ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จับมือ โมโนฟิล์ม จัดฉายภาพยนตร์รอบพิเศษ ครบรอบ 20 ปี เรื่อง “นางนาก” ระหว่างวันที่ 25-31 กรกฎาคมนี้ เปิดประสบการณ์ความหลอนในโรงภาพยนตร์ร่วมกันอีกครั้ง ไปกับดนตรีประกอบหลอนติดหู ตื่นตะลึงกับภาพนางนากที่ยังติดตา ร่วมระลึกถึงภาพยนตร์แห่งตำนานเรื่องแรกที่ทำรายได้ถึง 150 ล้าน ส่งผลให้วงการภาพยนตร์ไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ผลงานการกำกับโดย“อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร” เขียนบทโดย “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” นำแสดงโดย อินทิรา เจริญปุระ และ วินัย ไกรบุตร
ภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” เข้าฉายครั้งแรกในวันที่ 30 กรกฎาคม 2542 พร้อมเสียงตอบรับจากผู้ชมทุกเพศทุกวัยกับยอดรายได้ 150 ล้านบาท ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีภาพยนตร์ไทยเรื่องใดเคยทำมาก่อน ด้วยเนื้อหาของเรื่องที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีกับเรื่องราวความรักอมตะของหญิงสาวแห่งทุ่งพระโขนง โดยมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดต่างๆ ให้ดูสมจริงมากขึ้นรวมถึงการถ่ายทำด้วยระบบเสียงในฟิล์มเป็นเรื่องที่ 2 ต่อจาก “2499 อันธพาลครองเมือง”ซึ่ง นนทรีย์ และ วิศิษฏ์ ต่างเห็นพ้องว่าควรปรับวิธีการถ่ายทำ เพื่อความต่อเนื่องของอารมณ์นักแสดงและความสมจริงมากที่สุด และนี่เองที่ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์การชมที่เข้าถึงกว่าเดิม และทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด จนกลายเป็นต้นแบบของการทำภาพยนตร์ไทยอีกด้วย
ภาพยนตร์เรื่อง นางนาก ยังได้รับการการันตีคุณภาพด้วย 7 รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 19 ในปี 2542 ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม ถ่ายภาพยอดเยี่ยม ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม เครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม และแต่งหน้ายอดเยี่ยม
และเนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ทศวรรษภาพยนตร์ “นางนาก” เข้าฉาย ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์และ โมโนฟิล์ม จึงจับมือร่วมกันจัดฉายภาพยนตร์รอบพิเศษ เพื่อให้คอหนังได้ร่วมสัมผัสความหลอน ระทึกไปพร้อมกันในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง ในระหว่างวันที่ 25-31 กรกฎาคม 2562 เพราะทุกความหลอนของ“นางนาก” จะสามารถสัมผัสได้ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น!!!
เกร็ดภาพยนตร์
l หนังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ครั้งแรกวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2542 และทำรายได้เฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปราว 150 ล้านบาท
l “นางนาก” เป็นหนังไทยเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท สร้างปรากฏการณ์ “โรงเต็ม” ทุกที่นั่ง ในแทบทุกโรงที่เข้าฉาย
l “นางนาก” สามารถล้างภาพลักษณ์ของตำนาน “แม่นาคพระโขนง” ได้จริง โดยเฉพาะหนังที่เกี่ยวกับตำนานดังกล่าวหลังจากนั้น จะมีความเชื่อมโยงกับ “นางนาก” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเช่น การรอคอยที่ท่าน้ำ, ตัวละครอ่ำ เพื่อนของมาก, ตัวละคร สมเด็จพุฒาจารย์โต ซึ่งมีตัวตนจริง, การเจาะกะโหลกคนตายสะกดวิญญาณ และฉากนางนากห้อยหัว ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกใน “นางนาก” ทั้งสิ้น
l “นางนาก” ทำให้หนังไทยหลังจากนั้นให้ความสำคัญกับการรีเสิร์ชมากขึ้น โดยเฉพาะหนังที่เล่าเรื่องย้อนยุคและมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ จนสามารถกู้คืนวิกฤติศรัทธาให้กับหนังไทยได้สำเร็จ
l “นางนาก” เป็นหนังไทยเรื่องแรกๆที่ได้รับเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลหนังต่างประเทศและได้เข้าฉายในอีกหลายประเทศ อาทิ ฮ่องกง และสเปน
l ยังไม่มีข้อสรุปว่าตำนานแม่นาคพระโขนง เป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่มีความเป็นไปได้ว่าตำนานเกิดมาจากละครในสมัยรัชกาลที่ 4ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับหญิงตายทั้งกลมคนหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันมาก โดยทีมผู้สร้าง “นางนาก” พัฒนาต่อคือการหยิบตำนานดังกล่าวมาผูกโยงเข้ากับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่มีอยู่จริง
l อินทิรา เจริญปุระ และ วินัย ไกรบุตรเวิร์กช็อปการใช้ชีวิตแบบชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ 4ตั้งแต่การถอดรองเท้าเดิน การนุ่งโจงกระเบน การสานปลาตะเพียน กินหมาก และอีกมากมาย จนสามารถเข้าฉากเป็นส่วนหนึ่งกับวิถีชีวิตแบบชาวบ้านได้อย่างรื่นไหล
l ดนตรีประกอบ “นางนาก” เสร็จก่อนที่หนังจะเริ่มถ่ายทำ ทำให้ นนทรีย์ และทีมงาน มองเห็นภาพร่วมกันว่ากำลังพยายามทำอะไรอยู่
l ขณะถ่ายทำ ทีมงานพร้อมใจกันตัดผมทรงดอกกระทุ่มเพื่อเป็นหนึ่งเดียวกัน และเมื่อถ่ายทำเสร็จ นนทรีย์และทีมงานส่วนหนึ่งเข้าพิธีอุปสมบทเนื่องจากมีการเบียดเบียนชีวิตสัตว์เป็นจำนวนมากขณะถ่ายทำ
l “นางนาก” ได้รับการบันทึกให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ เมื่อ พ.ศ.2547
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี