ความขาดแคลน การอพยพหลีกหนี มักเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ และบ่อยครั้ง โดยเฉพาะประเทศที่เราอาจจะไม่คุ้นหู หรือแทบจะไม่เคยได้ยินกันมาก่อน พวกเขาอาจจะกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่แสนยากลำบาก เลวร้าย และต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยทั้งที่ไม่ทันตั้งตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทาง “UNHCR” หรือ “สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ” ไม่เคยนิ่งนอนใจ พร้อมเข้าช่วยเหลือ ฟื้นฟู และคุ้มครองผู้ลี้ภัย ผุดแคมเปญน่าสนใจภายใต้ชื่อ “NOWHERE TO RUN” หรือแคมเปญวิกฤตที่ไม่มีทางออก เป็นแคมเปญระดับโลกของ “UNHCR” ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2566 เพื่อการระดมทุนช่วยเหลือ และหาทางออกให้เด็กและครอบครัวผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นจากสงคราม ภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศทั่วโลก โดยในประเทศไทย เราตั้งใจที่จะระดมทุนจำนวน 10 ล้านบาท เพื่อมอบบ้านที่ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างโหดร้าย 100 หลัง เพื่อฟื้นฟู เยียวยาผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยใน 22 ประเทศเพื่อช่วย 32 ล้านคนที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งและภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างไม่มีทางออก
ซึ่งครั้งนี้ทาง “UNHCR” ได้ร่วมมือกับ “กิตติ สิงหาปัด” และ “สิงห์-วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” ผนึกกำลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวในฐานะตัวแทนคนไทย เพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศโมซัมบิก วันนี้จะพาไปติดตามบทสัมภาษณ์พิเศษของทั้งคู่ถึงแนวคิด แนวทางการช่วยเหลือ และความคืบหน้าต่างๆ
คำถาม: สถานการณ์ขณะที่ไปเป็นอย่างไรบ้าง
กิตติ: ตอนที่ไปยังไม่มีการสู้รบ แต่พื้นที่ขัดแย้ง (ทางเหนือ) ยังไม่สงบครับ คล้ายกับภาคใต้ของบ้านเรา คือเป็นกลุ่มมุสลิมสู้กับทหารของรัฐบาลในทางเหนือของค่ายที่เราไป เรายังพูดได้ไม่เต็มปากว่า “สงบ” เขาจะสู้รบกันเป็นพัก ๆ แต่จะรุนแรงกว่าบ้านเรา เพราะมันทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบไปด้วย บางคนก็เสียชีวิต เลยต้องหนีมาตรงนี้ครับ ตรงนี้ไม่นับรวมอีกค่ายหนึ่งนะ เพราะที่นั่น (ประเทศเพื่อนบ้านในทวีปแอฟริกา) มีหลายประเทศ สถานการณ์แตกต่างกันไป (เสริม: ที่โมซัมบิกจะมีผู้ลี้ภัยราว 30,000 คน และมีผู้พลัดถิ่นอยู่อีก 1 ล้านคน มีหลายคนต้องหนีภัยธรรมชาติอย่างพายุตลอดกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา)
สิงห์: แต่กลุ่มเหล่านี้คือพวกที่หลบหนีความขัดแย้งมาแล้วรอบหนึ่ง หลังจากนั้นก็มาเจอภัยพิบัติทางธรรมชาติในที่ที่ตัวเองหนีภัยจากมนุษย์มา ในขณะเดียวกัน UNHCR ก็ไม่อยากให้พวกเขาต้องลี้ภัยซ้ำซ้อนอีก เพราะสุดท้ายแล้ว เราสามารถหนีจากความขัดแย้งได้ แต่เราไม่สามารถหนีจาก climate change (การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ) ได้ ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ในแคมเปญนี้หรือการบริจาคนี้ คือการทำให้พื้นที่ตรงนี้ “พออยู่ได้” ในเชิงที่ว่าพวกเขาสามารถปลูกบ้านอยู่ได้ ปลูกพืชผลพอขึ้น มีพลังงานใช้ มีน้ำสะอาดใช้ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว แต่ปัจจุบันเงื่อนไขเหล่านี้ไม่สามารถบรรลุได้เลย เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปมาก
คำถาม: เราสัมผัสอะไรได้จากคนที่โมซัมบิก (สีหน้า ท่าทาง)
กิตติ: มี 2 ส่วนนะครับ คือในแง่หนึ่ง เราประทับใจ ค่ายลี้ภัยที่โมซัมบิกมีชุมชนดั้งเดิมอยู่รอบ ๆ ไม่ว่าจะเป็นมาราเควเน (Marracuene) หรือ ควิลมีาเน (Quelimane) คนโมซัมบิกเองเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เขายอมให้ผู้ลี้ภัยมาอยู่ในถิ่นของเขา ต่างกับบ้านเรา ถ้าเราให้ผู้ลี้ภัยมาอยู่ข้างบ้าน เราก็คงไม่ชอบนะ แต่คนโมซัมบิกเขายอม สามารถตั้งค่ายผู้ลี้ภัยได้ จริง ๆ เมื่อเวลาผ่านไปสักพักหนึ่ง เขาอยู่เหมือนเป็นเพื่อนบ้านกันด้วยซ้ำ เพราะทางรัฐบาลโมซัมบิกกับทาง UNHCR ก็ร่วมมือกันสนับสนุนให้ชาวบ้านตรงนี้มีรายได้ พอขายของได้ด้วย ส่วนผู้ลี้ภัยเขาก็สู้ มีความหวัง แม้โอกาสที่จะกลับบ้านเป็นไปไม่ได้แล้ว แต่อย่างน้อย โครงการนี้มีงานให้เขา เช่น การปักเย็บ การทำขนมปัง งานช่างต่าง ๆ เขาก็พยายามทำให้ได้มากที่สุด มีรายได้มาจุนเจือตัวเอง เขาพยายามจะพึ่งพาคนอื่นให้ได้น้อยที่สุด แต่อย่างไรความหวังสูงสุดของเขาก็คือ การกลับบ้าน การกลับไปใช้ชีวิตต่อ ที่บ้านเขายังพอมีอนาคต แต่ที่ลี้ภัยประสบภัยธรรมชาติ (ไซโคลน) แล้วคนเหล่านี้ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้เลย
สิงห์: อีกแง่หนึ่ง จากที่ได้คุยกับผู้พลัดถิ่น ผมถามเขาคนหนึ่งว่า “ระหว่างสงครามกับไซโคลน อะไรแย่กว่ากัน” เขาตอบว่า ไซโคลนยังพอทนได้ แต่บ้านที่มีสงครามนี่รุนแรงกว่า คือพอมีภัยธรรมชาติแล้ว คนเขาร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งมากกว่าในสภาวะสงคราม แค่สุดท้าย มันก็หนักทั้งคู่นั่นแหละ แล้วยังมีกลุ่มที่ต้องโดนทั้ง 2 อย่างด้วย อย่างโมซัมบิกนี่ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญกับไซโคลน แล้วก็มีภาวะสงครามด้วย คือหลังจากที่ไปกับ UNHCR ผมได้ไปที่สาธารณรัฐคองโก (Republic of Congo) ที่ลี้ภัยที่นี่หนักกว่าโมซัมบิกมาก คน 20-30 คนต้องนอนกันอยู่ในที่แคบ ๆ ทนน้ำท่วม ทนฝน มีโรคระบาด ตั้งแต่อีโบลา ไข้เหลือง ไปจนถึงท้องเสีย ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ แม้กระทั่งคนจบปริญญาตรียังต้องเป็นขอทาน และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศได้ทวีคูณความลำบากเหล่านี้ให้หนักขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ผู้ประสบภัยกลุ่มแรกนี่เขาไม่ได้ปล่อยคาร์บอนเลย
คำถาม: คิดอย่างไรกับคนอีกซีกโลกหนึ่งปล่อยคาร์บอนไปกระทบกับกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในอีกซีกโลกหนึ่ง เราสามารถทำอะไรได้บ้าง
สิงห์: คือวิกฤติ climate change ไม่ใช่วิกฤติทางธรรมชาติ แน่นอนว่ามันเป็นผลพวงจากการที่มนุษย์ไปสร้างผลกระทบต่อโลก แต่การตอบสนองต่อเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเมือง สังคม และเป็นวิกฤติเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาล ซึ่งปกติแล้ว เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำ เรามักจะคิดถึงคนเมืองกับคนชนบท นั่นคือความเหลื่อมล้ำระดับท้องถิ่นหรือประเทศ แต่พอเป็นเรื่องภูมิอากาศ มันเป็นความเหลื่อมล้ำระดับโลกที่มนุษย์ที่หนึ่ง (เช่น นิวยอร์ก กรุงเทพ) ทำ มักจะมีผลกระทบต่อคนในอีกซีกโลกหนึ่ง (เช่น ฟิจิ) ด้วย แล้วเราก็เป็นมนุษย์ยุคแรกที่จะได้เห็นผลกระทบของการเปลี่ยนแปลทางสภาพภูมิอากาศนี้จริง ๆ หลังจากก่อนหน้านี้รู้เพียงแค่ทฤษฎี เพราะฉะนั้น โลกต้องการระบบการจัดการที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ แต่เรายังไม่มีเลยตอนนี้ เรามี UN ศาลนานาชาติ องค์การต่าง ๆ แต่ก็ทำได้แค่ขอความร่วมมือเท่านั้น ไม่สามารถทำให้คนที่ปล่อยคาร์บอนชดใช้ในทางกฎหมายนานาชาติได้ อย่างในการประชุม COP28 ก็มีการคุยกันเรื่องชดใช้ความเสียหายจากประเทศที่เจริญแล้วไปสู่ประเทศอย่างคองโกหรือโมซัมบิก แต่มันก็เป็นเพียงทางความคิดมากกว่าเชิงปฏิบัติ แล้วเราเหลือเวลาไม่มากแล้ว เพราะทุกวันนี้มีคนที่ประสบภัยอย่างนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ นับล้านคนแล้ว ดูอย่างตอนโควิด คนที่มีเงินเยอะกว่าสามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าคนยากจน เรื่องนี้ก็เหมือนกัน (เสริม: UNHCR ตั้งเป้าจะลดปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ในปี 2530 เราจะลดการปล่อยแก๊สนี้ลงครึ่งหนึ่ง)
กิตติ: คือโรงพยาบาลที่ Marracuene มีโรงพยาบาลของศูนย์ลี้ภัยอยู่ แล้วมันน่าสนใจตรงที่ตอนที่ถูกไซโคลนโจมตี เขาโดนหนักมากถึงขั้นที่ห้องผู้ป่วยเด็กเหลือแค่ฐานของตึก เพดานโบ๋ แต่มันก็ดีที่ว่าทั้งชุมชนกับผู้ลี้ภัยใช้ร่วมกัน (โรงเรียนก็เช่นกัน) พอมีภัย เขาก็ช่วยกันซ่อมแซม จนมันกลายเป็นพื้นที่ของชุมชน ใช้ร่วมกันได้ อีกที่หนึ่งก็เหมือนกัน และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ชุมชนรอบ ๆ ค่ายลี้ภัยอยู่ร่วมกันกับผู้ลี้ภัยได้อย่างสงบ แล้วทาง UNHCR ก็เข้าไปช่วยบูรณะโรงเรียน โรงพยาบาลของเขาให้ได้เกินมาตรฐานไปแล้วด้วย อย่างตอนโควิด เขารับมือได้ดีมาก มีผู้ป่วยน้อยมาก ๆ แม้จะเป็นเขตที่น่าจะประสบภัยก็ตาม ส่วนเรื่องโลกร้อน การลดแก๊สเรือนกระจกไม่ใช่เรื่องง่าย มีความแตกต่างหลายอย่างในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม หรือสังคม ดังนั้น การหาจุดเหมือนจึงเป็นเรื่องยาก แล้วไหนจะมีปัญหาด้านวิทยาศาสตร์อีก แต่อนุสัญญาต่าง ๆ เช่น อนุสัญญา CITES หรือบาเซล แต่ UNFCCC นี่แตกต่างออกไปจากทั้งสองอย่างนี้ เพราะมันจะยากที่จะควบคุมการปล่อยแก๊สเรือนกระจก มันจึงมีความคืบหน้าน้อยมาก
สิงห์: ถ้าเราดูประเทศที่ลดคาร์บอนสำเร็จในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมานี้ มักเป็นประเทซในยุโรปทั้งนั้น ส่วนอเมริกาลดไปได้เพียง 6% เท่านั้น ดังนั้น หมายความว่า มันต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจไปได้ในระดับหนึ่งก่อน จึงจะลดแก๊สเรือนกระจกได้สำเร็จ จีนเองก็เริ่มหันมาสนใจเรื่องนี้แล้ว และถ้าจีนสำเร็จในการลดคาร์บอน มันจะมีผลต่อทั้งโลกด้วย เพราะประชากรของเขาเยอะมาก
คำถาม: climate change มีผลกระทบต่อการลี้ภัยมากแค่ไหน ถ้ายังแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ ในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น
สิงห์: นอกจากโมซัมบิกแล้ว ยังมีพื้นที่ที่ต้องอพยพเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศล้วน ๆ เลยด้วย แบบนี้เขาเรียก “climate refugee” สมมติว่า น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนปะการังฟอกขาวไปแล้วประมาณ 4 ครั้ง ฟอกขาวเกือบทั้งโลกเลย มันหมดความสามารถในการสังเคราะห์แสงจนตายไป แล้วปะการังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล พอปลาเล็กเกิดไม่ได้ ปลาใหญ่ก็ไม่มีอาหาร ก็เลยส่งผลกระทบต่อคนตามมา สมตติว่า ภาคใต้ของเราได้รับผลกระทบตรงนี้ จากคนที่เคยทำประมง เขาจับปลาไม่ได้ ไม่มีรายได้ ก็ต้องขึ้นมาขับแท็กซี่ในเมืองหลวงอย่างนี้ ปัญหามันก็จะซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีคนที่อยู่ในที่ที่เขาเคยอยู่ไม่ได้แล้ว (เสริม: ดังนั้น UNHCR จึงต้องปรับตัวมาช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากภัยธรรมชาติด้วย) ยิ่งถ้ามาจากประเทศที่ไม่รวย เขาก็จะยิ่งไม่มีความสามารถในการรับมือเรื่องนี้นัก
กิตติ: มันก็เยอะแน่นอน ตอนเราไปโมซัมบิก เราเห็นชัดที่มันมีไซโคลน ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างชัดเจน แต่มันยังมีอย่างอื่นอีก เช่น ภัยแล้ง พืชผลเสียหาย คนไม่มีอาชีพ คนไม่มีที่ไป พออากาศเปลี่ยน มันแล้งก็แล้งหนัก ในก็ฝนหนัก
คำถาม: ภาพจำของประเทศที่เกิดสงครามหรือวิกฤติต่าง ๆ ก่อนไปกับหลังไปแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
สิงห์: ก่อนไป ผมอาจเข้าใจสิ่งนี้ในเชิงทฤษฎี แต่พอได้เห็นวิถีชีวิตแล้ว ผมซึมซับความรู้สึกของผู้ประสบภัยเข้ามาจนรู้ลึกและละเอียดมากขึ้น มันทำให้ผมเล่าเรื่องได้ดีขึ้นด้วย และหวังว่าจะทำให้สังคมเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้มากขึ้นด้วย
กิตติ: ก่อนไป ย้อนไปถึงวัยเด็กเลยนะ ผมอยู่ในช่วงสงครามอินโด-จีนพอดี ผมจะมีภาพจำว่า ศูนย์อพยพสงครามอินโด-จีนมีคนเขมร เวียดนามหนีสงครามมา เรารู้สึกว่ามันโหดร้ายจริง ๆ นั่นคือภาพของผู้อพยพที่ผมมีมาตั้งแต่เด็ก ๆ พอโตมาปัญหาพวกนี้มันหมดไป ผมเป็นนักข่าวมาก็ไม่ค่อยได้ทำข่าวผู้ลี้ภัยเลย พอ UNHCR มาชวนไป ก็เลยได้โอกาสไปให้เห็นกับตาว่า ภาพจำของเรากับสิ่งที่จะเห็นจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่า ศูนย์ผู้ลี้ภัยมันต่างกันไปในแต่ละที่อยู่แล้ว แต่ในทางกายภาพไม่ต่างกันนัก ชีวิตเขามันน่าสงสาร แต่ที่โมซัมบิกมันไม่เลวร้ายขนาดนั้น อย่างน้อยยังมีพื้นที่ให้ปลูกผักให้กิน แต่จิตใจคนเขาไม่ต่างกันหรอก ไม่ว่าจะผ่านมากี่สิบปี สงครามไม่เคยปราณีใคร มันไม่สร้างความดีอะไรให้ใครเลย แล้วคนที่มาอยู่ที่ศูนย์ลี้ภัย เขาเป็นคนที่ไม่มีที่ไปจริง ๆ อย่างน้อยเราต้องช่วยเขาให้เขาพอมีกินได้บ้าง แล้วเดี๋ยวเขาจะจัดการชีวิตเขาต่อเอง
สิงห์: การนั่งรอให้มีคนช่วยเหลืออย่างเดียว นี่ก็เป็นการทรมานจิตใจอย่างสาหัสแล้วนะ อย่างตอนไปโมซัมบิก ผมได้สัมภาษณ์พี่คนหนึ่ง ซึ่งหนีตายมาเจอไซโคลน ตอนแรกเขาก็เล่าแบบเครียดมาก แต่พอถามถึงสิ่งที่เขาทำ (เป็นช่างเชื่อมเหล็ก) เขากลับยิ้มแย้มขึ้นมาทันที และนี่คือหัวใจของชีวิตมนุษย์ การทำอะไรที่มีประโยชน์สักอย่างหนึ่ง แม้เขาจะอยู่ในที่ลำบาก แต่เขากลับเจอสิ่งที่เขารัก แต่คนอื่นอาจไม่โชคดีอย่างพี่คนนี้ ที่อื่น ๆ ยังมีคนที่ได้แต่นั่งรอความช่วยเหลือไปวัน ๆ อยู่อีกมากนะครับ
คำถาม: มีความประทับใจอะไรจากคนท้องถิ่นบ้างไหม
กิตติ: น่าจะมีเยอะ แต่เวลาเราน้อย เราเลยได้คุยกับผู้ลี้ภัยไม่มาก แต่สำหรับคนที่เราคุย อย่างหัวหน้าศูนย์ผู้ลี้ภัย เขาพยายามขอบคุณเรา มาเล่าเรื่องให้เราฟัง โดยเฉพาะเรื่องอาหาร เขาบอกว่า ปกติจะได้ถั่ว ข้าวมากิน เนื้อสัตว์ไม่มีเลย มาเล่าเบื้องหลังให้เราฟัง อยากให้เราไปเล่าต่อให้คนทั้งโลกได้รู้ ส่วนชาวบ้านที่อยู่รอบ ๆ เราไปคุยแล้ว เขาก็บอกว่า เขาดีใจที่มีผู้อพยพมาอยู่ใกล้ ๆ เขาก็ขอบคุณเรา มีมิตรภาพดี ๆ ร่วมกัน กลับมาแล้ว 2 อาทิตย์ ผมยังคิดถึงโมซัมบิกอยู่เลย เป็นประเทศที่ผมพร้อมกลับไปอีกครั้งมาก แม้จะไปแป๊บเดียวก็ตาม
สิงห์: ถ้าเป็นโมซัมบิก ผมเห็นด้วยเลยครับ เขา appreciate กับ UNHCR หรือองค์การอื่น ๆ ที่ช่วยเหลือพวกเขามาก แต่ผมจะเสริมเรื่องค่ายผู้ลี้ภัยทั่วโลกอีกหน่อย พอผมไปเอง ผมได้เห็นสิ่งที่น่าหดหู่กว่านั้น พอผมได้เห็นผมรู้สึกผิดเลยด้วยซ้ำที่เราได้คอนเทนต์กลับบ้าน แต่ไม่ได้ทำอะไรช่วยพวกเขาเลย อย่างที่อัฟกานิสถาน ผมรู้สึกได้ถึงความโกรธของชาวอัฟกานิสถานจริง ๆ หรืออย่างที่คองโก เวลานั่งรถไป จะมีเด็กวิ่งไล่ตามรถเพื่อขอเงิน ทุกคนอยู่ในโหมดเอาชีวิตรอดอย่างดุดัน ดังนั้น ผมจึงต้องขอบคุณพวกเขาด้วยซ้ำ ที่ให้ผมได้ไปถ่ายทำและเล่าเรื่องของพวกเขาออกมา
คำถาม: นอกจากแคมเปญ “Nowhere to Run” ที่โมซัมบิกแล้ว ทั้งสองท่านจะร่วมมือกับ UNHCR มีส่วนในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างไรอีกบ้าง
พี่จิ: หลังจากนี้แล้ว วิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดจากน้ำท่วม อย่างในบราซิล อัฟกานิสถาน รวมถึงสถานการณ์ในบ้านเรา (ผู้อพยพจากพม่า) ก็ต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน แล้วยังมีคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติอีกนับล้านคน
สิงห์: แต่เฉพาะแคมเปญนี้จะไปช่วยประเทศที่ประสบภัยเรื่อง climate change ก่อน
กิตติ: ผมถามเรื่องบ้านกับผู้ลี้ภัยตอนไปโมซัมบิก บ้านคนหนึ่งเป็นดินโปะ ๆ มันจึงเกิดความจำเป็นที่ว่า บ้านที่สร้างมาต้องมีความแข็งแรง ทนลมทนแดดได้ และในฐานะที่เราเป็นสื่อ มันก็เป็นความรับผิดชอบของเราที่อยากให้คนเห็นเรื่องพวกนี้เยอะ ๆ คนจะได้เข้าใจ แบบนี้เราก็ยินดีแล้ว แต่ต่อไปจะไปที่ไหน ก็เป็นเรื่องของอนาคต (เสริม: นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทั้งคู่ร่วมงานกับ UNHCR และในอนาคตจะร่วมงานกันต่อแน่นอน)
สุดท้าย ฝากให้สื่อต่าง ๆ ช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องการบริจาค อย่างน้อยคนละ 10 บาท จะช่วยกันสร้างบ้านให้กับผู้ลี้ภัยในโมซัมบิกได้ ส่วนของสิงห์กำลังจะมีสารคดีสั้น “Nowhere to Run” (ชื่อเหมือนแคมเปญ) ออกมาให้ได้ชมกัน ฉายครั้งแรกวันที่ 6 มิ.ย. นี้ ที่สยามพารากอน เป็นอีกก้าวหนึ่งที่ได้ร่วมกับ UNHCR
เสริมเรื่องบ้านของผู้ลี้ภัยที่โมซัมบิก
กิตติ: ทาง UNHCR ต้องการส่งเสริมให้ทั้งชาวบ้านท้องถิ่นและผู้ลี้ภัยอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข และคนที่นั่นใช้น้ำ ไฟฟ้าฟรี รัฐบาลโมซัมบิกเอื้ออำนวยมาก
สิงห์: ในทางกลับกัน ที่สงครามในยูเครน เขาอยู่กันสบายกว่าที่โมซัมบิก มีอินเทอร์เน็ตใช้ เพราะคนทั้งโลกให้ความสนใจกับที่นั่น เลยมีการบริจาคกันมาก
เสริมเรื่องผู้หญิงและเด็กในโมซัมบิก
พี่จิ: เด็กกับผู้หญิงเป็นกลุ่มเปราะบางมากอยู่แล้ว ยิ่งพอเจอทั้งสงครามกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง มันก็หนักเข้าไปอีก เราจึงต้องให้ความสำคัญกับพวกเขามากขึ้นตามไปด้วย
สิงห์: ที่คองโก เขาอยู่กันแออัดมาก ปัญหาความรุนแรงทางเพศก็มี แต่ตำรวจไม่มี ดังนั้น ผู้หญิงจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงมากในสภาวะแบบนี้
กิตติ: โชคดีที่ว่า ตอนเราไปโมซัมบิก มีการรณรงค์เรื่องเด็กและผู้หญิงว่าจะต้องเอาตัวรอดจากภัยทางเพศอย่างไรบ้าง
เสริมเรื่องการสร้างความตระหนักรู้เรื่องผู้ลี้ภัยในไทย
สิงห์: จากมุมมองสื่อ ถ้าเราเล่าเรื่องที่มีผลทางอารมณ์ต่อคนได้ (อิน) ก็น่าจะทำให้คนหันมาสนใจประเด็นแบบนี้ได้มากขึ้น แต่มันก็ยาก
กิตติ: ถ้าเรื่องนี้มันจะไกลตัว ก็คงจะไกลตัวในทางผลกระทบ (เช่น ทางภูมิศาสตร์) แต่เราก็พยายามจะสื่อสารในเชิงที่ว่า เราเป็นมนุษย์ด้วยกัน ถ้าพร้อมบริจาค พร้อมช่วยเหลืออยู่แล้ว เราก็ช่วยเขาได้ตอนนี้เลย ได้ผลเลยวันนี้ ไม่ได้เหมือนทำบุญที่จะเห็นผลชาติหน้า ดังนั้น เรื่องผู้ลี้ภัยจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวเช่นกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี