เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองทั้งในประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ถูกนำมาใช้สร้างความนิยมให้กับฝ่ายตนและโจมตีฝ่ายตรงข้าม ทำให้คลิปวีดีโอ Ted Talk หรือเวทีที่ให้บุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดในด้านต่างๆ มาบอกเล่าเรื่องราวที่ตนเองสนใจ ที่เป็นเรื่องเล่าของ วาเอล โกนิม (Wael Ghonim) ผู้ใช้สื่อออนไลน์จุดกระแสโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการที่ปกครองอียิปต์ได้สำเร็จและเป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลายชาติในตะวันออกกลาง หรืออาหรับสปริง แต่หลังจากนั้นกลับพบว่าบ้านเกิดของเขาเต็มไปด้วยความโกลาหลก่อนจบด้วยการรัฐประหารโดยกองทัพ ถูกชาวเน็ตนำกลับมาแชร์อีกครั้ง ดังนี้
"ผมเคยพูดว่า ถ้าคุณต้องการปลดปล่อยสังคมสิ่งที่คุณจำเป็นต้องมีก็แค่อินเตอร์เน็ต ผมคิดผิด ผมเคยพูดประโยคนี้เมื่อ ปี ค.ศ.2011 ตอนที่ผมสร้างเพจบน Facebook โดยไม่เปิดเผยตัวตน แล้วมันช่วยจุดชนวนการปฏิวัติในอียิปต์ เหตุการณ์อาหรับสปริงไม่เพียงเผยให้เห็นถึงความสามารถสูงสุดของสื่อสังคมออนไลน์ แต่ยังแสดงให้เห็นถึงจุดที่อ่อนที่สุดของมัน เครื่องมือเดียวกันที่ช่วยเรารวบรวมกำลังล้มล้างเหล่าผู้นำเผด็จการ แต่สุดท้ายทำให้เราต้องแตกแยกกัน ผมขอแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และพูดเกี่ยวกับความยากและความท้าทายต่างๆ ที่ผมเจอมาเองกับตัว และเราสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง
ในช่วงต้นปี 2000 เหล่าชาวอาหรับกำลังป่วนเว็บ รู้สึกกระหายความรู้โอกาส และอยากติดต่อกับผู้คนทั่วโลก เราหนีความจริงเกี่ยวกับการเมืองอันหน้าผิดหวัง และไปใช้ชีวิตอยู่บนโลกเสมือนและแตกต่าง ผมก็เหมือนชาวอาหรับเหล่านั้นที่ไม่เคยสนใจการเมืองจนกระทั่งปี 2009 เมื่อผมได้ล็อกอินเข้าใช้สื่อสังคมออนไลน์ ผมเริ่มเห็นชาวอียิปต์มากขึ้นและมากขึ้น เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ มันทำให้ผมรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ในเดือนมิถุนายน ปี 2010 อินเตอร์เน็ตเปลี่ยนชีวิตผมตลอดกาล
ขณะที่กำลังเล่น Facebook ผมเห็นรูปถ่าย รูปถ่ายอันน่าสยดสยอง ศพที่ผ่านทารุณกรรม ของหนุ่มอียิปต์คนหนึ่ง เขาชื่อ “คาเลด ซาอิส” หนุ่มวัย 29 ปีเมืองอเล็กซานเดรีย ที่ถูกฆ่าโดยตำรวจ ผมเหมือนเห็นตัวเองในรูปนั้น ผมคิดว่า “เราก็อาจเป็นเหมือนคาเลดได้” คืนนั้นผมนอนไม่หลับ และตัดสินใจทำบางอย่าง ผมแอบสร้างเพจบน Facebook และตั้งชื่อเพจว่า “เราทุกคนคือ คาเลด ซาอิส” (We are all Khaled Said) เพียงแค่ 3 วัน มีคนมาติดตามเพจเกิน 100,000 คน ซึ่งเป็นเหล่ามิตรสหายชาวอียิปต์ที่มีความเห็นร่วมกันกับผมในประเด็นนี้ เราต้องหยุดการกระทำอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้
ผมรับ อับเดลราห์มัน แมนเซอร์ มาช่วยดูแลเพจ ผมทำงานร่วมกับเขาตลอดเวลา เราร่วมสร้างสรรค์กลุ่มคน เพื่อเสาะหาแนวคิดจากผู้คน เราให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วม เราได้รวมตัวกันเรียกร้องให้มีการทำอะไรสักอย่าง และแชร์ข่าวที่รัฐบาลไม่ต้องการให้ชาวอียิปต์รับรู้ จนกลายเป็นเพจที่คนติดตามมากที่สุดในโลกอาหรับ มีจำนวนลูกเพจมากกว่าองค์กรสื่อที่เคยจัดตั้งมาก่อนหน้านี้ และยังมากกว่าเพจคนดังแถวหน้าเสียอีก ในเดือนมกราคม 2011 เบนอาลี หนีออกจากประเทศตูนีเซีย หลังจากการเป็นแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุต่อต้านรัฐบาล ผมเห็นประกายแสงแห่งความหวัง
ชาวอียิปต์ในสื่อสังคมออนไลน์กำลังสงสัยว่า "ถ้าตูนีเซีย ทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้?" ผมโพสต์งานกิจกรรมลงใน Facebook โดยตั้งชื่อว่า "การปฏิวัติต้านคอรัปชั่น ความไม่เป็นธรรม และอำนาจเผด็จการ" ผมตั้งคำถามกับผู้ใช้งานในเพจจำนวน 300,000 คน ณ ตอนนั้นว่า วันนี้คือ วันที่ 14 มกราคม วันที่ 25 มกราคมคือ วันตำรวจแห่งชาติ เป็นวันหยุดประจำชาติ ถ้าพวกเรา 100,000 คน ออกไปเดินบนท้องถนนทั่วกรุงไคโร คงไม่มีใครเข้ามาหยุดเราได้ ผมอยากรู้ว่า พวกเราจะทำได้มั้ย
เพียงแค่ไม่กี่วัน มีการส่งคำเชิญนี้ไปยังผู้คนกว่า 1 ล้านคน และมีผู้คนกว่า 100,000 คนยืนยันการเข้าร่วมกิจกรรม สื่อสังคมออนไลน์นั้นสำคัญต่อการรณรงค์ครั้งนี้อย่างมาก มันช่วยปลุกระดมการเคลื่อนไหวของผู้คนตามจุดต่าง ๆ มันทำให้ผู้คนตระหนักว่า พวกเขาไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ทำให้เห็นว่า เรามีโอกาสทำให้รัฐบาลหยุดได้ แม้ว่าเวลานั้นพวกเขายังไม่เข้าใจนักว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และวันที่ 25 มกราคม ชาวอียิปต์ออกมาเดินเต็มถนนกรุงไคโรและเมืองอื่น ๆ เรียกร้องให้มีการปฏิรูป ทะลายกำแพงแห่งความกลัว และประกาศศักราชใหม่ และแล้วมันก็ได้ผล
ไม่กี่ชั่วโมงก่อนรัฐจะทำการตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ผมกำลังเดินบนถนนที่มืดมิดในกรุงไคโร ประมาณเที่ยงคืน ผมเพิ่งจะทวิตไปว่า "ขอพระเจ้าคุ้มครองอียิปต์ รัฐคงเตรียมการสังหารหมู่พรุ่งนี้มากๆ" ผมถูกตีที่หัวอย่างแรง ผมสูญเสียการทรงตัวและล้มลง ทำให้รู้ว่า มีชายติดอาวุธ 4 คนล้อมผมอยู่ คนหนึ่งปิดปากผม ส่วนคนอื่นๆ จับผมไว้ ผมรู้ตัวว่า กำลังโดนอุ้มโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐ ผมรู้ตัวอีกทีก็อยู่ในคุก ถูกสวมกุญแจมือ ปิดตา
ผมรู้สึกกลัวมาก ครอบครัวผมก็เช่นกัน พวกเขาพยายามหาผม ตามโรงพยาบาล สถานีตำรวจ หรือแม้แต่ในห้องดับจิต เพื่อนร่วมงานผมส่วนหนึ่งที่รู้ว่า ผมเป็นแอดมินของเพจนั้น ได้บอกสื่อเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของผมกับเพจนั้น และผมน่าจะถูกอุ้มโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐ เพื่อนร่วมงานของผมที่บริษัท Google เริ่มการรณรงค์เพื่อหาตัวผม และเพื่อนผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเรียกร้องให้ปล่อยตัวผม
หลังจาก 11 วันที่ต้องอยู่กับความมืดมิด ผมถูปล่อยให้เป็นอิสระ และ 3 วันให้หลัง ประธานาธิบดีมูบารัคถูกกดดันให้ลงจากตำแหน่ง มันเป็นช่วงเวลาที่ให้แรงบันดาลใจ และทำให้ผมมีพลังมากที่สุดในชีวิต มันเป็นเวลาของความหวังอันยิ่งใหญ่ ชาวอียิปต์ใช้เวลาอันสงบสุขบนสังคมในอุดมคติเป็นเวลา 18 วัน ในระหว่างการปฏิวัติ พวกเขามีความเชื่อร่วมกันว่า พวกเราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่า พวกเราจะแตกต่างกัน ว่าอียิปต์หลังจากยุคมูบารัคจะเป็นของทุกคน
แต่โชคร้าย เหตุการณ์หลังการปฏิวัติเหมือนการถูกตุ้ยท้อง ความสงบได้หายไป เราไม่สามารถทำประชามติกันได้ และความติดขัดทางการเมืองนำไปสู่การแบ่งขั้วอำนาจ สื่อสังคมออนไลน์ก็แค่ทำให้สถานการณ์ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยใช้เป็นที่เผยแพร่ ข้อมูลเท็จ ข่าวลือ การรับข้อมูลด้านเดียว และการใช้คำสร้างความเกลียดชัง สภาพแวดล้อมตอนนั้นเป็นพิษอย่างรุนแรง โลกออนไลน์ของผมกลายเป็นสนามรบ เต็มไปด้วย เกรียน โกหก และการใช้คำสร้างความเกลียดชัง
ผมเริ่มกังวลในความปลอดภัยของครอบครัวของผม แต่ที่แน่ๆ มันไม่ได้เป็นเรื่องของผมคนเดียว การแบ่งขั้วอำนาจเดินไปจนถึงขีดสุดระหว่าง 2 ขั้วอำนาจหลัก คือ ผู้สนับสนุนทหารกับกลุ่มมุสลิม คนที่อยู่ตรงกลางเช่นผม เริ่มรู้สึกไร้ที่พึ่ง ทั้งสองกลุ่มต้องการให้คุณเลือกข้าง ไม่อยู่ฝั่งเดียวกับพวกเขาก็ต้องอยู่ฝั่งตรงข้าม และวันที่ 13 กรกฎาคม 2013 ทหารยึดอำนาจจากประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยระบอบประชาธิปไตย หลังสามวันที่มีการชุมนุมประท้วงอันโด่งดัง และเรียกร้องให้เขาลงจากตำแหน่ง
วันนั้นผมทำการตัดสินใจที่ยากอย่างหนึ่ง ผมตัดสินใจที่จะเงียบ เงียบสนิท มันเป็นช่วงเวลาแห่งความพ่ายแพ้ ผมอยู่เงียบ ๆ เป็นเวลามากกว่า 2 ปี และผมได้ใช้เวลานั้นครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด พยายามทำความเข้าใจว่า มันเกิดขึ้นได้ยังไง มันทำให้ผมได้เข้าใจ ว่าขณะที่มันเป็นเรื่องจริงที่หลัก ๆ แล้วการขับเคลื่อนแบ่งขั้วอำนาจนั้น มาจากพฤติกรรมของมนุษย์ สื่อสังคมออนไลน์นั้นทำให้พฤติกรรมดังกล่าวกลายเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และขยายผลกระทบ สมมติว่า คุณอยากพูดบางอย่างที่ไม่ได้มาจากข้อเท็จจริง รับคำท้าสู้หรือเมินเฉยต่อบางคนที่คุณไม่ชอบ เหล่านี้คือ แรงกระตุ้นโดยธรรมชาติของมนุษย์ แต่เพราะด้วยเทคโนโลยี การสนองต่อแรงกระตุ้นนี้ก็แค่ใช้คลิกเดียวเท่านั้น
ผมมองว่า มีความท้าทายที่เข้าขั้นวิกฤตอยู่ 5 เรื่อง ในการเผชิญต่อสื่อสังคมออนไลน์ทุกวันนี้ เรื่องแรก พวกเราไม่รู้ว่า จะจัดการพวกข่าวลือยังไง ข่าวลือที่ออกมาสนองต่ออคติของผู้เสพ กลายเป็นข่าวที่คนเชื่อและแพร่กระจายไปยังผู้คนนับล้าน เรื่องที่สอง เราสร้างการรับสารข้างเดียวของเราเอง เรามักเลือกที่จะสื่อสารเฉพาะกับกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับเรา และขอบคุณสื่อสังคมออนไลน์ เราสามารถ ปิดการแจ้งเตือน ยกเลิกการติดตาม และปิดกั้นใครก็ได้
เรื่องที่สาม การสนทนาออนไลน์ลุกลามรวดเร็วจนกลายเป็นกลุ่มผู้ประท้วงที่เกี้ยวกราด เราทุกคนน่าจะรู้อยู่แก่ใจ มันเหมือนราวกับว่า พวกเราลืมไปว่าคนที่อยู่เบื้องหลังจอนั้น ก็คือคนจริง ๆ นั่นแหละ ไม่ใช่แค่รูปตัวแทน เรื่องที่สี่ มันยากมากมากที่จะเปลี่ยนความคิดเห็นของพวกเรา เพราะว่า ความรวดเร็วและกระชับของสื่อสังคมออนไลน์ เราถูกบังคับให้พุ่งประเด็นไปที่ข้อสรุป และเขียนความเห็นสั้นๆ ไม่เกิน 140 ตัวอักษร เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ซับซ้อนบนโลก และเมื่อเราเขียนมันแล้ว มันจะอยู่บนอินเตอร์เน็ตตลอดกาล และเรามีแรงน้อยมากในการเปลี่ยนแปลงมุมมองเหล่านี้ แม้ว่าจะมีการค้นพบหลักฐานใหม่ก็ตาม
ลำดับที่ห้า และในมุมมองของผมนี่คือ เรื่องที่วิกฤตที่สุด ทุกวันนี้ประสบการณ์ในการใช้สังคมออนไลน์ถูกออกแบบด้วยแนวทางที่เน้นการแพร่กระจายข่าวสารมากกว่าการมีส่วนร่วมกับผู้ชม ชอบการโพสต์มากกว่าการถกประเด็น ชอบความเห็นอันตื้นเขินมากกว่าการสนทนาที่ลึกซึ้ง มันเหมือนราวกับเรายอมรับว่า เราอยู่ตรงนี้เพื่อพูดจาใส่กัน แทนที่จะพูดจาร่วมกัน ผมได้เห็นเป็นพยานแล้วว่า เรื่องท้าทายนี้ส่งผลอย่างไรต่อสังคมอียิปต์ที่แตกแยกไปเรียบร้อย แต่นี่ไม่ใช่เรื่องของอียิปต์เพียงประเทศเดียว การแบ่งขั้วอำนาจกำลังเกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก
เราต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาวิธีว่า จะนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร มากกว่าที่จะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ทุกวันนี้มีการโต้วาทีมากมายว่า จะทำอย่างไรจึงจะต่อสู้การคุกคามออนไลน์ และต่อกรพวกเกรียนได้ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่เราจำเป็นต้องคิดด้วยว่า จะออกแบบประสบการณ์ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างไร เพื่อจะส่งเสริมความเป็นพลเมืองดี และให้รางวัลแก่ความมีวิจารณญาณ
ผมทราบความจริงอย่างหนึ่ง ว่าถ้าหากผมเขียนโพสต์ที่กระทบความรู้สึกมากขึ้น เขียนในมุมมองด้านเดียวมากขึ้น และในบางครั้งโกรธและก้าวร้าวมากขึ้น ผมต้องได้คนมาเห็นโพสต์นั้นเป็นแน่ ผมจะได้รับความสนใจมากขึ้น แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราเน้นคุณภาพมากขึ้น อะไรสำคัญกว่า : จำนวนคนอ่านโพสต์ที่คุณเขียน หรือ ใครคือคนที่ได้รับผลกระทบหลังจากอ่านที่คุณเขียน ทำไมเราไม่ทำเพียงแค่กระตุ้นให้ผู้คนเข้าร่วมในบทสนทนามากขึ้น แทนที่จะเอาแต่เผยแพร่ความคิดเห็นอยู่ตลอด หรือให้รางวัลกับคนที่อ่าน และตอบกลับในมุมมองที่พวกเขาก็ไม่เห็นด้วยนะหรือ และทำให้มันเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วยว่า เราเปลี่ยนความคิดเขา หรืออาจแม้แต่จะให้รางวัล
ถ้าเรามีเงื่อนไขที่วัดได้ว่า มีคนจำนวนกี่คนที่เปลี่ยนความคิด และกลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของเรา ถ้าผมสามารถติดตามว่า มีจำนวนคนกี่คนที่กำลังจะเปลี่ยนความคิด ผมอาจจะเขียนอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น ผมจะพยายามทำอย่างนั้นแทนที่จะดึงดูดกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับผมอยู่แล้ว และ “กดไลค์” เป็นเพราะว่า ผมสนองอคติของเขา เราจำเป็นต้องคิดกลไกการร่วมสร้างกลุ่มคนที่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ และให้รางวัลแก่ผู้คนเหล่านั้นที่เข้ามามีส่วนร่วม
สิ่งสำคัญคือ เราต้องคิดใหม่เรื่องระบบนิเวศน์ของสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน และออกแบบประสบการณ์การใช้งานมันใหม่ เพื่อให้รางวัลแก่ความมีวิจารณญาณ ความเป็นพลเมืองดี และความเข้าใจร่วมกัน ในฐานะที่ผมเชื่อในอินเตอร์เน็ต ผมรวบรวมทีมจากกลุ่มเพื่อนไม่กี่คน เพื่อพยายามหาคำตอบและสำรวจความเป็นไปได้ ผลิตภัณฑ์แรกของเราคือ แพลตฟอร์มของสื่อแบบใหม่เพื่อการสนทนา เรากำลังให้บริการการสนทนาที่ส่งเสริมความเข้าใจร่วมกัน และหวังว่า จะช่วยเปลี่ยนแนวคิด เราไม่อวดอ้างว่าเราได้พบคำตอบ
แต่เราได้เริ่มทดลองกับการสนทนาที่แตกต่างกันเกี่ยวกับปัญหาการแบ่งแยกขั้นรุนแรง เช่นการโต้วาทีเรื่อง ชาติพันธุ์ การควบคุมอาวุธปืน ผู้ลี้ภัย ความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมและการก่อการร้าย เหล่านี้คือ บทสนทนาที่สำคัญ ทุกวันนี้อย่างน้อยหนึ่งในสามของคนบนโลกสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ แต่ส่วนหนึ่งของอินเตอร์เน็ตกำลังถูกจองจำ โดยด้านที่มืดบอดของคุณธรรมของพฤติกรรมมนุษย์เรา ห้าปีที่แล้วผมเคยพูดว่า “ถ้าคุณต้องการปลดปล่อยสังคมสิ่งที่คุณจำเป็นต้องมีก็แค่อินเตอร์เน็ต” วันนี้ผมเชื่อว่า “ถ้าเราต้องการปลดปล่อยสังคม เราต้องเริ่มจากการปลดปล่อยอินเตอร์เน็ตก่อน” ขอบคุณมากครับ
คลิกชมคลิปได้ที่นี่ (มีคำบรรยาภาษาไทย) : https://www.youtube.com/watch?v=HiwJ0hNl1Fw
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี