นอกจากนี้ เอ-พลกฤษณ์ ได้เล่าเกี่ยวกับอัลบั้มใหม่ล่าสุดของ “พราย ปฐมพร”ที่เจ้าตัวได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานนี้ “สำหรับอัลบั้มใหม่ PRECIOUS (Life is Precious) ของ “พี่พราย” เป็นงานยุคใหม่ เป็นเพลงที่เขียนเนื้อร้องทำนอง เป็นบทกวี เป็นการเล่าเรื่อง มีดนตรี เป็นแบล็คกราวนด์ จะคล้ายกับเพลงหนัง หรือเดอะมิวสิคัล เรียกได้ว่าเป็นงานศิลปะ ที่มีอารมณ์สวยงามหลายๆ เพลง โดยได้ชาวสวีเดน มาร่วมทำงาน เพิ่มความใหม่ที่น่าสนใจ ผมมีส่วนร่วมในงานนี้โดยการทำเป็นบทกวีที่ “พี่พราย” เขียนและได้ “พี่โอ๋ ซีเปียง”เขียนเนื้อร้องให้
“พี่พราย” เขาให้เกียรติคนอื่นมากๆไม่เคยลืมว่าใครเคยช่วยมีน้องๆ หลายคน ที่เป็นมือคีย์บอร์ดอย่าง “อั้ม” หรือ “เอส กล้วยไทย”เป็นคนที่ศรัทธา “พี่พราย” และแต่ละคนก็มีฝีมือ สำหรับอัลบั้มนี้เรียกว่าเป็นการส่งพลังต่อเนื่องที่ “พี่พราย” ให้กับเด็กรุ่นใหม่ซึ่งเติบโตมาจนเป็นศิลปินหรือจนมีผลงานของตัวเองจนเก่งพอเห็นว่า“พี่พราย” ยังเขียนเพลงยังทำงานได้ ก็มาช่วยเหมือนเราได้รับพลังที่ต่อเนื่องวนกันไปแล้วก็วนกลับมา เกิดจากความรักและศรัทธาจนมามีอัลบั้มเพลง PRECIOUS (Life is Precious) ชุดนี้
ขอบคุณภาพเฟสบุ๊คพราย ปฐมพร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี