สุรพล สมบัติเจริญ (เดิมชื่อลำดวน) เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2473 เป็นคนสุพรรณบุรีโดยกำเนิด ฐานะทางครอบครัวแต่เดิมค่อนข้างดี คุณพ่อรับราชการอยู่แผนกสรรพากรจังหวัด ชื่อ เปลื้อง สมบัติเจริญ ส่วนคุณแม่ชื่อ วงศ์ นอกจากเป็นแม่บ้านแล้วยังค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้านกลางใจเมืองสุพรรณ สุรพลเป็นบุตรชาย คนที่ 2 ในบรรดาพี่น้องท้องเดียวกัน 6 คน
หลังจบชั้นประถมจาก โรงเรียนประสาทวิทย์ ก็มาเรียนที่โรงเรียนกรรณสูตศึกษาวิทยาลัยจนจบมัธยมปีที่ 6 เมื่อเรียนจบที่สุพรรณบุรีคุณพ่อก็จัดส่ง สุรพล เข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย แต่ สุรพล ก็เรียนได้เพียงปีครึ่งก็ต้องลาออกเพราะใจไม่รักแต่ด้วยไม่อยากขัดใจคุณพ่อ การเรียนก็เลยไม่ดีเขาไปสมัครเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนสุพรรณกงลิเสียเสี้ยว เป็นโรงเรียนจีน แต่สอนอยู่ได้แค่ครึ่งปีก็ลาออก ด้วยใจไม่ได้รักอาชีพนี้อย่างจริงจัง
“สุรพล” ได้สมัครเข้าไปเป็นทหารอยู่ที่โรงเรียนนักเรียนจ่าทหารเรือ แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อชะตาเขาพลิกผกผันและนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของตำนาน “ราชาเพลงลูกทุ่ง”
ชะตาชีวิตที่พลิกผัน
ช่วงหนึ่งได้สมัครเข้าไปเป็นทหารอยู่ที่โรงเรียนนักเรียนจ่าทหารเรือ แต่หลังจากได้หนีราชการทหารเรือก็ได้รับโทษถูกคุมขังแล้วมีโอกาสร้องเพลงกล่อมก่อนนอน ซึ่งเสียงร้องเป็นที่ชื่นชอบของนักโทษ จนได้รับอิสรภาพจึงตัดสินใจทิ้งเส้นทางทหารเรือ แต่ว่าเหมือนชะตาชีวิตให้ก้าวสู่เส้นทางนี้จึงได้มีโอกาสร้องเพลงในงานสังสรรค์กองทัพอากาศ น้ำเสียงของเขาได้โดนใจหัวหน้าคณะนักมวยเลือดชาวฟ้า อย่างเรืออากาศตรี ปราโมทย์ วรรณพงษ์ จึงเรียกตัวเขาไปพบในวันรุ่งขึ้น และยื่นโอกาสให้สุรพลย้ายไปเป็นนักร้องประจำกองดุริยางค์ทหารอากาศ
เพลงแรกที่ได้รับการบันทึกเสียง
เมื่อตอน พ.ศ.2496 เพลง “น้ำตาลาวเวียง” เป็นเพลงแรกที่ได้บันทึกเสียง แต่เพลงนี้ยังไม่ได้รับความนิยมมากนักเมื่อเทียบกับเพลงอื่นๆ ส่วนเพลงที่ทำให้เป็นที่รู้จักทั่วไปคือเพลง “ชูชกสองกุมาร” หลังจากนั้นชื่อเสียงของสุรพล ก็เป็นที่นิยมมากขึ้น และมีผลงานชุดใหม่ออกมาเรื่อยๆ เช่น “สาวสวนแตง” “เป็นโสดทำไม” “ของปลอม” “หนาวจะตายอยู่แล้ว” “หัวใจผมว่าง” “สาวจริงน้อง”“ขันหมากมาแล้ว” “น้ำตาจ่าโท” “มอง” และอีกหลายเพลง
เป็นที่รู้จัก และโด่งดังที่สุด
คนรู้จักความเป็น “สุรพล สมบัติเจริญ” อย่างแท้จริง และจำได้ว่านี่คือตัวเราคือเพลง “ลืมไม่ลง” พอมีชื่อเสียงเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เลยมีงานร้องเพลง นอกสังกัดของตัวเองมากขึ้นซึ่งมันสร้างความประหลาดใจมาก วงที่เคยร่วมร้องด้วยก็คือวง “แมมโบ้ร็อค” ของ เจือ รังแรงจิตร วง “บางกอกช่ะช่ะช่ะ” ของ ชุติมา สุวรรณรัตน์ และ สมพงษ์ วงษ์รักไทย นอกเหนือจากนั้นก็มีวงดนตรีที่ไปร่วมร้องเพลงด้วยเยอะที่สุดคงเป็นวง “ชุมนุมศิลปิน” ของ จำรัส วิภาตะวัตร
ผู้ผลักดันให้มีความมุ่งมั่น
คนที่เป็นทุกอย่างทั้งคุณครู ผู้ผลักดัน และกระตุ้นให้รักเพลงลูกทุ่ง พร้อมทั้งให้มุ่งมั่นพยายามจนประสบความสำเร็จได้ คือ คุณประสาน ศิลป์จารุ (ทองแป๊ะ) เพราะคุณประสานเป็นคนนำเพลงของเราไปเปิดในสถานีวิทยุกระจายเสียงวรจักร ซึ่งครั้งนั้นถือเป็นการเปิดตัวเพลงลูกทุ่งในสถานีวิทยุเป็นครั้งแรกในสมัยนั้นจนเป็นจุดเริ่มต้นให้เพลงลูกทุ่งได้รับการยอมรับ และพัฒนาเป็นอย่างมากมาจนถึงทุกวันนี้
สาเหตุหลักที่ทำให้เป็นที่ยอมรับของวงการเพลงลูกทุ่ง
อาจเป็นเพราะสามารถแต่งเพลงเอง ร้องเอง โดยเพลงที่แต่งก็มี ลืมไม่ลง, ดำเนินจ๋า, แซ่ซี้อ้ายลื้อเจ็กนั้ง, หัวใจเดาะ, สาวสวนแตง, น้ำตาจ่าโท, สนุ้กเกอร์, นุ่งสั้น, จราจรหญิง,เสน่ห์บางกอก และ 16 ปีแห่งความหลัง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่แต่งเพลงให้คนอื่นร้องจนโด่งดังอีกด้วย อย่างเช่น ผ่องศรี วรนุช, ไพรวัลย์ ลูกเพชร, ละอองดาว สกาวเดือน, ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย, เมืองมนต์ สมบัติเจริญ และคนอื่นๆอีกมากมาย เลยทำให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
รางวัลที่ได้รับ
2532 ได้รับรางวัลพระราชทานเพลงดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1 “สาวสวนแตง” คว้าเพลงดีเด่น แต่งโดย ครูพยงค์ มุกดา แต่งเพลงดีเด่นในเพลง “เด็กท้องนา” ขับร้องโดย ละอองดาว สกาวเดือน และเพลง “ไหนว่าไม่ลืม” ขับร้อง โดย ผ่องศรี วรนุช ส่วนเพลงที่ได้รับรางวัลร้อง-แต่งเองคือ “16 ปีแห่งความหลัง”
2534 ได้รับรางวัลพระราชทานแต่งเพลงดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 ในเพลง “ด่วนพิศวาส” ขับร้องโดย ผ่องศรี วรนุช และ คำเตือนของพี่ ขับร้องโดย ไพรวัลย์ลูกเพชร
2537 ได้รับรางวัลพระราชทานเกียรติบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการจัดงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง สืบสานคุณค่าวัฒนธรรม สองรางวัลในเพลง น้ำตาเมียหลวง ขับร้องโดย ผ่องศรี วรนุช และเพลง เสียวไส้ ซึ่ง สุรพลแต่งและขับร้องเอง
2537 เพลง รอยไถแปร และ น้ำตาลก้นแก้ว ได้รับการคัดเลือกเป็นเพลงลูกทุ่งดีเด่นที่ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ขับร้องโดย ก้าน แก้วสุพรรณ ส่วนเพลง กว๊านพะเยา ได้รับรางวัลเดียวกัน แต่เป็นการขับร้องโดย สุรพล สมบัติเจริญ
เหตุการณ์ไม่คาดฝันเมื่อ ราชาเพลงลูกทุ่ง
“สุรพล สมบัติเจริญ” ถูกยิงเสียชีวิต
หลังจากการแสดงบนเวทีที่วิกแสงจันทร์ หน้าวัดหนองปลาไหล อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2511 เมื่ออายุเพียง 37 ปี 10 เดือน 23 วัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความเสียใจแก่ทุกคนเป็นอย่างมาก....ถึงแม้จะผ่านไปถึง 45 ปีแล้ว แต่บทเพลงของ ครูสุรพล สมบัติเจริญ ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของทุกคนจนถึงปัจจุบันนี้
ถึงแม้ว่าเราจะสูญเสียบุคคลอันทรงคุณค่าของวงการลูกทุ่งไปด้วยระยะเวลาอันยาวนานแล้ว...แต่เชื่อได้เลยว่า สุรพล สมบัติเจริญ ยังคงอยู่ในใจของผู้ฟังจนถึงทุกวันนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี