เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เว็บไซต์ นสพ.Nikkei Asian Review ของญี่ปุ่น เสนอข่าว “Pandemic brews resistance in Thai craft beer sector” ระบุว่า ในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลไทยตัดสินใจใช้มาตรการล็อกดาวน์ ปิดกิจการต่างๆ ที่ไม่จำเป็นเพื่อตัดการรวมกลุ่มอันเป็นปัจจัยให้เกิดการกระจายของโรคขึ้น ผู้ประกอบการคราฟท์เบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตแบบรายย่อย เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
ในช่วงเดือน เม.ย.2563 ทางการไทยประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ และแม้ต้นเดือน พ.ค. 2563 จะกลับมาขายได้อีกครั้งแบบซื้อกลับไปดื่มที่บ้าน แต่ก็ยังมีปัญหาสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากตามกฎหมายการขออนุญาตจดทะเบียนเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องมีทุนจดทะเบียนมากกว่า 10 ล้านบาท และต้องสามารถผลิตได้อย่างน้อย 10 ล้านลิตรต่อปี กฎหมายดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการส่งเสริมการผูกขาดของผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่หรือไม่
ที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย Som หญิงวัย 33 ปี ทำงานด้านสื่อออนไลน์ และเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊คที่เป็นชุมชนของคนรักคราฟท์เบียร์ (Craft Beer Society) เล่าว่า เพจของตนเคยมีชีวิตชีวาในช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 เฉลี่ยจะมีโพสต์ใหม่ๆ 3-4 ครั้งต่อวัน แต่การโพสต์รูปคราฟท์เบียร์เพื่อให้ผู้อื่นเห็นนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ขณะที่ Benz ชายวัย 36 ปี อาชีพบาริสต้าประจำร้านกาแฟแห่งหนึ่ง เปิดแผยว่า ในช่วงล็อกดาวน์ที่ผู้คนต้องอยู่บ้าน มีหลายคนสนใจอยากเรียนรู้การผลิตเบียร์ นอกเหนือจากคนกลุ่มเดิมๆ ที่ทำอยู่แล้ว
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า รัฐไทยเก็บภาษีจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากถึง 1.8 แสนล้านบาทต่อปี จำนวนมากเป็นเบียร์ที่ผลิตโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยนั้นยอมใช้ชีวิตอย่างหมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมาย อาทิ ในเดือน มี.ค. 2563 มีการจัดงาน “เบียร์ของประชาชน (People's Beer)” สถานที่จัดงานถูกเก็บเป็นความลับจนถึงก่อนหน้าวันจัดงานเพียงไม่กี่วัน ผู้ร่วมงานนับร้อยคนมีตั้งแต่วัยรุ่นอายุ 20 ต้นๆ ไปจนถึงผู้สูงอายุ ต้องซื้อตั๋วเพื่อเข้าร่วมในพื้นที่ปิด
เจริญ เจริญชัย (Charoen Charoenchai) นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า มันดูโรแมนติกและดูตื่นเต้นในหมู่คนไทยในการผลิตเบียร์ที่บ้าน ราวกับมันเป็นกิจกรรมใต้ดินที่ท้าทายกฎหมาย ขณะที่ Warunee Arsa หญิงวัย 42 ปี ซึ่งเดินทางจาก จ.ชลบุรี เมืองที่ห่างออกไปจากกรุงเทพฯ ทางตะวันออกเฉียงใต้ นำเบียร์ที่ตนเองผลิตไปร่วมแบ่งปันในเทศกาล กล่าวว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่มันมีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการผลิตเบียร์ที่มีรสชาติของท้องถิ่น
Sumalee Tangcharoen หญิงอีกรายที่เข้าร่วมเทศกาลคราฟท์เบียร์แต่ไม่ได้เป็นผู้ผลิต กล่าวว่า คราฟท์เบียร์แต่ละเจ้ามีลักษณะเฉพาะตัวและนั่นจึงเป็นสิ่งพิเศษ ด้าน วิชิต ซ้ายเกล้า (Wichit Saiklao) ชายวัย 48 ปี ผู้ได้รับการยกย่องในหมู่คนในแวดวงคราฟท์เบียร์ในฐานะผู้ผลักดันผู้ผลิตรายย่อย (Microbreweries) และเคยถูกปรับเป็นเงิน 5 หมื่นบาทในปี 2562 จากการขายเบียร์ผิดกฎหมายมาแล้ว เปิดเผยว่า วันนี้มีคนไทยกว่า 2 หมื่นคนที่สนใจผลิตเบียร์ จากที่ไม่มีเลยหากย้อนไปเมื่อ 7 ปีก่อน
ดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อไม่น้อย เพราะในขณะที่ วิชิต เป็นทั้งนายทหารยศพันเอก และอาจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งประเทศไทยนั้นกองทัพถูกมองว่าเป็นสถาบันที่มีจุดยืนปกป้องแนวคิดอนุรักษ์นิยม แต่อีกด้านหนึ่งกลับมีจุดยืนที่จะส่งเสริมให้ผู้คนทำเบียร์ด้วยตนเอง เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นลุกขึ้นและรู้สึกมีอำนาจ จนกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับกรมสรรพสามิต แต่ยืนยันว่าจะไม่หยุดสิ่งที่ตนเองทำ
จำนวนบาร์ที่ขายคราฟท์เบียร์นั้นเพิ่มขึ้น บาร์เหล่านี้เปิดอย่างถูกกฎหมาย แต่คราฟท์เบียร์นั้นผลิตในโรงงานขนาดเล็กในต่างประเทศ ตั้งแต่เพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม หรือแม้กระทั่งไกลออกไปถึงออสเตรเลีย Jonas Kritsada หนึ่งในหุ้นส่วนผลิตคราฟท์เบียร์ อธิบายว่า การทำแบบนี้เสี่ยงน้อยกว่าลักลอบผลิตเองในประเทศไทยซึ่งอาจถูกจับกุมและเสียค่าปรับ แต่แน่นอนว่าต้องเสียภาษีในอัตราสูงเพื่อนำเข้า เป็นเรื่องน่าผิดหวังเพราะเบียร์ที่ผลิตโดยคนไทยแต่ต้องนำเข้าไปในประเทศไทย
รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า ที่รัฐสภาของไทย พรรคก้าวไกล (Move Forward Party) พรรคฝ่ายค้านที่ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างมากในหมู่คนหนุ่ม-สาว เปิดเผยถึงแผนการปฏิรูปกฎหมายที่เอื้อต่อการผูกขาดของทุนน้ำเมารายใหญ่ โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (Pita Limjaroenrat) ผู้เป็นหัวหน้าพรรค กล่าวว่า จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดให้ธุรกิจรายย่อยดำเนินการได้ อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เรากำลังสูญเสียโอกาสที่จะได้รับจากภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจองเราเอง
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ : https://asia.nikkei.com/Life-Arts/Life/Pandemic-brews-resistance-in-Thai-craft-beer-sector
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี