เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 เว็บไซต์ นสพ.The Washington Post สหรัฐอเมริกา เสนอรายงานพิเศษ “Stirrings of unrest around the world could portend turmoil as economies collapse” ระบุว่า มาตรการล็อกดาวน์ (Lockdown) หยุดกิจกรรมต่างๆ ของผู้คนให้เหลือน้อยที่สุดไปจนถึงขั้นบังคับให้อยู่แต่ในบ้าน เพื่อสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับประชากรกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และอาจนำไปสู่ความรุนแรงและไม่สงบในสังคม
โดยในช่วงเวลาเร็วๆ นี้ หลายประเทศในโลกมีการชุมนุมประท้วงมาตรการล็อกดาวน์ เช่น ประเทศเลบานอน ผู้คนออกมาเดินขบวนทั้งที่กรุงเบรุตและเมืองทริโปลี ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาก่อนวิกฤติโควิด-19 แล้ว ขณะที่ประเทศอิรัก แม้จะมีการประกาศเคอร์ฟิว แต่ก็มีการประท้วงเกิดขึ้นทั้งที่เมืองนาซิริยาห์ (Nasiriyah) และย่านซาดร์ ซิตี้ (Sadr City) ชานกรุงแบกแดด รวมถึงล่าสุดที่ประเทศเคนยา เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2563 มีประชาชนที่ฝ่าฝืนมาตรการเคอร์ฟิวเสียชีวิตจากการปราบปรามของตำรวจไปหลายราย
ฮุสแซน ฟาเคอร์ (Hussein Fakher) ชายวัย 20 ปี อาชีพขับรถสามล้อรับจ้างในกรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก กล่าวว่า แต่เดิมตนมีรายได้ไม่ถึง 20 เหรียญสหรัฐ หรือราว 600 บาทต่อวัน แต่เมื่อตลาดในกรุงแบกแดดถูกสั่งปิด วันนี้ตนยอมแม้กระทั่งต่อสู้กับตำรวจที่พยายามเรียกปรับฐานละเมิดมาตรการเคอร์ฟิว โดยตั้งคำถามว่า จะให้ตนดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร ให้เป็นขอทานหรือเป็นขโมยหรือ วันนี้ตนอยากติดเชื้อโควิด-19 ตายไปก่อนที่จะเห็นภรรยากับลูกอดตายเสียด้วยซ้ำไป
รายงานข่าวกล่าวต่อไปโดยอ้างคำเตือนจาก อันโตนิโอ กูเตเรส (Antonio Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ระบุว่า โรคระบาดครั้งใหญ่สามารถนำไปสู่ภัยคุกคามในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ขณะที่ข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบเกือบ 100 ปี ก็สุ่มเสี่ยงนำไปสู่ความไม่สงบสุขในสังคมและความรุนแรง
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแม้แต่กับประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ เมื่อจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นหลายล้านคน ชาวอเมริกันในหลายรัฐ อาทิ มิชิแกน มินนิโซตา เวอร์จิเนีย ได้ออกมาประท้วงมาตรการล็อกดาวน์ที่ประกาศโดยผู้ว่าการรัฐ เช่นเดียวกับที่ประเทศเยอรมนี ศาลมีคำวินิจฉัยให้การประท้วงต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์ในเมืองต่างๆ สามารถดำเนินการได้ รวมถึงประเทศอิตาลี มาตรการล็อกดาวน์ที่บังคับใช้ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 นำไปสู่การที่ตำรวจทางภาคใต้ซึ่งประชาชนยากจนกว่าภาคเหนือ ต้องระดมกำลังกันปกป้องซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ให้ถูกปล้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศยากจนนั้นผลกระทบย่อมหนักกว่าเพราะรัฐบาลไม่สามารถอุดหนุนประชาชนที่ว่างงานได้อย่างเพียงพอ ศ.คาเทีย บาติสตา (Prof.Catia Batista) นักเศรษฐศาสตร์จาก Lisbon’s Nova University ประเทศโปรตุเกส กล่าวว่า ประชากรราว 2 พันล้านคนทั่วโลกเป็นมีรายได้แบบหาเช้ากินค่ำ ดังนั้นการไม่มีงานคือไม่มีเงินและนั่นหมายถึงการไม่มีอาหารรับประทาน เมื่อท้องหิวสุดท้ายก็จะตอบสนองด้วยการก่อความไม่สงบ
ในทวีปแอฟริกา หลายประเทศได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นกัน แม้จะมีรายงานผู้ติดเชื้อน้อยแต่สาเหตุคาดว่ามาจากไม่มีศักยภาพในการตรวจคัดกรองได้อย่างกว้างขวาง และนั่นนำไปสู่คำถามว่าทำไมรัฐบาลจึงไม่อนุญาตให้ประชาชนไปทำงานตามปกติทั้งที่ดูเหมือนยังไม่มีภัยคุกคามต่อชีวิต ขณะที่การศึกษาของหน่วยงาน World Institute for Development Economics Research ในสังกัดสหประชาชาติ ชี้ว่า มาตรการจำกัดต่างๆ จะทำให้ประชากรโลก 5 แสนคน กลายเป็นคนยากจนอย่างที่สุด (absolute poverty)
ในภูมิภาคตะวันออกกลาง หลังการประท้วงอาหรับสปริงเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน วันนี้ความขัดแย้งในแต่ละประเทศก็ยังไม่จบสิ้น และแม้การประท้วงจะแผ่วลงจากข้อจำกัดของรัฐบาลในการรับมือไวรัสโควิด-19 แต่ความสงบนั้นไม่ยั่งยืน เมื่อผู้คนที่สิ้นหวังในชีวิตได้แสดงออกบางอย่าง เช่น ที่ประเทศเลบานอน คนขับแท็กซี่รายหนึ่งประท้วงด้วยการจุดไฟเผารถของตนเองหลังถูกตำรวจจับปรับฐานฝ่าฝืนล็อกดาวน์ นอกจากนี้ยังมีกรณีผุ้ลี้ภัยชาวซีเรียจุดไฟเผาตัวตายเพราะไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวตนเองได้ ส่วนที่ประเทศตูนิเซียก็มีรายงานคนเผาตัวตายเช่นกัน
ศ.ฟาวาซ เจอร์เกส (Prof.Fawaz Gerges) นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ London School of Economics ประเทศอังกฤษ ให้ความเห็นว่า ความไม่สงบในโลกอาหรับรอบต่อไปอาจรุนแรงและน่าเกลียดกว่าการประท้วงที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแสวงหาการปฎิรุปการเมือง สิ่งที่ตนกลัวคือการที่สังคมระเบิดออก ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย แต่เป็นอันตรายที่เกิดจากความต่ำต้อย ยากจนและอดอยาก
อาลี ฟาตอลลาห์-เนจัด (Ali Fathollah-Nejad) นักวิชาการจากองค์กร Brookings Doha Center ประเทศกาตาร์ กล่าวถึงประเทศอิหร่านที่ก่อนหน้านี้มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล แต่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ซึ่งอิหร่านมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 79,494 คนและเสียชีวิต 4,958 ราย รวมถึงมีการคาดการณ์ว่าอาจมีผู้ติดเชื้อมากกว่านี้ถึง 10 เท่า ทำให้ประชาชนไม่ค่อยกล้าออกไปชุมนุมเพราะกลัวความเสี่ยงด้านสุขภาพ แต่เชื้อไฟแห่งการประท้วงทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจนและการทุจริตของผู้มีอำนาจรัฐจะไม่หายไปไหน
รายงานข่าวยังยกตัวอย่างจากทวีปเอเชีย อาทิ ประเทศอินเดีย เมื่อรัฐบาลแดนภารตะสั่งล็อกดาวน์ แรงงานจากชนบทนับหมื่นคนที่มาหางานทำในเมืองใหญ่ต่างๆ กลายเป็นคนตกงาน หลายคนตัดสินใจเดินเท้ากลับภูมิลำเนา นอกจากนี้ยังมีการประท้วงในเมืองมุมไบเพื่อต่อต้านแนวคิดการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ขณะที่ประเทศจีน หากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ขึ้นมาอีก ก็อาจสั่นคลอนอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองแดนมังกรมาหลายสิบปี
ที่ผ่านมา รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนทำให้ประชาชนจงรักภักดีได้ด้วยการสร้างความเจริญรุ่งเรือง แต่การเปิดเผยเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2563 ว่าเศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 6.8 เป็นการถดถอยครั้งแรกนับตั้งแต่จีนเริ่มนำเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้ามาใช้ในปี 2533 ศ.หยาเซิง หวง (Prof.Yasheng Huang) นักวิชาการจาก Sloan School of Management สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐฯ มองว่าเป็นความเสี่ยงต่อสัญญาประชาคม
อาทิ ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ต้นตอการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 นำไปสู่การที่รัฐบาลแดนมังกรสั่งล็อกดาวน์ทั้งเมือง เมื่อการล็อกดาวน์สิ้นสุดลง ชาวเมืองได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ผู้ประกอบการยกเว้นค่าเช่าพื้นที่ในช่วงเวลาระหว่างที่กิจการต่างๆ ถูกสั่งปิด นอกจากนี้ยังมีการปะทะกันระหว่างชาวมณฑลหูเป่ยกับตำรวจมณฑลเจียงซีที่อยู่ข้างเคียง เพราะแม้ว่ามณฑลหูเป่ยจะถูกยกเลิกคำสั่งล็อกดาวน์แล้วแต่ชาวมณฑลแห่งนี้กลับไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไปในมณฑลเจียงซี
ทั้งนี้ ความไว้วางใจต่อรัฐบาลเป็นกุญแจในการรักษาความจงรักภักดีของประชาชนที่ต้องถูกบังคับให้จำกัดเสรีภาพในการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพเพื่อป้องกันโรคระบาด ความเชื่อถือนั้นอาจถูกลดทอนลงด้วยหลักฐานที่ชัดเจนว่ารัฐบาลพยายามซ่อนความรุนแรงของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงแรก ซึ่งอาจยืดเยื้อและทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมลดลง
ขอบคุณเรื่องจาก : https://www.washingtonpost.com/world/coronavirus-protests-lebanon-india-iraq/2020/04/19/1581dde4-7e5f-11ea-84c2-0792d8591911_story.html
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี