กำลังเป็นกระแสที่น่าจับตามองสำหรับวงการหนัง ละครไทย หลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีการออกมาตรการควบคุมสื่อด้วยการจัดเรทติ้ง การเซ็นเซอร์ หรือแม้กระทั่งการแบนห้ามออกอากาศ ละคร และภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม มีฉากยั่วยุ แสดงความรุนแรง รวมถึงเนื้อหาเกี่ยวกับเซ็กซ์ และยาเสพติด ล่าสุดเป็นกระแสขึ้นมาอีกครั้งหลังซีรีส์ยอดฮิต “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ที่ออกอากาศทางช่องเคเบิล ถูกจับตามองเนื่องด้วยเป็นละครยอดฮิตสำหรับกลุ่มวัยรุ่นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของสังคม อีกทั้งยังมีเนื้อหาล่อแหลมไปในเรื่องของเซ็กซ์ และยาเสพติด แม้ว่าจะไม่ได้มีฉากเหล่านั้นให้เห็นแต่ก็ยังสามารถจินตนาการต่อไปได้ ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ เพราะที่ผ่านมาได้มีการควบคุมแค่ในส่วนของฟรีทีวี แต่ซีรีส์เรื่องนี้กลับโด่งดังในเคเบิล ที่ยังไมได้มีการควบคุมไว้อย่างชัดเจน ทำให้ กสทช.เริ่มเข้ามาพิจารณาถึงเนื้อหาดังกล่าว พร้อมด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่สังคมวงกว้างทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย สกู๊ปพิเศษ สัปดาห์นี้ ทีมข่าวบันเทิงแนวหน้า ตามเกาะกระแส สอบถามเหล่าซุปตาร์ สื่อมีผลต่อวัยรุ่นหรือไม่ และมาตรการควบคุมเหล่านี้ ช่วยแก้ปัญหาสังคมได้หรือไม่ มีความคิดเห็นอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้อ่าน
“กาย” นวพล ลำพูน
“ผมคิดว่ามีนะครับ ไม่ต้องเป็นหนังหรือละครเท่านั้นหรอกครับ สื่ออื่น ๆ อะไรที่เรามองเห็นมันทุกวันมีสิทธิ์ให้คนทำตามอยู่แล้ว มันขึ้นอยู่กับตัวของเราเองว่าทำตามหรือไม่ทำ ส่วนมาตรการที่ภาครัฐออกมาอย่างพวกเซ็นเซอร์ผมอยากบอกอย่างหนึ่งว่าถ้าจะเซ็นเซอร์อย่างเช่น สูบบุหรี่อยู่แล้วคุณเบลอที่มือ หรือ อีกฉากถือปืนไปจ่อหัวแล้วค่อยเซ็นเซอร์ ยังไงเขาก็รู้ อย่าทำเลยดีกว่าสำหรับผมนะครับ ถ้าจะเซ็นเซอร์สู้ตัดไปเลย ซึ่งผมมองว่าสมัยนี้ไม่ต้องเซ็นเซอร์ก็ได้เพราะสื่อมันไม่ใช่ว่ามาได้แค่จากทางหนังอย่างเดียวมันอาจมากจากชีวิตจริง สื่ออินเตอร์เน็ต ข่าว มันมีอยู่แล้ว วิธีป้องกันมีอย่างเดียวคือคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลอย่างดีมาก ๆ เพราะเด็กทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วเขาก็ต้องเจอพบกับปัญหา ไม่มีใครเกิดมาแล้วไม่เจออะไรเลยเป็นไปไม่ได้ ต้องดูแลให้ดี สำหรับคนที่ดูสื่อหนัง หรือละคร อยากให้ดูแบบพอดี อะไรไม่ดีก็ไม่ต้องทำตามครับ”
“ติ๊นา” ศุภนาฏ จิตตลีลา
“ถ้าหนังที่เล่นโดนแบนคิดว่ามันต้องขึ้นอยู่กับหลาย ๆ องค์ประกอบไม่ว่าจะเป็นภาพ ตัวบทที่ส่งออกไปว่ามันจะแรงขนาดไหน นำเสนอแง่มุมไหนแล้วแต่คนจะมองค่ะ ถ้าเรามองให้เป็นอาร์ตมันก็เป็นอาร์ต ถ้าเรามองว่ามันแรงมันก็แรง อยากให้ทุกคนเปิดใจ ส่วนหนังที่มีบทรุนแรงก็อาจมีส่วนที่ทำให้คนทำตามนะอย่างทุกเรื่องที่ทำที่มาส่วนใหญ่ก็จะแฝงแง่คิดออกไปด้วย เหมือนเราไปสอนเขาไม่ใช่ให้เขาไปลองผิดลองถูก การที่หนังจะถูกเซ็นเซอร์มันก็เป็นการสกรีนขั้นตอนหนึ่งแล้ว อยากให้วัยรุ่นที่ดูหนังทุกคนดูแล้วไม่ใช่คล้อยตามไปแต่อยากให้ดูแล้วคิดตามหนังว่าเราได้อะไร ได้แง่คิดอะไรจากเรื่องนี้บ้าง อย่างเราเรียนนิเทศศาสตร์ก็จะมององค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง เช่น แสง สี เสียง และผลงานที่นักแสดง และคนทำหนังได้ถ่ายทอดออกไปค่ะ”
“เต๋า AF8” เศรษฐพงศ์ เพียงพอ
“หนังที่มีบทรุนแรงผมคิดว่ามันก็เป็นไปได้นะที่วัยรุ่นจะทำตามถ้าเขายังไม่เข้าใจ เพราะอย่างตอนเป็นเด็กเราอาจไม่เข้าใจว่าหนังทำไมต้องติดเรทอายุคนดู แต่พอเราโตขึ้นเราก็จะคิดได้ว่าเขาทำเพราะอะไร แล้วแบบนี้ควรทำแล้วเลียนแบบดีไหม ผลดีผลเสียคืออะไร แต่ถ้าเด็กที่ไปกับคุณพ่อคุณแม่เขาก็อาจจะสอนได้ เพราะสมัยนี้หนังหรือละครมันเปิดขึ้นมากกว่าสมัยก่อนเยอะเลย ส่วนการที่มีการจำกัดเรท เซ็นเซอร์ผมคิดว่ามันก็ดีเหมือนกันครับมันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่าเขาคิดอย่างไร แต่ด้วยความที่เป็นหนังบางทีอยากให้ออกมาแบบสมจริง มันพูดยากขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ใหญ่ และคนดูด้วย สมมติว่าถ้ามันจำกัดเรทแล้วมันก็น่าจะเวิร์คครับ สำหรับคนที่ดูหนังก็อยากให้ดูแล้วคิดตามว่าได้อะไรและอยากให้สนับสนุนวงการหนังไทยครับ เพราะคนทำหนังเองก็ต้องการกำลังใจ”
“ภีม” ภาคิน จิกิตศิลปิน
“หนังที่มีบทรุนแรง เลิฟซีนเยอะหรืออื่น ๆ ผมคิดว่ามีผลนะที่ทำให้เด็กวัยรุ่นทำตาม ก็ต้องให้ผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำครับ อาจขึ้น 18+ อันไหนดีก็ทำตาม อันไหนไม่ดีก็ดูไว้เป็นแบบอย่าง ส่วนที่มีการเซ็นเซอร์หรือตัดฉากออก ผมเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยนะ ไม่เห็นด้วยตรงที่บางทีดูหนังแล้วกำลังลุ้น ๆ อยู่มันหายไป หรือดูดเสียงไปมันก็ทำให้เราไมได้อรรถรสในการชม เห็นด้วยตรงที่บางครั้งเผื่อมีเด็กเล็ก ๆ ดูอยู่เขาก็อาจไปทำตามได้ อยากฝากถึงคนที่กำลังดูหนังครับดูแล้วเก็บไปเป็นข้อคิดครับ อันไหนดีก็ควรทำตาม อันไหนไม่ดีก็ไม่ควรทำตามครับ”
“สายป่าน” อภิญญา สกุลเจริญสุข
“ถ้าหนังที่เล่นูกแบนเพราะมีฉากรุนแรง คงไม่รู้สึกยังไงค่ะรู้สึกแค่ว่ามันไร้สาระมาก เพราะมันมีเรื่องการจัดเรทติ้งเกิดขึ้นมาแล้ว มันมีการแบ่งเรื่องของอายุชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้นการแบนไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะถ้าเห็นว่ามันไม่เหมาะสมตรงไหนก็จัดเรทให้มันมากขึ้น อย่าง 18-20 คนเหล่านี้บรรลุนิติภาวะแล้วทางกฎหมายดังนั้นเรื่องของการแบนมันไม่น่าจะมีอยู่ในระบบของเมืองไทยอยู่แล้ว อย่างการที่หนังมีบทหรือฉากที่รุนแรง มันมีผลต่อวัยรุ่นไหมป่านคิดว่าจะมาโทษหนังอย่างเดียวไมได้ อย่างเด็กที่ไปเที่ยวกันบางคนก็ไมได้ดูหนังเยอะแต่ก็มีพฤติกรรมรุนแรงคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดจากสังคมบริบทที่เขาเจอมากกว่า เรื่องการดูหนังละครมันก็อาจจะไม่เกี่ยวซะทีเดียว แต่ถ้าหนังเรื่องนั้นมีแรงบันดาลใจที่มาจากเรื่องจริงแล้วไม่เซ็นเซอร์ก็จัดเรทติ้งไปไม่ควรที่จะแบนเพราะการทำหนังออกมาเรื่องหนึ่งมันมีเรื่องของการทำโปรดักส์ชั่น อยู่ ๆ คุณมาดูแล้วบอกไม่ไห้ผ่านรู้สึกมันทำลายความรู้สึกของคนที่ทำเรื่องนั้น ๆ ออกมามากไปหน่อย อยากฝากถึงทุกคนนะคะป่านเชื่อว่าทุกคนมีวิจารณญาณของการรับชมอยู่แล้วอะไรที่มันดีก็ส่งเสริม อะไรที่ไม่ดีก็ตักเตือนกัน แค่นี้วงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยก็น่าที่จะพัฒนาไปเรื่อย ๆ ค่ะ”
“บี๋” สวิช เพชรวิเศษศิริ
“บทรุนแรงในฉากหนัง ละครมีผลแน่นอนมันเป็นการชี้นำ ตัวกระตุ้นอย่างดี ผมคิดว่าบางทีอย่าทำเยอะเกินไปแค่พอประมาณ มันมีวิธีการที่จะแยบยลกว่านั้นในการนำเสนอภาพ เรื่องราว แต่ไม่ใช่ไปปิดกั้นทั้งหมด ผมคิดว่าควรหามาตรการเพราะอย่างบางครั้งเด็กไม่ดูหนัง ละคร เดี๋ยวนี้สื่ออื่นก็มีให้ดูไม่ว่าจะเป็นจากข่าวต่าง ๆ หรือทางอินเตอร์เน็ตเอง ส่วนการที่ออกกฎมาเซ็นเซอร์ หรือจัดเรทติ้งต่าง ๆ มันก็ยากนะทีวี อินเตอร์เน็ตมีทุกบ้านกำหนดเรทไปเด็กก็ดู แต่จะทำอย่างไร ผมคิดว่ามันควรมีมาตรการอันดับแรก ความรักในครอบครัว พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ต้องรับฟังความคิดเห็นและเข้าใจเขา อย่าปล่อยให้เขานั่งดูคนเดียว ควรอยู่ด้วยแล้วให้คำแนะนะ ยิ่งเด็กอยู่ในวัยกำลังอยากรู้สังคมสมัยนี้มันเปลี่ยนไปอย่าละครหนังที่เป็นกระแสอยู่ตอนนี้เอาความจริงมาตีแผ่มันก็เหมือนเป็นดาบสองคม คือทำได้นะแต่ต้องมีการบอกและให้แง่คิดกับเขาด้วย ให้เขาแยกแยะได้ถูก สำหรับคนดูผมอยากให้ดูแบบมีวิจารณญาณ ดูละครดูหนังแล้วย้อนดูตัวเราเองด้วย ถ้าให้เด็กดูแล้วผู้ใหญ่ต้องชี้แนะเขาเห็นผมดีผลเสียด้วย”
“เอ็ม” อภินันท์ ประเสริฐวัฒนกุล
“ถ้าพูดกันจริง ๆ ต่อให้มีฉากรุนแรงหรือไม่มีในชีวิตจริงมันก็มีอยู่แล้ว เรื่องเหล่านี้มันมีในทุกยุคสมัยมาเป็นร้อยเป็นพันปี แค่ว่ามันจะมีการนำเสนอออกมาไหมเท่านั้นเอง มันขึ้นอยู่กับการนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้จะมีบทสรุปของมันอย่างไรมากกว่า อย่างเช่น เรื่องของทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว มันก็จะเห็นว่าทำแบบนี้ไม่ดีนะ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงด้านไหนก็ตาม ส่วนเรื่องการกำหนดเรท เซ็นเซอร์ ผมคิดว่าจำกัดทางทีวีมันไม่มีผลอะไรมากมายหรอก มีหลายครอบครัวที่เลี้ยงลูกด้วยการเปิดทีวีไว้ให้เขาดูที่สำคัญทึ่สุดคือพ่อแม่ต่างหากที่ควรต้องให้คำแนะนำลูก ต่อให้มีเรทมันก็ไม่มีใครสนใจอยู่แล้ว ผมอยากฝากไว้นะครับดูหนัง ดูละคร แล้วย้อนดูตัว ดูแล้วพยายามหาข้อคิดถ้าดูเป็นครอบครัวหลาย ๆ คนได้ยิ่งดีจะได้มีการพูดคุยแลกเปลั่ยนความคิดเห็นกันด้วย”
“ตั้น” พิเชษฐ์ไชย ผลดี
“ผมคิดว่ามันต้องขึ้นอยู่กับเวลาครับ อย่างละครช่วงเย็น ๆ ผู้ปกครองก็จะต้องนั่งูอยู่ด้วยจะได้ให้คำแนะนำ อย่างช่วงหลังข่าวก็จะเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายที่ดูครับ อย่าว่าแต่ละคร หรือหนังเลย เด็ก ๆ เดี๋ยวนี้สามารถดูสิ่งเหล่านี้ได้จากสื่ออินเตอร์เน็ต และสื่ออื่น ๆ ทั่ว ๆ ไปได้อยู่แล้วครับ ส่วนเรื่องที่มีการเซ็นเซอร์ตัดฉากบางฉากผมคิดว่าก็ต้องขึ้นอยู่กับทางนั้นเป็นไปตามกฎกติกาที่เขากำหนดมันก็อาจจะช่วยได้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นครับ ละครหนังเป็นอะไรที่ทำให้เราเกิดความบันเทิงขอให้ดูแล้วสนุก อย่าดูแล้วเป็นอะไรที่ต้องเอาไปทำตามครับ”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี