‘ไช่อิงเหวิน’ชนะเลือกตั้งไต้หวัน สะท้อนปชช.ไม่อยากรวมกับจีนแผ่นดินใหญ่
12 ม.ค. 2563 สำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ เสนอข่าว "President Tsai Ing-wen wins Taiwan election" เมื่อ 11 ม.ค. 2563 ระบุว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในวันดังกล่าว ไช่อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ปธน.คนปัจจุบัน ยังรักษาตำแหน่งไว้ได้เป็นสมัยที่ 2 หลังได้คะแนนร้อยละ 57.1 หรือ 8.17 ล้านเสียง เอาชนะคู่แข่งสำคัญอย่าง ฮั่นโกวยู (Han Kuo-yu) ที่ได้คะแนนร้อยละ 38.6 หรือ 5.52 ล้านเสียง
ไช่ กล่าวหลังทราบข่าวชัยชนะของตนว่า ขอขอบคุณทุกคนที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งไม่ว่าจะลงคะแนนให้ใครก็ตาม ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่ละครั้งตนต้องการแสดงให้โลกเห็นว่าประชาธิปไตยคือวิถีชีวิตของชาวไต้หวัน และเป็นค่านิยมหลักของประเทศที่มีชื่อเรียกว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยไต้หวัน ( Democretic Republic of Taiwan)
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้พรรค DPP ต้นสังกัดของไช่ทำผลงานได้ไม่ดีนักช่วงเลือกตั้งปลายปี 2561 ทำให้เธอต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค แต่เธอกลับได้รับความนิยมขึ้นมาอีกครั้งในช่วงกลางปี 2562 อันเป็นเวลาที่ชาวฮ่องกงเริ่มประท้วงความพยายามแผ่อิทธิพลเข้ามาของจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งนี้ ไต้หวันมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าสาธารณรัฐจีน (Republic of China) สถานะความเป็นรัฐตามกฎหมายนั้นไม่ชัดเจน และจีนแผ่นดินใหญ่เคยเสนอหลักการ "1 ประเทศ 2 ระบบ" แบบเดียวกับฮ่องกงด้วย
ชัยชนะของ ไช่ ยังสะท้อนความรู้สึกของชาวไต้หวันที่ไม่อยากรวมกับจีนโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ อาทิ หมิงชุง (Ming Chung) หนุ่มวัย 24 ปี ที่ไปเลือกตั้งพร้อมกับน้องสาววัย 22 ปี กล่าวว่า หากเลือกพรรค KMT (ก๊กมินตั๋ง) ไต้หวันจะใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น แต่คนที่เกิดหลังปี 2530 อันเป็นปีที่กฎอัยการศึกถูกยกเลิก หลายคนมองว่าตนเองเป็นชาวไต้หวัน และไม่อยากมีชะตากรรมเดียวกับชาวฮ่องกง แต่ในทางกลับกัน ดูเหมือนคนมีอายุสูงจะสนับสนุน ฮั่น จาก KMT มากกว่า เนื่องจากรายได้ไม่เพิ่มมากว่า 2 ทศวรรษแล้ว จึงอยากให้เศรษฐกิจไต้หวันใกล้ชิดจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น
ทั้งนี้ จีนแผ่นดินใหญ่อ้างสิทธิ์เหนือไต้หวันตลอดมานับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2488 โดยพรรค KMT แม้ว่าหลังจากนั้นในทางปฏิบัติพรรคคอมมิวนิสต์ที่ทำสงครามกลางเมืองจนยึดอำนาจปกครองจีนแผ่นดินใหญ่แทนพรรค KMT ได้จะไม่มีอำนาจปกครองไต้หวันเลยก็ตาม แต่ก็ยังคงยืนยันเช่นเดิม นอกจากนี้ ไต้หวันก็กำลังเผชิญความเสี่ยงเรื่องสูญเสียมิตรประเทศทางการทูต ที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศเล็กๆ ไป
รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า การผลักดันร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันจนเป็นผลสำเร็จ เป็นอีกเรื่องที่ทำให้ ไช่ ได้รับคะแนนนิยม อาทิ แอนิตา เฉิน (Anita Chen) ครูสอนดนตรีวัย 30 ปี กล่าวว่า กฎหมายสมรสเพศเดียวกันคือเหตุผลที่ตนลงคะแนนให้กับ ไช่ นอกจากนี้ ปธน.หญิง ของไต้หวัน ยังสนับสนุนคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะด้านศิลปะซึ่งเป็นวิชาที่ตนสอน ทั้งนี้การเลือก ฮั่น อาจจะดีในด้านเศรษฐกิจ แต่ผลข้างเคียงคือจะได้รับอิทธิพลจากจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น และตนไม่อยากให้ไต้หวันเป็นเช่นนั้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี