เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 เว็บไซต์ นสพ.Nikkei Asian Review ของญี่ปุ่น เสนอรายงานพิเศษ “Thailand's economic 'death by a thousand cuts' sows desperation” ว่าด้วยสารพัดปัญหาที่โหมกระหน่ำใส่สังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจตกต่ำ ภัยแล้ง และการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนการฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
รายงานของสื่อญี่ปุ่นเปิดเรื่องที่วัด Maipinkleaw ใน จ.นครปฐม พระสงฆ์ 4 รูป กำลังทำพิธีศพให้กับ Thee Pieanmag อายุ 32 ปี ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ตัดสินใจจบชีวิตตนเองด้วยการรมควันในบ้านพัก โดย Weerapong Pieanmag พี่ชายของผู้ตาย เล่าว่า น้องชายไม่เคยแสดงอาการใดๆ ที่บ่งบอกว่ากำลังประสบปัญหาในการทำธุรกิจ แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องยากที่ต้องรับวัสดุก่อสร้างด้วยเครดิตไว้ก่อนขณะที่สื่อท้องถิ่นของไทย ระบุไว้ในข่าวเมื่อต้นเดือน มี.ค. 2563 ว่าผู้ตายมีหนี้สินจำนวนมาก
การจบชีวิตของ Thee ไม่อาจแยกออกไปอย่างโดดๆ ข่าวการฆ่าตัวตายจากปัญหาทางการเงินกลายเป็นเรื่องที่คนไทยชินชาไปแล้วตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา อันเป็นช่วงเวลาที่มืดมนของประเทศไทย ดินแดนที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อาทิ ในเดือน ก.พ. 2562 เจ้าของเต็นท์รถมือสองพร้อมคนในครอบครัวรวม 5 คน ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก ทางตอนเหนือของไทย ตัดสินใจจบชีวิตโดยทิ้งจดหมายลาตายระบุว่า ครอบครัวเป็นหนี้ราว 3.13 แสนเหรียญสหรัฐ หรือราว 10 ล้านบาท
สภาพที่เกิดเหตุเจ้าของเต็นท์รถมือสองฆ่าตัวตายพร้อมครอบครัว
อ่านข่าวได้ที่ : เสี่ยเต็นท์รถเครียด! รมควัน-ซดยาฆ่าพิษดับยกครัว5ศพ พร้อมสุนัขตายอีก6ตัว
หรือในเวลาไม่กี่วันหลังการฆ่าตัวตายของ Thee ก็มีรายงานข่าวว่า นักธุรกิจวัย 56 ปี เจ้าของกิจการค้าพลาสติกในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ตัดสินใจจบชีวิตตนเองจากปัญหาทางการเงิน ทั้งนี้ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในอาเซียน อยู่ที่ 14.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองเห็นทางออกเพียงเล็กน้อย ในช่วงที่ชนชั้นกลางและรากหญ้ายังต้องเผชิญมรสุมอย่างต่อเนื่องทั้งหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อที่อ่อนแอ โรงงานปิดกิจการ ราคาสินค้าตกต่ำ ภัยแล้ง และล่าสุดคือไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก
ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDC-สภาพัฒน์) ในปี 2562 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตเพียงร้อยละ 2.4 ช้าที่สุดในรอบ 5 ปีล่าสุด และคณะกรรมการร่วมระหว่างด้านพาณิชย์ อุตสาหกรรมและธนาคาร คาดว่าในปี 2563 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5 แต่ผู้คร่ำหวอดในแวงวงการเมืองรายหนึ่งในกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ
ศุภวุฒิ สายเชื้อ (Supavud Saicheau) นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทเกียรตินาคินภัทร (Kiatnakin Phatra Financial Group) กล่าวว่า สิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้คือการสึกกร่อนอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจคนเล็กคนน้อย “มันคือความตายทางเศรษฐกิจที่เหมือนกับการถูกคมดาบฟันซ้ำแล้วซ้ำเล่านับพันครั้ง” สอดคล้องกับรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ที่กล่าวถึงความไม่สงบของเศรษฐกิจไทย โดยติดตามสถานการณ์มาตั้งแต่ปี 2554 ที่มีการรัฐประหาร ในเวลานั้นไทยมีความวุ่นวายทางการเมืองและเศรษฐกิจก็เติบโตเพียงร้อยละ 1 แล้วก็มีปัญหาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ความยากจนในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2558-2561
ที่มา : World Bank , Nikkei Asian Review
รายงานของธนาคารโลกที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือน มี.ค.2563 พบว่า ช่วงปี 2558-2561 สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.21 เป็นร้อยละ 9.85 จำนวนคนจนเพิ่มจาก 4.85 ล้านคนเป็นกว่า 6.7 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดในประเทศ 69.04 ล้านคน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากวิกฤติทางการเงินอย่างรุนแรงในว่าจะในประเทศหรือนอกประเทศ ที่เคยอธิบายสถานการณ์ความยากจนได้ในปี 2541 2543 และ 2551
ทั้งนี้ ในปี 2561 มีคนไทยเพียงร้อยละ 39 เท่านั้นที่รู้สึกว่ามาตรฐานการครองชีพของตนเองดีขึ้น ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่ธนาคารโลกสำรวจ ณ ช่วงเวลาเดียวกัน “ราวกับหน้ามือเป็นหลังเท้า” ในปี 2550-2556 ค่าแรงคนงาน รายได้จากการเกษตรและการส่งเงินกลับบ้านมีส่วนช่วยลดความยากจน แต่แล้วในปี 2558-2560 สิ่งเหล่านี้กลายเป็นการปัจจัยที่ทำให้ปัญหาความยากจนรุนแรงขึ้น สวนทางกับที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (Somkid Jatusripitak) รองนายกฯ ยุครัฐบาลเผด็จการทหาร กล่าวในปี 2560 ว่าในปี 2561 คนจนจะหมดไปจากประเทศไทย
“บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (ขวา) ซึ่งแจกให้กับผู้ขึ้นทะเบียนคนจน ริเริ่มในยุครัฐบาลทหาร คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ซ้าย) หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี และได้รับการสานต่อในรัฐบาลปัจจุบันโดยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ สมัยที่ 2
รายงานข่าวกล่าวถึงโครงการ “สวัสดิการแห่งรัฐ” ที่รัฐบาลเผด็จการทหารนำเสนอในปี 2560 ใช้เม็ดเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาทจ่ายให้กับคนจน 11 ล้านคน ต่อมาในปี 2562 เมื่อมีการเลือกตั้ง จำนวนผู้ขอรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้เพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านคน ถึงกระนั้นก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าโครงการดังกล่าวที่ริเริ่มโดยรัฐบาลเผด็จการทหารและสานต่อโดยรัฐบาลที่ใกล้ชิดกับกองทัพ มีข้อจำกัดในการช่วยเหลือประชาชน
ใน จ.ชลบุรี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทพฯ ความต้องการการช่วยเหลือเพิ่มสูงขึ้นหลังโรงงานหลายแห่งปิดกิจการและคนงานนับพันถูกเลิกจ้างเนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งและตลาดโลกที่เปลี่ยนไป หลายคนหันไปหาเงินกู้นอกระบบเพื่อให้พอประทังชีวิต ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หนี้ครัวเรือนในปี 2562 อยู่ที่ 552,500 บาท เพิ่มจาก 377,100 บาทในปี 2552 หรือเท่ากับเกือบร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในประเทศไทย ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้
Phatthiraphon Nonsiri หญิงวัย 29 ปี เล่าว่า ตนมีหนี้กว่า 2 ล้านบาทและต้องดิ้นรนหาเงินไปใช้หนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 การปิดกิจการของโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของญี่ปุ่นเมื่อเดือน ธ.ค. 2562 ทำให้ตน สามีและพ่อแม่ที่ต่างก็เป็นคนงานได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า ทางบ้านค้างค่าไฟฟ้ามา 3 เดือนแล้วและอาจถูกตัดไฟในไม่ช้าซึ่งจะทำให้ต้องใช้ชีวิตในความมืด
ที่กรุงเทพฯ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของเมือง แต่เดิมจะเต็มไปด้วยพนักงานออฟฟิศและนักศึกษาเข้าไปเดินหาสินค้าราคาถูกแบบไม่ต้องมียี่ห้อ วันนี้ชั้นบนอันเป็นที่ตั้งของบรรดาร้านทำนองดังกล่าวแทบว่างเปล่า 1 ใน 3 ของร้านค้าปิดตัวลง ผู้ค้ารายหนึ่งเล่าว่า ก่อนหน้านี้มีรายได้เดือนละ 2 แสนบาท แต่ล่าสุดยอดขายลดลงเหลือเดือนละ 7.5 หมื่นบาท ขณะที่ค่าเช่าอยู่ที่เดือนละ 31,400 บาท จึงเป็นไปได้ที่อาจต้องปิดกิจการในเร็วๆ นี้
สมประวิณ มันประเสริฐ (Somprawin Manprasert) ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีความเสี่ยงสูงและเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบได้ยากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ความตื่นตระหนกจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ตนเป็นห่วงเศรษฐกิจไทย แต่ก่อนหน้าที่ไวรัสจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ทีมงานของตนก็ส่งสัญญาณเตือนมาแล้วจากปัญหาภัยแล้งที่เริ่มต้นในเดือน มิ.ย. 2562 และตาดว่าจะยาวนานไปถึงเดือน ก.ค. 2563
เกษตรกรชี้ให้ดูสวนกล้วยที่ปลูกไว้ยืนต้นตายเพราะวิกฤติภัยแล้ง
อ่านข่าวได้ที่ : พิษภัยแล้ง! สวนกล้วยชาวอ่างทองหลายสิบไร่ยืนต้นรอวันตาย
ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้ชาวนาขาดทุนจากการปลูกข้าว 3.78 หมื่นล้านบาท และมันสำปะหลังอีก 3.3 พันล้านบาท ชาวสวนยางพาราและไร่อ้อยก็เช่นกัน รายงานของสภาพัฒน์ ระบุว่า ภาคเกษตรไม่อาจเป็นแหล่งรองรับผู้อ่อนแอได้อย่างในอดีตที่เคยช่วยให้ประชาชนผู้มีภูมิลำเนาในชนบทแต่มาหางานทำหรือมาทำธุรกิจขนาดเล็กในเมือง แล้วประสบปัญหาได้กลับไปพักฟื้นที่บ้านเกิดด้วยการทำนาทำไร่
ปัญหาเศรษฐกิจเริ่มจุดกระแสความไม่พอใจรัฐบาลให้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ พรรคฝ่ายค้านโจมตีรัฐบาลปัจจุบันที่สืบทอดอำนาจจากรัฐบาลเผด็จการทหาร กรณีออกนโยบายที่เน้นเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ โดยอ้างว่านับแต่มีการรัฐประหารในปี 2557 กลุ่มทุนใหญ่มีความมั่งคั่งเพิ่มสูงขึ้น มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ (Mingkwan Saengsuwan) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. 2563 ว่า ในปี 2560 ไทยกลายเป็นประเทศเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก โดยพุ่งขึ้นจากอันดับ 11 ในการสำรวจเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านั้น
ส่วนบรรดานักวิเคราะห์ทางการเงินต่างจับจ้องไปที่บรรดาทุนใหญ่ได้รับการปรนเปรออย่างมากมายจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ทั้งสัมปทาน ภาษีในลักษณะคุ้มครองการผูกขาด เสียงวิพากษ์วิจารณ์เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า “ประเทศไทยกลายเป็นประเทศของคนเพียงไม่กี่คน” ดังนั้นความเสี่ยงทางการเมืองจึงเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด
ขอบคุณเรื่องจาก : https://asia.nikkei.com/Spotlight/Asia-Insight/Thailand-s-economic-death-by-a-thousand-cuts-sows-desperation
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี