จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ภาพยนตร์ Jenny, I Love You เริ่มมาจาก คุณต้น-จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์ ที่ติดตามผลงานของ คุณสืบ-บุญส่ง นาคภู่ มาตั้งแต่แรกๆ และสังเกตเห็นมาตลอดว่า ผู้กำกับคนนี้มักจะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอีสาน ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์ไทยมีความหลากหลายมากขึ้น เช่นเดียวกันกับการมาของกระแสหนังไทบ้าน จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจในกาสร้างภาพยนตร์อีสานเรื่องราวของสาวสู้ชีวิตแต่ชีวิตสู้กลับ
ในขณะเดียวกัน คุณต้น ก็เล็งเห็นว่า คุณสืบ เป็นผู้กำกับที่กำกับการแสดงและฉากดราม่าต่างๆ ได้สมจริง แต่แม้จะชื่นชอบในผลงานของ คุณสืบ แต่ คุณต้น มองว่า ผลงานของ คุณสืบ นั้นยังสามารถมีสีสันและรสชาติที่จัดจ้านขึ้นได้อีกเลยอยากจะสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน นำความเป็นตัวเองลงไปผสมสานในผลงานของ คุณสืบ ด้วย จึงได้ทำการพูดคุยกันเพื่อสร้างภาพยนตร์ร่วมกัน
“คือพี่รู้สึกว่าวันนี้ หนังอีสานมันมีเยอะแล้ว มันมีอีสาน ตลกอีสาน หนังผีอีสาน อะไรแบบนี้ มันก็เริ่มมา แต่พี่รู้สึกว่า หนังสไตล์แบบสู้ชีวิต แล้วก็มีความกดดัน เป็นเวลาที่ผู้หญิงต้องสู้กลับแนวๆ นี้มันยังไม่มีให้เห็น ก็รู้สึกว่า เราอยากจะทำอะไรที่มันแตกต่างจากหนังอีสานทั่วๆ ไป ที่เคยมี
หลักการทำหนังมันมีอยู่ข้อหนึ่ง คือ เราควรทำหนังอย่างที่ตัวเองถนัด แล้วก็ทำอะไรที่เกี่ยวกับสังคมที่คุณเป็น มันถึงออกมาได้ดี หนังมันเป็นภาพสะท้อนชีวิตผู้กำกับ ตัวชีวิตของเขาเป็นยังไงมันก็จะบอกออกมาเป็นแบบนั้น ตลอดเวลาหนัง พี่สืบ ที่พี่ดูมา แกอยู่แต่อีสาน แล้วพี่รู้สึกว่า เหมือนเขามาก่อนกาลเลยก็ได้นะ เพราะหลังๆ มันก็มี หน้าฮ่าน ไทบ้าน สัปเหร่อ ออกมา
ถ้าถามใจเราที่เป็นคนชอบทำหนังที่มันมีความแฟนตาซี ชอบ ไซ-ไฟ ความแปลกๆ แบบผู้กำกับในดวงใจพี่คือ David Cronenberg ชอบทรงอย่างนั้น หรือแบบ Robert Eggers คือเราชอบอะไรแบบนั้น พอดูหนังของ พี่สืบ ปุ๊บ ถ้าถามพี่ มันเหมือนกับอาหารที่มันไม่ได้ใส่มะนาว เหมือนกับรสนิยมมันยังขาดตรงนี้อยู่ พี่คิดว่ามันต้องมีอะไรมากกว่านี้ เรารู้สึกว่าเราอยากจะใส่ความเป็นตัวเราลงไปในนั้นด้วย นี่คือสิ่งที่พี่รู้สึกว่ามันเอามาถัวกันได้ ก็เลยมาคุยกับแกว่าไอเดียแบบนี้แกเอาไหม” -จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์
แรกเริ่มเดิมทีไอเดียของภาพยนตร์เรื่อง Jenny, I Love You ของ คุณสืบ นั้น มาจากคำว่า “อีปึก” หญิงสาวไม่ทันคน จนตรอก และพยายามดิ้นรน เพื่อให้มีชีวิตตัวเองมีที่ทางที่ดีขึ้น เพื่อที่จะเล่าเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงผู้หญิงที่ถูกกดทับในสังคมไทย ที่เป็นแบบสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่ง คุณสืบ มองว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงมีเกิดขึ้นในสังคมไทย เพียงแต่มันแค่เปลี่ยนรูปไปเท่านั้น นั่นทำให้ภาพแรกของภาพยนตร์เรื่องนี้ในหัวของ พี่สืบ คือผู้หญิงขับรถสิบล้อ
“แกบอกภาพแรกที่แกเห็นในหนังเรื่องนี้คือฉาก ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนึง อวบๆ ขับรถสิบล้อ แบบดูทะมัดทะแมง” - จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์
แล้วเราจะเล่าผ่านใครดี เราโคตรเห็นใจคนตัวเล็กๆ เลย เห็นใจคนที่ไม่มีโอกาส แต่ว่าคนไม่มีโอกาสนี่มันมีเยอะ แล้วจะต้องแบบไหน..ก็ต้องผู้หญิงสาวๆ สวยๆ นี่แหละ เพราะถ้าผู้หญิงสาวๆ สวยๆ ยังไม่มีโอกาส ขนาดสวยแล้วยังไม่มีโอกาสอีก แล้วเธอจะสู้ชีวิตยังไง? เราตั้งคำถามแบบนี้
“ผู้หญิงคนนี้ก็เป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ด้อยโอกาสคนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ด้อยโอกาสแบบไม่มีศักดิ์ศรีนะ เธอพยายามที่จะมีศักดิ์ศรีแล้ว แต่มันไม่ได้ไง เพราะโครงสร้างสังคมไทยมันแย่ มันไม่มีทางเลือกให้มากนัก คนในชนบทต้องการชีวิตที่ดีขึ้น แล้วมีวิธีไหนบ้าง ถ้าเกิดไม่ได้มีความรู้มากนัก มีแค่ความสวยทางกาย แล้วมันจะมีทางเลือกไหม พอทางเลือกมีน้อยลงเรื่อยๆ แล้วสังคมไทยยิ่งวัดกันที่เปลือกอีก เพราะงั้นเราก็เลยไม่เล่าสังคมผู้หญิงที่คนสวย แต่เป็นไฮโซ มีการศึกษา แต่เรามาเล่าคนสวยที่ไม่มีทางเลือก เป็นตัวแทนผู้หญิง ผู้หญิงต่างจังหวัด ผู้หญิงตัวเล็กๆ ในสังคมไทย ซึ่งมีอาชีพให้ความสุขแก่ผู้ชาย นี่คือจุดเริ่มต้น” - บุญส่ง นาคภู่
ความท้าทายในการหาตรงกลางระหว่างสองผู้กำกับ
“มันเป็นอีสานแบบร่วมสมัย ถึงตัวบ้านจะเก่า แต่ข้างในนั้นไม่เหมือนเดิม”
อย่างไรก็ตามความท้าทายในการทำภาพยนตร์ร่วมกันในโปรเจกต์ Jenny, I Love You คือวิสัยทัศน์ที่แทบจะแตกต่างกันสุดขั้วของ คุณสืบ และ คุณต้น ในขณะที่ฝั่ง คุณสืบ นั้น เล่าเรื่องราวผ่านมุมมองคนชายขอบ และชีวิตชนชั้นรากหญ้า มาโดยตลอด แต่กลับกัน คุณต้น มักชอบเล่าเรื่องผ่านคนในเมืองหลวง หรือคนชั้นกลางมาตลอด ทำให้ทั้งสองคนต้องทำการปรับจูน มิกซ์แอนด์แมทช์ เพื่อหาจุดร่วมตรงกลางให้ออกมากลมกล่อม และมีลายเซ็นของทั้งสองคนในผลงานเรื่องนี้ด้วย จนออกมาเป็น “วิไลย์บุรี” จังหวัดสมมติในเรื่อง ที่มีความเป็นอีสานแบบร่วมสมัย ที่ความเป็นอยู่ จะไม่ใช่คนจนแบบชนชั้นรากหญ้า ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางระหว่าง คุณต้น และ คุณสืบ
“ก่อนที่จะมารวมตัวกับ คุณต้น นี่ก็เหนื่อย เพราะว่าเรามองโลกไม่เหมือนกัน คือของผมเนี่ย Genre ดราม่าอยู่แล้ว แต่ พี่ต้น เนี่ยเข้ามา ทำให้มันสนุกมีสีสันขึ้น ซึ่งเราก็แฮปปี้นะ เฮ้ยดีว่ะ ไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน แล้วเราก็สนุก มันมิกซ์ Genre แล้วมันมิกซ์มุมมองด้วย มุมมองมันมาจากคลาสที่เราอยู่ มุมมองที่มีต่อโลกในสังคม แล้วผู้หญิงเราก็มองคนละแบบ เรามองจากล่างลงไป พี่ต้น มองจากข้างบนลงมา ซึ่งสุดท้ายมันมาอยู่ตรงกลาง
ต้นไอเดียของพี่เลย มาจาก อีปึก คอนเซปต์มันคือไม่มีอะไรดี นอกจากรูปลักษณ์ภายนอก แต่มันไม่ตรงความต้องการของผู้ใหญ่ ระหว่างทาง เราก็เกลี่ยนกันให้สีสันมันลงตัว แบบที่ พี่ต้น เองก็แฮปปี้ ผมก็แฮปปี้ นี่คือการทำงานร่วมกัน งั้นเราก็ลดธง เขาก็ลดธงลงครึ่งทาง จนเกิดงานชิ้นนี้
ตอนแรกบ้านที่พี่คิดไว้แต่แรกมันแย่กว่านี้เยอะ จริงๆ บ้านเดิมเรามันจะแคบๆ บ้านโบราณชายป่าเลย ก็เป็นอีกแบบนึง ซึ่งพอปรับจูนกันแล้ว มันก็นำไปสู่การเลือกบ้าน การแคสต์นักแสดง นำมาสู่พร็อพ หมดทุกอย่าง การตัดสินใจที่ชัดขึ้น สุดท้ายบ้านที่ได้นี้คือการผสมผสาน
ความชนบทในเรื่องเป็นชนบทแบบคอนเทมนะ มันไม่ใช่ชนบทแบบนอสตัลเจียเหมือน 20-30 ปีที่แล้ว อันนี้เป็นชนบทร่วมสมัย บ้านเก่า แต่ในนั้นไม่เหมือนเดิม มีความเป็นโมเดิร์นขึ้น เพราะว่าทุนนิยมเข้าไป มีความเปลี่ยนแปลงเข้าไป มีความเก่ากับความใหม่อยู่ในนั้นแล้วตีกันเอง แล้วก็งงว่า เป็นที่ไหน ชาวบ้านจริงๆ งงนะ ว่าจะไปไหน งงกับชีวิต ว่าเขาจะรักษาดั้งเดิมไหม เขาจะรักษาศักดิ์ศรี หรือเขาจะเอาเงิน มันก็พยายามทดลองมีศักดิ์ศรีนิดนึงแต่ว่าไม่รอด สุดท้ายพ่อมันก็แย่ แม่มันก็ทนอยู่กับพ่อเลวๆ แบบนี้ได้ไง สังคมเฮงซวย นางเอกเราก็เป็นเด็กรุ่นใหม่ เยาวชนปลดเอก
เพราะงั้น ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง ท่ามกลางวิกฤตกาล ถ้าครอบครัวมันอบอุ่น มันก็ไปได้ แต่นี่ครอบครัวก็พังอะ น้องก็เป็นเด็กแว๊น ซึ่งเงินก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในชีวิตของมันแล้วในเวลานี้ พ่อก็ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้มีเงิน ยอมแม้แต่จะขายลูกสาวกิน” - บุญส่ง นาคภู่
“เรียกว่าการทำงานของพี่มันเปลี่ยนไปเลย ตั้งแต่เขียนบทเลยคือมันก็จะมีตั้งแต่แบบภาพฉากคนละแบบ คือ พี่สืบ เนี่ย แกทำหนังแบบที่เดิมทีแล้ว บ้านจะจนกว่านี้ แต่พี่ก็บอกว่า เฮ้ย พี่สืบ ผมไม่ต้องการอีสานเบอร์แบบที่พี่เคยทำนะ ผมต้องการอีสานแบบ นิว อีสาน ซึ่งมันไม่ต้องเป็นอีสานแบบทำนา เราไม่ต้องนำเสนอภาพแบบนั้นก็ได้ ให้มันเป็นอีสานแบบใหม่นิดนึง แล้วพี่สืบเขาก็จูน” - จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์
สาวคาราโอเกะ ฉายา และรถสิบล้อ
“ในสังคมคาราโอเกะ สังคมคนกลางคืน มันต้องมีชื่อที่มันเร้าอารมณ์”
ความโดดเด่นของของภาพยนตร์ Jenny, I Love You คือบรรดาวัตถุดิบต่างๆ ที่ผู้สร้างเลือกสรรค์มานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการทำหนังอีสานสู้ชีวิตในรูปแบบใหม่ ที่ไม่มีเรื่องไหนเคยทำมาก่อน ภาพแรกของหนังที่เป็นผู้หญิงขับรถสิบล้อ หรือแม้แต่การวางตัวละครให้เป็นสาวคาราโอเกะ ที่มาพร้อมฉายาเจนนี่ ทั้งๆ ที่ชีวิตจริง เธอมีชื่อว่า จี๊ด
ท่ามกลางเรื่องราวที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมมติอย่าง วิไลย์บุรี จี๊ด หญิงสาวที่พยายามดิ้นรนเพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น ต้องยอมกัดฟันหันไปหาอาชีพที่ตัวเองไม่เคยคิดแม้สักนิด ว่าอยากจะเป็น อย่าง สาวคาราโอเกะ เพื่อถีบชีวิตให้ตัวเองไปได้ไกลกว่าเดิม โดยเหตุผลที่ผู้กำกับทั้งสองคนเลือกให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องราวผ่าน สาวคาราโอเกะ นั้น เป็นเพราะว่า นี่คืออาชีพที่คนไม่มีทางเลือกในชีวิตสักเท่าไหร่นักเลือกมาทำ ในขณะเดียวกันมันก็เป็นเหมือนตัวหลอกล่อคนดูด้วยเช่นกัน
“สาวคาราโอเกะ น่าจะเป็นอาชีพที่ สำหรับคนไม่มีทางเลือก เพราะจริงๆ เจนนี่ เป็นคนชอบอิสระนะ คืออย่าไปบังคับ แล้วก็เป็นอาชีพที่คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่มีทางเลือกมาทำ ในขณะเดียวกันมันก็เป็นอาชีพล่อใจด้วย คือคนส่วนใหญ่พอเห็นผู้หญิงทำอาชีพนี้ ก็จะคิดและเริ่มดูถูกแล้วว่า คนแบบนี้ไม่ค่อยมีศักดิ์ศรี คนแบบนี้ใครให้เงินก็เอา
แต่จริงๆ แล้วอาชีพนี้มันเป็นตัวล่อให้คนตัดสินก่อน จริงๆ นะ เราวางไว้ถึงขั้นนี้เลยว่า ในการกำกับ เราจะหลอกคนดูให้มีอารมณ์ เห็นตัวละครตัวนี้ แล้วเกิดความต้องการ คือถ้าคนดูมีอารมณ์ร่วมเมื่อไหร่อยากได้ตัวละครตัวนี้ แปลว่าคุณตกหลุมพรางเราแล้ว คุณเป็นเป้าหมายเราแล้ว สุดท้ายก็จะพบว่า ผู้หญิงที่คุณดูถูกเนี่ย เขามีศักดิ์ศรีนะ” - บุญส่ง นาคภู่
แต่จาก จี๊ด สาวบ้านๆ ชาวนา หน้าสวยที่ต้องดิ้นรนเพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น จะผันตัวสู่การเป็น สาวคาราโอเกะ ได้นั้น จะใช้ชื่อ จี๊ด ก็คงจะไม่ดึงดูดใจเท่าไหร่ ดังนั้นเพื่อให้เธอฐานะที่ดีขึ้น และมีหน้ามีตาทางสังคมมากขึ้นแม้เพียงนิด จึงเกิดเป็นฉายา หรือ aka ว่า เจนนี่ ตามมา
“Fact ข้อหนึ่งในสังคมคาราโอเกะ สังคมคนกลางคืน มันต้องมีชื่อที่มันเร้าอารมณ์ ในเชิงมุมสังคม การตั้งชื่อแบบนี้ทำให้เขาอัปคลาส ทุกวันนี้ชนบทเป็นแบบนี้หมดเลย ชื่อภาษาอังกฤษหมด ฝรั่งหมด” - บุญส่ง นาคภู่
“มันเป็นแบบนี้เยอะ แล้พี่ก็รู้สึกว่า ไอ้ความเป็นอีสาน ปัจจุบันมันจะมี aka มันจะมีแบบนี้เยอะมากอยู่ในโซเชียล แล้วอีกอย่างไอเดียตัวเจนนี่พี่เป็นคนคิดของพี่นะ ไอ้ตัว จี๊ด เนี่ย มันเป็ตัวละครเดิมของมัน ที่บ้านจะชื่อ จี๊ด แต่พอในฉากทั้งหลายทั้งแหล่ การต่อสู้ชีวิต จนมันมาถึงกรุงเทพฯมันเป็น เจนนี่ เหมือนกับมันมีสองพาร์ทของมัน” - จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์
เพราะนี่คือเรื่องราวของผู้หญิงที่ถูกดทับในสังคมชายเป็นใหญ่ นั่นทำให้ภาพแรกของหญิงสาวขับรถสิบล้อ ซึ่งเป็นภาพแรกของหนังเรื่องนี้ มีความสำคัญกับเรื่องเช่นกัน มองผ่านๆ มันอาจเป็นเพียงภาพของผู้หญิงสู้ชีวิตธรรมดาๆ คนหนึ่ง แต่แท้จริงแล้ว รถสิบล้อมีนัยยะที่แฝงอยู่ และเป็นภาพสะท้อนของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
“ทีแรกเป็นกระบะด้วยนะ แต่ไม่ได้กระบะมันไม่ทรงพลัง มันต้องรถบรรทุก ต้องสิบล้อ แล้วต้องหน้ายาวด้วยนะ คือมันเป็นสัญลักษณ์ของผู้ชาย ไอ้ความใหญ่ ความบึกบึน มันคืออำนาจของผู้ชาย และรถบรรทุก รถสิบล้อเวลามันอยู่บนถนน มันกินถนนหมดเลยนะ เป็นเทพเจ้าของถนนเลย มันต้องหลบ แล้วพอผู้หญิงขับ แทนที่จะเป็นผู้อาศัย แปลว่าเธอเป็นเจ้าของแล้ว เธอควบคุมแล้ว” - บุญส่ง นาคภู่
Jenny, I Love You ฉายแล้ววันนี้ ที่ เอส เอฟ ซีเนมา และ โรงภาพยนตร์ House Samyan
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี