รายการ Tuck Talk สัปดาห์นี้พบกับ “นพ.ฐานุตร์ ถมังรักษ์สัตว์ หรือ ด็อกเตอร์ไมค์ หมอสมอง” เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสมองที่มาแชร์ความรู้เรื่องการ เช็กอัลไซเมอร์รู้ล่วงหน้า 10 ปี! หลงลืม หลงผิด 2 อาการที่รู้ไวไหวตัวทัน ยืดเวลารักษาความจำก่อนติดเตียง โรคความดันต้นเหตุหลักของอัลไซเมอร์ พร้อมรู้วิธีดูแลผู้สูงวัยให้ห่างไกลการหลงลืม
สมองเสื่อมกับโรคอัลไซเมอร์ ถือว่าเป็นโรคเดียวกันเปล่า ?
หมอฐานุตร์ : ถ้าเปรียบเทียบง่าย ๆ นะครับ สมองเสื่อมคือมะม่วง อัลไซเมอร์คือเขียวเสวย มะม่วงทั้งหมดคือสมองเสื่อมแต่โรคอัลไซเมอร์ คือส่วน ๆ หนึ่งของสมองเสื่อม คำว่าสมองเสื่อมคืออาการ ไม่ใช่ชื่อโรค แต่ว่าในกลุ่มอาการสมองเสื่อม ก็จะมีหลาย ๆ โรคแยกออกมาและ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์คือโรคอัลไซเมอร์ ที่เหลือ เช่น เนื้องอกในสมอง ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลง หรือว่าขาดวิตามินบี12 ในร่างกาย หรือว่าเป็นโรคติดเชื้อซิฟิลิสในสมอง หรือแม้กระทั่งติดเชื้อ HIV ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ เปรียบเทียบง่าย ๆ เหมือนเราเป็นไข้ แต่คำว่าไข้ไม่ใช่ชื่อโรคครับ ชื่อโรคของไข้ เช่น เป็นมาลาเรียไหม เป็นไข้เลือดออกไหม โควิดหรือเปล่า หรือเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คำว่าสมองเสื่อมมันเป็นเพียงแค่ชื่ออาการ แต่ว่ากลุ่มอาการสมองเสื่อมก็จะมีอาการเช่น หลงลืม พฤติกรรมผิดปกติ มีเห็นภาพหลอน บางคนไม่หลับไม่นอน มีหูแว่ว บางคนถึงขั้นมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม เช่น เดิมไปปาร์ตี้กับเพื่อน ๆ ได้ วันดีคืนร้ายเกิดไปเข้าสังคมแล้วมีความผิดปกติ จนเพื่อนสังเกตได้ว่าไม่เหมือนเดิม เช่น เป็นคนชอบร้องเพลง แต่วันนี้ดูนิ่ง ๆ หรือว่ายังไม่ถึงคิวตัวเองร้อง ไปแย่งไมค์คนอื่นร้องทั้งที่ตัวเองก็เป็นอาจารย์อาวุโสอะไรอย่างงี้ ไม่สามารถควบคุมสติอารมณ์ตัวเองได้ อันนี้ก็เป็นกลุ่มอาการของสมองเสื่อมได้เหมือนกัน
ซึ่งที่พูดมานี้ ไม่ได้บอกว่าเป็นอัลไซเมอร์ แต่เป็นโรคเกี่ยวกับสมอง ?
หมอฐานุตร์ : ใช่ เป็นภาวะสมองเสื่อม
มีหลายคนพออายุมากขึ้น บางจะคุยโทรศัพท์เตรียมไว้แล้วว่าจะพูดเรื่องนี้ พอโทรไปกลับนึกไม่ออก อาการเหล่านี้มันพอจะบอกอะไรได้บ้าง ?
หมอฐานุตร์ : เกิดขึ้นกับทุกคน แต่ถ้าเป็นสมองเสื่อมไหม อัลไซเมอร์หรือเปล่า ให้ลองสังเกตอย่างนี้ครับ ให้ทุกคนดูว่าตัวเองเป็นคนขี้ลืมหรือหลงลืม ขี้ลืมมักจะเกิดกับวัยทำงานมีสิ่งหลายอย่างต้องจำและต้องทำ อะไรที่ไม่สำคัญเราก็ลบออก เพราะสมองคนเราก็เหมือนคอมพิวเตอร์ที่มีแรมจำกัดจำนวนหนึ่ง เช่น สมมติว่าเรากำลังนั่งทำงานอยู่ น้องสาวเดินมาบอกพี่อย่าลืมจ่ายค่าโทรศัพท์นะแล้วเราก็นั่งทำงานต่อ จนสุดท้ายเราก็ลืมจ่ายค่าโทรศัพท์ เพราะเราโฟกัสคอมพิวเตอร์ อันนี้ถือว่าขี้ลืม แต่หลงลืมคือลืมทั้งเหตุการณ์ทั้งสิ่งแวดล้อมที่เคยทำอยู่นั้น แล้วกลับไปนั่งคิดต่อจำไม่ได้สักอย่าง ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น สมมติว่าคุณพ่อตอนเช้าตื่นมาทานข้าวกับครอบครัว มีลูกชายมีหลานสาวมีภรรยานั่งกินด้วย แล้วก็ดูทีวีตอนเช้า อาจจะดูข่าวช่องหนึ่งอยู่ ก็นั่งหัวเราะเฮฮากัน แล้วพอถึงเที่ยงปุ๊ป ลูกชายถามพ่อเมื่อเช้ากินอะไร พ่อตอบกินแล้วหรอ กินอะไร ละเมื่อเช้าพ่อนั่งตรงไหน ยังไง ดูอะไร จำไม่ได้ อันนี้แปลว่าลืมทั้งเหตุการณ์
สมมติว่า 1-2 อาทิตย์จำไม่ได้ เพราะมันมีเรื่องตั้งเยอะแยะ ?
หมอฐานุตร์ : แต่เราจะสามารถ Re Call ได้ คุ้น ๆ อย่างงั้นอย่างงี้ อันนี้คือขี้ลืม ยกตัวอย่างเช่น เรามานั่งทำงานในออฟฟิศ รถเราก็จอดที่ออฟฟิศนั่นแหละ ทักทายคนนั้นคนนี้ วางกุญแจตรงไหนไม่รู้ พอจะกลับบ้าน ไปถึงรถแล้วหากุญแจไม่เจอ ก็กลับมาออฟฟิศหาไม่เจอ พยายามคิด ว่าทำอะไรก่อน ละอ๋อ ฉันไปห้องนี้ก่อน ไปหาละเจอว่ากุญแจอยู่ตรงนั้น อันนี้เรียกว่าขี้ลืม เป็นกลุ่มคนที่มีงานหลายอย่างต้องทำ อะไรไม่สำคัญก็ไม่จำ แก้ง่าย ๆ คือจำไม่ได้ก็จด
อาการของคนที่เป็นอัลไซเมอร์มีกี่ระยะ แล้วแต่ละระยะมันบอกอะไรได้บ้าง ?
หมอฐานุตร์ : ผมเล่าประวัติศาสตร์ก่อน อัลไซแมอร์ทำไมถึงต้องตั้งชื่อว่าเป็นอัลไซเมอร์ เป็นชื่อคุณหมอท่านหนึ่งครับ ช่วงปี 1906 ท่านเป็นจิตแพทย์ มีความสนใจในเรื่องของจิตประสาททั้งหลาย และสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับเซลล์สมองด้วย เวลามีผู้ป่วยเสียชีวิต ขอญาติเอามาผ่าศึกษา จนกระทั่งตีพิมพ์ผู้ป่วยหญิงคนหนึ่ง อายุประมาณ 45 มีอาการประสาทวุ่นวาย เห็นภาพหลอน ความจำก็ไม่ดี คุณหมอขอญาติเอาไว้ว่าถ้าเธอเสียชีวิต ขอเอาสมองมาผ่าพิสูจน์ จนไปเจอคราบในสมองกับเส้นใยบางอย่างผิดปกติ เขาก็บรรยายในที่ประชุมจิตแพทย์ทั่วเยอรมัน ผ่านไป 4-5 ปี ทูตเยอรมันก็เรียกโรคที่เจอแบบนี้ว่า โรคอัลไซเมอร์ จะสังเกตุว่าไม่ได้แปลว่าจะเป็นผู้สูงวัย ผู้ป่วยรายแรกที่คุณหมออัลไซเมอร์ได้บรรยายไว้ ก็อายุเพียงแค่ 45 ปีที่เริ่มมีอาการ หลังจากนั้นก็จากไปตอนอายุ 50 ปี รุ่นหลังก็ไปทำการศึกษาเพิ่มเติมว่า ตัวที่เป็นคราบ กับเส้นใยที่ผิดปกติ มันเกิดจากสารพิษบางอย่าง
จะมีคราบทุกคนไหม ?
หมอฐานุตร์ : ไม่ทุกคน จะมีเฉพาะคนที่เป็นโรคนี้ คราบอันนี้ปัจจุบันเราเรียกว่า อะไมลอยด์เบต้า อีกตัวหนึ่งคือชื่อ โปรตีนทาว (tau)
พวกนี้มันเกิดขึ้นมาได้ไงคะหมอ ?
หมอฐานุตร์ : ปัจจุบันคราบอันนี้ยังไม่ทราบว่ามาจากไหน แต่เราเชื่อว่ามาจากโรคประจำตัวบางอย่างที่เราดูแลไม่ดี เช่น ความดัน ไชมันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ สารเคมีต่าง ๆ อาหารการกิน คือมันหลาย ๆ อย่างร่วมกัน ก็เกิดสารพิษอันนั้นค่อย ๆ เยอะขึ้น แต่ก็มักจะเกิดกับกลุ่มคนที่ไม่ค่อยดูแลสุขภาพ แต่บุคคลที่ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายบ่อย ๆ สารพิษนี้มันจะค่อยๆย่อยสลายของมันไปเองได้ อันนั้นคือต้นเหตุที่แท้จริงของโรคอัลเมอร์ ซึ่งกระบวนการการเกิดสารพิษอันนี้เกิดมาล่วงหน้า 10-20 ปี ก่อนจะมีอาการ แล้วระยะของโรคมันมีหลายระยะมาก ทางการแพทย์ เอาแบบง่าย ๆ สำหรับประชาชน มี 3 ระยะ หนึ่งคือระยะหลงลืม ลืมอะไรที่พึ่งทำไปเมื่อสักครู่นี้หรือระยะสั้น ๆ ไม่เกินวันก็ลืมแล้ว เมื่อกี้นี้พูดอะไรไป ลืมแล้ว
แล้วบางคนที่พูดเรื่องอดีต จำเรื่องอดีตได้ล่ะ ?
หมอฐานุตร์ : อันนั้นก็คือเป็นอัลไซเมอร์ครับ เพราะว่าที่ขำไม่พูดเรื่องปัจจุบันเพราะจำไม่ได้ เขาก็จะไปรื้อฟื้นอดีต โดยเฉพาะเรื่องที่อาจจะไม่ค่อยดี นี่ก็เป็นอาการหนึ่งของคนใกล้เป็นอัลไซเมอร์ ซึ่งระยะแรก ๆ จะเรียกว่าหลงลืม ณ ตรงนี้ยาก หรือว่าคนดูแลคงจะคิดว่า คงแก่ตามวัย ซึ่งมันเลยทำให้ ระยะนี้เลยเวลาผ่านไป เลยจุดที่ควรจะต้องรักษาไป
หมอจะบอกว่าให้สังเกตระยะตรงนี้ให้ดี ?
หมอฐานุตร์ : ถูกต้อง แต่คนที่จะหลงลืมทุกคนจะเป็นอัลไซเมอร์ไหม ไม่ มันจะมีระยะก่อนที่จะเป็นอัลไซเมอร์ ก็คือมีอาการหลงลืม แต่ยังเข้าสังคมได้โดยปกติ เป็นบ้างไม่เป็นบ้าง แต่ลืมทั้งเหตุการณ์ แต่ว่าเข้าสังคมได้ แต่เพียงแค่หลงลืมนิด ๆ หน่อย ๆ มักจะเกิดในวัย 60-70 แต่อย่าลืมว่าคนไข้คนแรกของคุณหมอคืออายุ 45 ซึ่งมันควรจะมีเหตุการร์บางอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องเช่น พันธุกรรม นอกจากอาการหลงลืมในระยะแรก ๆ อาจจะมีอาการที่เราพยายามค้นหา เช่น คุณแม่ทำอาหารรสชาติเปลี่ยน เพราะลืมว่าต้องปรุงอาหารด้วยอะไรก่อน หรือว่า ต้มน้ำต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไว้ หม้อไหม้ไปสามหม้อ เพราะว่าลืม หรือลืมล็อคประตูบ้านบ่อย ๆ อันนี้ก็เป็นสัญญาณเตือนเหมือนกัน แต่ว่ากลับกัน ถ้าสมมติต้มน้ำไว้ แต่พอถามทำไมไม่ไปปิด กลับตอบว่า ไม่ได้ต้มไว้ นี่คือลืมทั้งเหตุการณ์ อันนี้เรียกว่าหลงลืม อาการเริ่มต้นอัลไซเมอร์
แล้วระยะต่อไปหลังจากที่เราหลงลืมแล้ว เป็นยังไง ?
หมอฐานุตร์ : สองคือ หลงผิด หลงลืมเนี่ยจะกินระยะเวลา 1-3 ปี จากนั้นจะเข้าสู่อาการหลงผิด แปลว่า เข้าใจผิดเป็นถูก หรือเข้าใจถูกเป็นผิด เช่น เข้าใจว่าสามีมีคนใหม่ เข้าใจว่าภรรยามีชู้ หรือเข้าใจว่าคนในบ้านคือผู้ร้าย หรือในบางคนจะมีพฤติกรรมผิดปกติ โดยที่สารพิษอะไมลอยด์เบต้าค่อย ๆ กระจายไปจากสมองส่วนความจำกระจายไปสมองส่วนทักษะ สมองส่วนการคิดเหตุคิดผล การยับยั้งชั่งใจก็จะแย่ลงด้วย นอกจากจะหลงผิดก็จะมีพฤติกรรมที่แปลก ๆ เช่น ผู้ชายหลายคนอาจจะไปจับก้นสาว แท้จริงแล้วมันคือระยะของโรคอัลไซเมอร์ นอกจากจะมีอาการเหล่านี้แล้ว หลงลืมก็จะเริ่มเยอะขึ้นเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งเขาอาจจะเริ่มไปส่องกระจกแล้วจำตัวแองไม่ได้ เพราะว่าในความคิดของเขา เขาก็จะรู้สึกว่าอายุเขาไม่ใช่ ณ ตอนนี้ สมมติว่าเวลาตรวจคนไข้ แล้วถามว่าอายุเท่าไหร่แล้ว จริง ๆ คืออายุ 70 แต่บอกหมอว่าปีนี้ 60 แล้ว แปลว่าหลัง 60 จำไม่ได้แล้ว 10 ปีหลังนี่จำไม่ได้แล้ว ตรงระยะ 2 จะกินเวลา 3-5 ปปี ญาติจะเริ่มไม่ไหว เพราะคนไข้ส่วนหนึ่งก็จะวุ่นวาย ไม่หลับไม่นอน เห็นภาพหลอน ส่วนมากก็จะเห็นแบบว่าเด็กเล็ก ๆ วิ่งไปมา ตอนตีสอง วิ่ทะลุกำแพงไปห้องนู้นห้องนี้ หรือเห็นบุพการีที่ตายไปแล้วมาหา แต่ว่าเขาไม่รู้ว่ามันคือภาพสมมติ หลายคนก็จะกลัว แม่คุยคนเดียว ไม่หลับไม่นอน
ถ้าไม่รักษาเลยเข้าสู่ระยะที่สาม ?
หมอฐานุตร์ : ความจริงคือแม้รักษามันก็จะเข้าสู่ระยะที่สามเมื่อถึงจุดหนึ่ง แต่คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น
ดีขึ้นยังไง ?
หมอฐานุตร์ : สมมติว่าระยะโรค 1-10 ปี ระยะที่สามคือติดเตียง หลงลืม หลงผิดด ติดเตียง ระยะติดเตียงคือปีที่ 8-10 พอถึงระยะท้าย ๆ แล้ว เขาก็จะไม่ด่าใคร ไม่มีแรงจะด่า สารพิษอะไมลอยด์เบต้า กับทาวโปรตีน ก็จะกระจายไปเรื่อย ๆ คือมันค่อย ๆ แย่ลง จากเดินได้กลายเป็นคลาน จากกินได้เองกลายเป็นต้องป้อน จากป้อนเริ่มกลืนไม่ได้ เริ่มกลืนไม่ได้ ก็ต้องใส่สายยางในจมูก แล้วก็ติดเตียง หลังจากติดเตียงก็จะเจออีก 4 อย่าง ติดเตียง ติดเชื้อ โดดเดี่ยว ลูกหลานติดหนี้แล้วก็จากไป ติดเชื้อคืออะไร คนที่ติดเตียงเนี่ย เชื้อโรคเริ่มชอบ เริ่มมีก้นเป็นแผล ติดเชื้อที่ก้น ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ สำลักอาหารเข้าปอด ปอดติดเชื้อ สุดท้ายก็ติดเชื้อกระแสโลหิต ตรงจุดนี้ก็ต้องเข้า ICU ลูกหลานเยี่ยมไม่ได้ แล้วก็โดดเดี่ยวใน ICU
มีไหมที่จะไปก่อนระยะสุดท้าย เขาทนอะไรไม่ไหวเขาถึงไป ?
หมอฐานุตร์ : มีครับ ส่วนหนึ่งคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มันจะมีซึมเศร้าแฝงอยู่ เพราะว่าคนรอบข้างไม่เข้าใจ บางทีก็ไม่เข้าใจแบบ เมื่อกี้เพิ่งบอกไปถามอีกแล้ว กำลังใจในการดูแลเค้ามันจะน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งตรงนี้พอครอบครัวไม่รู้ว่าอาการของโรคเป็นแบบนี้ ก็จะเริ่มมีการต่อว่ากัน ก็เริ่มเกิดซึมเศร้า จนไปถึงฆ่าตัวตายก็มีเยอะแยะ
ขอย้อนกลับไปที่สาเหตุของการเกิดอัลไซเมอร์ หมอคิดว่ามันเกิดจากอะไร ?
หมอฐานุตร์ : พันธุกรรมส่วนหนึ่งแต่ไม่เยอะ
บางคนบอกว่าคนที่ไม่ทำงานใช้สมองเลย เช่น อาจจะเป็นแม่บ้านพ่อบ้านเฉย ๆ ไม่ได้คิดเลข ก็ทำให้สมองเป็นอัลไซเมอร์ได้ จริงไหม ?
หมอฐานุตร์ : ถือว่าเป็นความโชคร้ายที่มีโอกาสเกิดขึ้นในสถิติของทั่วโลก ในประเทศไทยเนี่ยพบว่าประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของทั่วโลกของผู้สูงวัยจะเป็นอัลไซเมอร์ ในปัจจุบันสังคมประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย ตามสถิติที่ได้รับฟังมา ก็ประมาณ 7-8 ล้านคน ดังนั้น 10 เปอร์เซ็นต์ก็แปลว่าประมาณ 8 แสน ที่มีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์ อันนี้ข้อมูลเมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน แปลว่า ณ ปัจจุบันนี้อาจจะเพิ่มมาเป็นล้านคนแล้วก็ได้ ทุกหนึ่งครอบครัวต้องมีหนึ่งคนโดยประมาณ
อายุน้อยเป็นไหม ?
หมอฐานุตร์ : โอกาสน้อยมาก เขาอาจจะสมองเสื่อมจากเหตุการณ์อื่น ที่ไม่ได้เรียกอัลไซเมอร์ เช่น อุบัติเหตุแข่งกีฬา ทำให้เส้นใยความจำมันตัดขาด บางคนอาจจะเป็นชั่วคราวหรือถาวร
เคมีบำบัดมีผลข้างเคียงที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโลกอัลไซเมอร์ไหม ?
หมอฐานุตร์ : เคมีบำบัดมีผลข้างเคียง แต่ถ้ากับอัลไซเมอร์นี่น้อยมาก อาจจะเป็นเรื่องไขกระดูก ติดเชื้อ อะไรนู่นนี่นั่น แต่ถ้าเกี่ยวกับอัลไซเมอร์โอกาสน้อยมาก
ปัจจุบันมีเจาะเลือดเพื่อดูมะเร็ง ส่วนอัลไซเมอร์ดูได้ไหม ?
หมอฐานุตร์ : ปัจจุบันมี พึ่งมีเทสนี้ในเมืองไทยมาไม่ถึงปี พวกสารอะไมลอยด์เบต้าเราสามารถเช็กได้ล่วงหน้าก่อนจะมีอาการ 10-20 ปี สมมติว่าคนที่วัย 30 40 กลัวว่าจะเป็นแต่ไม่มีอาการอะไรเลย โอกาสถูกต้อง 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นช่วงที่สมองกำลังจะผลิตสารพิษตัวนี้ แต่มันโผล่มาในเลือดเขาก็เอาเลือดไปวิเคราะห์ได้
พี่อายุเยอะแล้ว ไม่ใช่ 30 40 พี่สามารถเช็กได้ไหม ?
หมอฐานุตร์ : เช็กได้ก่อนมีอาการ 10 – 20 ปี โอกาสถูกต้อง 80 เปอร์เซ็นต์
สมมติมันมีอาการแล้ว มันมีแนวโน้มอาจจะถึงระยะหนึ่งอยู่ มันจะรู้ไหม ?
หมอฐานุตร์ : รู้ครับ แต่ว่ามันเป็นสถิติ มันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่โอกาสถูกเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเมื่อไหร่เป็นอัลไซเมอร์ไปแล้ว เจาะเลือดมักจะไม่เห็นแล้ว เพราะมันกลายเป็นคราบไปแล้ว แต่คำถามคือ ถ้าเราเจาะแล้ว สมมติอายุประมาณ 30 40 ปี ไปเจาะแล้วเกิดบอกว่า โอกกาสใช่แปดสิบเปอร์เซ็นต์ โอกาสเป็นตอนอายุ 60 แล้วเราจะทำอย่างไรต่อ ระยะที่มันจะไม่เป็นคราบในสมองเนี่ย เราเปลี่ยนแปลงได้ ดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย รักษาความดัน เลิกเหล้า เลิกบุหรี่
ความดันมีผลเหรอคะ ?
หมอฐานุตร์ : คือโรคอะไรที่ทำให้เกิดหลอดเลือดในสมองไม่ดีทั้งหมด ส่งผลเรื่องอัลไซเมอร์ทั้งหมด
บางคนที่เป็นความดัน แล้วต้องกินยา การกินยามันไม่ได้เป็นการหลอกตัวเองเหรอ ?
หมอฐานุตร์ : ไม่หลอกครับ เพราะว่าการกินยาก็เพื่อให้ลดความดัน เพราะว่าความดันที่สูง ๆ ลองนึกสภาพหลอดเลือดคนเราก็เหมือนสายยาง ถ้าเราเปิดด้วยแรงดันน้ำเยอะ ๆ วันนึงมันก็ปลิ มันก็รั่ว หลอดเลือดคนเราเช่นเดียวกัน ถ้ามันอยู่ภายใต้แรงดันเยอะ ๆ แรงดันที่มันกระทบหลอดเลือด เมื่อวันนึงหลอดเลือดเริ่มปริ เริ่มแตก ไปอยู่ตำแหน่งความจำ เป็นต้นเหตุอันหนึ่งทำให้อัลไซเมอร์ในอนาคตได้ ควรรีบรักษาให้ความดันอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ เพราะถ้ามันสูงหลอดเลือดเราจะปลิแตกตีบง่าย กระบวนการที่มันเกิดร่องรอยผิดปกติในสมองมันเกิดตลอดเวลา แต่บังเอิญไปเกิดในตำแหน่งที่ยังไม่เกิดอาการกับเรา ถ้าเราดูแลตัวเองได้ดีเรื่องความดัน โอกาสที่เกิดมันก็จะน้อยลง แต่จริง ๆ เรื่องความดัน กินยาแล้วหยุดได้ไหม มันก็มีใช้วิธีการธรรมชาติเยอะแยะมากมาย บางคนก็ใข้กลุ่มอาหาร อย่างพวกผักใบเขียว ผลไม้กลุ่มแบอร์รี่ ธัญพืช เป็นอาหารที่ช่วยเกี่ยวกับเรื่องของหลอดเลือด ปลาที่มีโอเมก้า3ปริมาณสูง เช่น พวกปลาแซลมอน ปลาทู เรียกว่า DASH Diet มันก็จะไปสอดคล้องกับ Mediterranean Diet มันก็จะไปรวมกับ DASH Diet มันจะเพิ่มขึ้นมา ก็คือน้ำมันมะกอกกกับไวน์แดง แต่ไวน์แดงต้องกินปริมาณวันละไม่ถึงแก้ว ถ้าเทียบแก้วไวน์ ก็หนึ่งในสี่ แต่ว่าจริง ๆ แล้ว ที่เราไม่ค่อยสนับสนุนเรื่องไวน์ เพราะว่าบ้านเราอ้างว่าเขาบอกกินแล้วชีวิตจะดี ก็กินไปเรื่อย ๆ ต้องกินเป็นปริมาณที่เหมาะสม เพราะว่า เหล้าเบียร์ก็จะไปทำให้สมองส่วนหนึ่งความจำยิ่งเสื่อมอีก ถ้ากินในปริมาณที่เหมาะสมมันจะเป็นผลดี
มาถึงคำถามสำคัญ แล้วถ้าเป็นอัลไซเมอร์มันจะรักษาได้ไหม ?
หมอฐานุตร์ : อัลไซเมอร์ในปัจจุบันยังรักษาไม่หายขาด ระยะเวลาดำเนินโรค คือ 5-10 ปี แปลว่ายังไงก็ตามเราเห็นอนาคตอยู่แล้วที่ 10 ปีติดเตียง แต่ว่าเริ่มรักษาตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต วันแรกที่เริ่มมีอาการผ่านไปจะ 10 ปีอาการจะแย่ลงเลยแบบดิ่ง แต่ถ้าเมื่อไหร่มีการรักษามันจะเพิ่มคุณภาพชีวิตแบบค่อย ๆ แย่ ไม่รุงรัง ไม่ค่อยวุ่นวาย
คนที่หลงลืมมาก ๆ กลับบ้านไม่ถูกเรามีวิธีช่วยเขายังไง ?
หมอฐานุตร์ : ผมเล่าประสบการณ์ตรงก่อน วันหนึ่งผมอยู่เวรที่โรงพยาบาล มีผู้ป่วยชาวต่างชาติคนหนึ่งมาแข่งมอเตอร์ไซต์ที่จังหวัดเชียงราย แล้วเขาก็รถล้ม กู้ภัยก็นำส่งมา เขามาคนเดียว กู้ภัยบอกว่าเห็นเขานอนอยู่บนถนน ตามตัวไม่มีอะไรเลยแต่เราไปเห็นสิ่งที่เรียกว่าริชแบรนด์ ข้างหลังเขาสลักชื่อยาด้วยว่ากินยาอะไรอยู่ ง่ายเลยครับ คนไข้คนนี้น่าจะแข่งเยอะ แล้วก็ชักกำเริบ ก็เลยได้ไอเดีย ก็เลยแนะนำผู้ป่วยหลายคน ถ้าเธอไม่รู้จะทำยังไงกลัวพ่อหายนะ เธอสลักริชแบรนด์ไว้หลาย ๆ อัน สลักว่าพ่อชื่ออะไร ผู้ดูแลชื่ออะไร เบอร์โทรอะไรพ่อเป็นโรคอะไรเอาไว้หลังริสแบรนด์ เสิร์ชในโซเชียลมีทำหลายเจ้าเลยไม่แพงหรือว่ามีมูลนิธิบางอันรับทำริสแบรนด์ให้ฟรี มี QR Code เสร็จสับรู้เลยว่าเป็นใคร ญาติชื่ออะไรแล้วมีญาติผู้ป่วยหลายคนริสแบรนด์ทำแล้วพ่อดึงทิ้งก็มีโอกาส ไม่รู้เรื่องก็ดึงทิ้งหมดรำคาญนี่ หมอเสื้อทุกตัวของพ่อผมสลักไว้หมดเลยด้านหลัง สกรีนเสื้อเลยครับเสื้อยืดที่พ่อใส่นี่สกรีนเลยครับว่าใครพบเห็นคนผู้นี้เป็นโรคอันนี้ อันนี้ ขอกรุณาติดต่อเบอร์นี้ เพราะไม่ว่าพ่อจะใส่เสื้ออันไหนก็มีสกรีนหมด
โรคอัลไซเมอร์มีตัวยาใหม่ ๆ ที่สามารถใช้รักษาให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมีไหม ?
หมอฐานุตร์ : จริง ๆ การรักษาโรคนี้ มีด้วยกันอยู่หลายอย่างมีทั้งการไม่ใช้ยากับการใช้ยา ยาในกลุ่มเก่า ๆ ที่ปัจจุบันเราใช้นี่ก็มีอยู่ เช่น ยากินช่วยชะลอความเสท่อมสภาพของสมองได้ ชะลอได้แต่สุดท้ายจบเหมือนกันคือติดเตียง แต่ชะลอแปลว่าเพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่มความสุขให้ครอบครัวมีเวลาให้รักษา มีเวลาให้คิดวิเคราะห์อีกหลาย ๆ อย่างว่าจะวางแผนชีวิตยังไงในอนาคตเป็น 7-8 ปีก่อนที่จะติดเตียง แต่ถ้าไม่มีการรักษาใด ๆ เกิดขึ้นสามสี่ปีอาจจะเริ่มติดเตียงละ แต่ในปัจจุบันนี้ต่างประเทศเขามีงานวิจัยใหม่ ๆ เรียกยาพุ่งเป้าหรือบางคนเรียกยามุ่งเป้า แล้วแต่ใครจะเรียกเราเคยได้ยินในการรักษามะเร็งหรือมุ่งเข้าไปที่จุดมะเร็งเลย แต่โรคอัลไซเมอร์ก็เหมือนกันคือยาตัวนี้ไปดักเอาสารพิษอะไมลอยด์เบต้าออกมาเลยจากสมองฉีดเดือนละหนึ่งเข็มไปเรื่อย ๆ
มีแล้วใช่ไหมคะ ?
หมอฐานุตร์ : มีแล้วแต่ปัจจุบันยาตัวนี้ยังไม่เข้าเมืองไทย แต่ในงานวิจัยก็ระบุว่าคนที่ใช้ยาตัวนี้คุณภาพชีวิตดีขึ้นจริง แล้วก็ตัวอะไมลอยด์สารพิษ มันลดลงจริงในสมองแต่เมื่อไหร่หยุดฉีดก็กลับมาใหม่ นั่นแปลว่ามันต้องใช้ไปเรื่อย ๆ
ฉีดทีคงแพงน่าดูเลย ?
หมอฐานุตร์ : มหาโหด ตอนนี้ยายังไม่เข้าเมืองไทย เท่าที่ผมได้ข่าว ต่อปีน่าจะเกินเจ็ดหลัก สมมติว่าถ้าเขาชะลอการติดเตียง สมมติเขาควรติดเตียงตั้งแต่ห้าปีหลังมีอาการไปติดเตียงที่แปดปี ไอ้สามปีนั้นสมมติเขาเป็นเจ้าสัวหาเงินได้เดือนละร้อยล้านมันก็คุ้ม แต่ในอนาคตถ้าเขามีการพัฒนายาที่มากขึ้น ราคายาอาจจะถูกลงก็ได้ มีหลายบริษัทที่ทำมาแข่งกันราคาก็อาจจะค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นยุคเราหรือเปล่านะพี่ตั๊ก
วิธีอื่นที่ไม่ใช้ยา มีวิธีไหนบ้าง ?
หมอฐานุตร์ : อันนี้เป็นเรื่องเด็ดเลยครับที่ทุกคนจะต้องทราบ เป็นวิธีที่คุณทำเองที่บ้านได้ เป้าหมายคือให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้และเข้าสังคมได้ใกล้เคียงปกติ อันดับแรกจะต้องส่งเสริมการรับรู้ให้เขาดีขึ้นก่อน การรับรู้คืออะไรบ้างก็อย่างเช่นสายตา สมมติว่ามีแบบต้อกระจกมองไม่เห็นก็จะไปรับรู้อะไรเพิ่มเติมไม่ได้นี่ก็ต้องไปทำเรื่องดวงตาให้ดี อันต่อไปคือหู ถ้าหูตึงจะมาช่วยเรื่องอะไรก็ไม่ได้ก็ไปรักษาเรื่องหู หรือโรคทางกายบางอย่างที่เป็นอุปสรรคในการดูแลที่บ้าน เช่น เข่าก็เริ่มไม่ดีกันไปรักษาเข่าให้ดี ทั้งหูทั้งตาทั้งโครงสร้างร่างกายอาจจะต้องดูแลให้ดี ที่สำคัญครับผู้ดูแลซึ่งอาจจะไม่ใช่ญาติก็ได้
อันนี้ต้องมีความรู้ระดับหนึ่งว่าเราต้องมีความอดทน ต้องมีความเคารพในผู้ป่วย แม้เขาจะเป็นโรคพูด ๆ ไปแล้วก็ลืมแต่นั่นคือเปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่เราคนหนึ่ง ที่ต้องให้ความเคารพเขาในศักดิ์ศรีและคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของเขา ซึ่งอันนี้ที่ต้องเล่าให้ผู้ดูแลฟังก่อนอาจจะไม่ใช่ญาติก็ได้ เวลาผ่านไปสองปีสามปีสี่ปีโรคมันอาจจะรุนแรงขึ้น เขาอาจจะต้องใช้ความอดทนมากขึ้น ซึ่งพอบอกไว้ก่อนเขาจะได้เริ่มเตรียมใจแล้วส่วนหนึ่ง อันนี้คืออันดับแรก จากนั้นเราก็ต้องปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสม
เช่น คุณพ่ออยู่ชั้นสองต้องเดินขึ้นบันได ก็ลงมาอยู่ชั้นล่างหรืออะไรแบบนี้ก็ต้องปรับสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย ห้องน้ำถ้าลื่น ๆ ก็ต้องหาวิธีให้ไม่ลื่น เปลี่ยนพื้นเปลี่ยนอะไรก็ทำไป ทำบ้านให้สะอาดสะอ้านไม่รกรุงรัง อันนี้คือปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านจากนั้นวิธีการที่ไม่ใช้ยานะครับมี 3 อย่าง หนึ่งก็คือเพิ่มการรับรู้ สองจัดการอารมณ์ สามเรื่องพฤติกรรม อันที่รับรู้นะครับเราต้องทำอยู่ 4 อย่างง่าย ๆ เลยนะครับ อันแรกเขาเรียกว่าเรียลลิตี้ออเรนเตชั่น พูดสภาพความเป็นจริงให้ฟังทุกวัน ให้เขาดูทีวี ให้อ่านหนังสือพิมพ์ ดูปฏิทินทุกวัน ก็คือให้รู้ว่าวันนี้วันอะไรเขาอยู่ที่ไหน เหตุการณ์บ้านเมืองเป็นยังไง ให้เขารู้เหตุการณ์ปัจจุบันว่ามันคืออะไรยังไงวันไหน อันที่สองก็คือว่าเรื่องความจำให้เสริมความจำบ่อย ๆ เช่นอาจจะเล่นไพ่ เพราะผู้สูงวัยชอบเล่นไพ่ เล่นเกม เล่นทายเพลงกัน ทางเพลงว่าเนื้อร้องเพลงนี้ชื่อเพลงอะไร เกมอื่น ๆ ฝึกเมมโมรี่แต่อันนี้ต้องไม่เวอร์เกินไป คืออย่าตะบี้ตะบันต้องอย่างนี้ ๆ คนไข้จะเครียด อันที่สามก็คือเรื่องของสกิลทักษะ เช่น ไปฝึกทำอาหารกันแต่อย่าไปเครียดมากว่าต้องทำให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ท่าเต้นรำ อันนี้คือเป็นสกิลในชีวิตประจำวัน ต่อมาอันที่สี่ก็คือเรื่องของการใช้ AI หรือคอมพิวเตอร์มาช่วยให้เล่นเกมบางอย่าง เช่น เล่นเกม ควบคุมเกม โดยใช้ทักษะมือมันมีขายอยู่แล้วอะไรก็ได้ฝึกสมอง จับผิดภาพ เป็นการรักษาแบบไม่ใช้ยาอันนี้อันที่หนึ่งเขาเรียกว่าการรับรู้ อันต่อมาอันที่สองเรียกว่าการควบคุมด้านอารมณ์ อารมณ์นี่ง่ายมากเราเห็นทุกคนทำอยู่แล้วแต่เราไม่รู้อันนี้เรียกว่าอะไร เขาเรียกว่าการทำรีมินิซีน รีคืออีกครั้งหนึ่ง มินิคือเล็ก ๆ ซีนคือฉาก เบื้องหลัง ภาษาง่าย ๆ คือรำลึกความหลังที่เขามีความสุข เช่น เอารูปสมัยเขาแต่งงานมาให้ดู พ่อเล่าให้หน่อยว่าในนี้มีใครบ้าง เขาก็จะฝึกคิด อ๋อเรื่องเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว คิดๆๆ พอเริ่มคิดมันมีสารเคมีสมองหลั่งออกมา มันมีความจำหลั่งออกมามันก็ช่วยได้ การกระตุ้นแบบนี้ทำให้เขารู้สึกมีความสุข เป็นความสุขเล็ก ๆ ณ เวลานั้นมินิซีน อาจจะพ่อช่วยเล่าตอนพ่อจีบแฟนคนแรกให้เราฟังหน่อย ผิดหรือถูกไม่รู้ให้เล่ามา หรือว่าให้เล่าตอนจีบแม่ให้ฟังหน่อย แล้วก็อันที่สามคือพฤติกรรมการควบคุมพฤติกรรมที่อาจจะรุงรังวุ่นวายถ้าเขามีพฤติกรรมแบบนั้นเยอะ อันนี้เราก็ทำการหลีกเลี่ยงความสนใจ เช่นสมมติเขาเคบมีรุงรังอยากออกจากบ้านไปหาใครไม่รู้ เราก็ให้เขาออกกำลังกายบ่อย ๆ ให้ทำอย่างอื่นแทนทำบ่อย ๆ ทุกวัน ๆ จนเขาลืมว่าจะออกนอกบ้านไปเลย
เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความอดทนด้วยมีใจที่จะต้องดูแล ?
หมอฐานุตร์ : ถูกต้อง และสุดท้ายคือ Caregiver หรือคนดูแลจะต้องมีเวลาให้ตัวเอง จะต้องดูแลตัวเองให้สุขภาพแข็งแรง จิตใจจะต้องดีถ้าไม่ใช่ญาติหรือญาติหลายคนจะต้องผลัดเวรกัน ให้คนนี้ไปพักบ้าง ให้ไปพักผ่อนสบายจิตใจ
มันเครียดใช่ไหมเลี้ยงผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์ ?
หมอฐานุตร์ : ถูกครับ เครียดเพราะผู้ป่วยเหล่านี้ เมื่อวันหนึ่งก็ต้องจากไปสภาพที่อาจจะโดดเดี่ยว อาจจะติดเตียง แต่เวลาเราเลี้ยงลูก ผู้ป่วยอัลไซเมอร์นี่แหละลูกเราแต่เรารู้แล้วในอนาคตจะโตขึ้น แต่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์นี่รู้อยู่แล้วไม่โตขึ้น ค่อย ๆ แย่ลง ๆ อันนี้คนดูแลก็จะเริ่มท้อแท้ บางคนก็ซึมเศร้าไปพร้อม ๆ กับผู้ป่วยก็มีที่สำคัญครับเรื่องสุดท้ายที่จะไม่ใช่เรื่องของการดูแลละแต่เป็นเรื่องของประเด็นด้านกฎหมาย ในแง่ที่เป็นหมอเจ้าของไข้รักษาโรคนี้ พบบ่อย ๆ ว่าวันดีคืนร้ายมีหมายศาลมาแล้ว เชิญไปขึ้นศาล บอกว่าคุณหมอช่วยผู้พิพากษาหน่อยว่าขณะที่พ่อไปเซ็นชื่อยกที่ให้คนนั้นมีสติสัมปชัญญะไหม ถูกซึ่งอันนี้อาจจะเป็นประเด็นที่หลายคนไม่ทันคิด แต่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณหมอบอกแล้วว่ามีผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในบ้านประเด็นแรก ๆ ที่ต้องคุยกันในครอบครัวคือเมื่อพ่อไม่รู้เรื่องแล้ว จะจัดแบ่งสมบัติกันอย่างไร ตั้งแต่ระยะแรกที่พ่อยังรู้เรื่อง อาจจะเซ็นด้วยวิธีไหนหรือว่าปรึกษาสำนักงานอัยการมีบริการอยู่ไม่เสียเงิน แต่ถ้ามีเงินหน่อยก็ไปสำนักงานทนายความหรือว่าถ้าตกลงกันไม่ได้ก็คราวนี้แหละให้ผู้พิพากษาช่วย
สามารถติดตาม "Tuck Talk" ได้ที่ช่องทาง Podcast : Life Dot , Facebook: Life Dot , Youtube : Life Dot วันพฤหัสบดี (สัปดาห์เว้นสัปดาห์) เวลา 18.00 น.
คลิกชมรายการย้อนหลัง : https://www.youtube.com/watch?v=sHwEiroxLeA
สามารถติดตามและอัปเดตข่าวสารได้ที่ช่องทาง
Podcast : Life Dot , Facebook: Life Dot , Youtube : Life Dot , IG : lifedot.official ,
TikTok : lifedot_official , Spotify : Lifedot_official
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี