นายกรัฐมนตรีแคนาดาและอังกฤษ เรียกร้องให้สอบสวนอย่างเต็มรูปแบบกรณีเครื่องบินโดยสารยูเครนตกใกล้กรุงเตหะราน คร่าชีวิตผู้โดยสารทั้งหมด 176 ชีวิต เพราะพบหลักฐานน่าเชื่อได้ว่าถูกขีปนาวุธอิหร่านยิงตกเพราะเข้าใจผิด
10 มกราคม 2563 นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดแห่งแคนาดา แถลงเรียกร้องให้สอบสวนเหตุเครื่องบินโดยสารโบอิง 737 –800 ของสายการบินยูเครนอินเตอร์เนชันนัลแอร์ไลน์ หรือ UIA ของยูเครน เที่ยวบิน พีเอส 752 เดินทางจากกรุงเตหะราน เมืองหลวงอิหร่านไปยังกรุงเคียฟ เมืองหลวงยูเครน เมื่อช่วงเช้าวันพุธตามเวลาอิหร่าน พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ รวม 176 ชีวิต ประสบเหตุตกใกล้สนามบินอิหม่ามโคไมนี หลังทะยานขึ้นบินได้ไม่กี่นาที ทำให้ผู้คนบนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด โดยผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่าน 82 คน และชาวแคนาดา 63 คน หลังพบหลักฐานชี้ชัดได้ว่าเครื่องบินอาจถูกขีปนาวุธของอิหร่านยิงตก เพราะเหตุเครื่องบินตกเกิดขึ้นไม่นานภายหลังจากกองทัพอิหร่านระดมยิงขีปนาวุธหลายลูกถล่มฐานทัพทหารสหรัฐในอิรัก อยู่ทางด้านตะวันตกของอิหร่าน
เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ที่บอกว่ารัฐบาลอังกฤษพร้อมทำงานใกล้ชิดกับแคนาดาและประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว
ส่วนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ แถลงถึงเรื่องนี้เช่นกันโดยระบุเพียงความสงสัยเกิดอะไรขึ้นกับเครื่องบินโดยสารของยูเครน แต่ไม่เอ่ยถึงรายละเอียดอื่นๆ
ขณะที่สื่อโทรทัศน์ซีบีเอสของสหรัฐและแหล่งข่าวกรองของสหรัฐ ต่างระบุอ้างข้อมูลจากดาวเทียมของสหรัฐ ตรวจพบความเคลื่อนไหวของขีปนาวุธ 2 ลูกระเบิดบริเวณใกล้จุดเครื่องบินตก ทั้งเชื่อว่าขีปนาวุธที่ถูกยิงใส่เครื่องบินโดยสารยูเครนเพราะความเข้าใจผิด คือ ขีปนาวุธแบบยิงจากพื้นดินสู่อากาศ “ตอร์” ผลิตในรัสเซีย อย่างไรก็ดี อิหร่านปฏิเสธรายงานข่าวดังกล่าว ทั้งระบุเป็นเพียงข่าวลือไร้เหตุผล
ส่วนท่าทีของรัฐบาลยูเครนก่อนหน้านี้ ตั้งประเด็นสงสัยเครื่องบินตก อาจเกิดขึ้นได้จากถูกขีปนาวุธยิงตก หรือเครื่องบินอาจชนกับอากาศยานอื่นๆ หรือไม่ก็เกิดจากเครื่องยนต์ขัดข้อง และอาจเกิดระเบิดจากภายในเครื่องบินจากเหตุก่อการร้าย
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวว่า รัฐบาลยูเครนกำลังพิจารณาถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ และได้ขอให้ผู้คนงดเว้นการคาดเดาถึงทฤษฎีสมคบคิดและด่วนสรุป
ทั้งนี้ ทางการอิหร่านพบกล่องดำบันทึกข้อมูลการบินแล้วทั้ง 2 กล่องและอยู่ระหว่างรอตรวจสอบข้อมูล แต่อิหร่านจะไม่ส่งกล่องดำให้แก่บริษัทโบอิงหรือเจ้าหน้าที่สหรัฐ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะส่งกล่องดำไปตรวจสอบที่ประเทศใด
ตามหลักการบินสากลแล้ว ประเทศที่เป็นจุดที่เครื่องบินตกมีสิทธิจะดำเนินการสอบสวน ดังนั้นสำนักงานการบินของอิหร่านจะสอบสวนเรื่องนี้ ส่วนทางการยูเครนก็สามารถส่งตัวแทนมาร่วมสอบสวนได้ อย่างไรก็ดี ตามหลักการของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศหรือไออาตา ที่ทั้งอิหร่าน ยูเครน และสหรัฐล้วนเป็นสมาชิก คณะสอบสวนอุบัติเหตุเครื่องบินจะนำโดยประเทศที่เกิดเหตุ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินชี้ว่า มีเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถวิเคราะห์กล่องดำ เท่าที่มีอยู่คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหรัฐ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี