เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ชาวสิงคโปร์ได้เฮหลัง “ยูเนสโก” องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) รับขึ้นบัญชี “อาหารแผงลอย” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยเว็บไซต์ นสพ.The Straits Times ของสิงคโปร์ เสนอข่าว Hawker stalls islandwide to get Unesco intangible cultural heritage label ระบุว่า ยูเนสโก ขึ้นทะเบียนอาหารแผงลอย เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา ทำให้ภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ผู้ค้ากว่า 6,000 รายทั่วประเทศ จะสามารถติดคำโฆษณากว่าหาบเร่แผงลอยเป็นมรดกโลกจากสิงคโปร์ได้แล้ว
รายงานของสื่อสิงคโปร์ กล่าวต่อไปว่า การที่ยูเนสโกรับขึ้นทะเบียนอาหารแผงลอย ตามคำยื่นขอของสิงคโปร์ นำไปสู่ความหวังที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้นในอนาคต โดย เกรซ ฟู (Grace Fu) รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ร่วมกับ เอ็ดวิน ตง (Edwin Tong) รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ชุมชนและเยาวชน เริ่มต้นรณรงค์ทันทีหลังได้ทราบข่าว ณ ศูนย์อาหาร Ghim Moh
ฟู กล่าวว่า ศูนย์อาหารไม่ได้ปิดแม้ในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงมีบทบาทสำคัญในการจัดหาอาหารที่จำเป็นให้กับชาวสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังเป็นวัฒนธรรมร่วมอย่างหนึ่งของคนที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือคนธรรมดาสามัญ การจารึกในวันนี้เรียกร้องให้ชาวสิงคโปร์ทุกคนก้าวไปข้างหน้าเพื่อช่วยกันส่งเสริมและรักษาวัฒนธรรมนี้ ทุกคนทำได้ด้วยการแนะนำอาหารดีๆ ให้กัน และบอกเล่ากับเพื่อนๆ ชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังส่งเสริมการรักษาความสะอาดภายหลังใช้บริการ เพราะต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ที่ชาวสิงคโปร์ภาคภูมิใจ
ขณะที่ ตง ได้บันทึกคำปราศรัยของตนเป็นคลิปวีดีโอสั้นๆ เผยแพร่ตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 16 ธ.ค.2563 หรือภายหลังทราบข่าวยูเนสโกขึ้นทะเบียนหาบเร่แผงลอย ว่า วัฒนธรรมอาหารแผงลอยเป็นมากกว่าอาหาร มันบอกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และที่มาของอาหาร อีกทั้งเป็นจุดนัดพบของผู้คนทุกเพศทุกวัย นี่จึงเป็นสิ่งที่ชาวสิงคโปร์ควรหวงแหน มันเป็นสัญลักษณ์ที่สวยงามมากของประเทศ
มาดาม มัทธุเลชมี (Madam Muthuletchmi) แม่ค้าอาหารอินเดียตอนใต้ เล่าว่า ตนประกอบอาชีพขายอาหารแผงลอยมา 27 ปี การได้รับการยอมรับจากยูเนสโก ทำให้รู้สึกว่าอาชีพของตนมีตัวตนในสังคมขึ้นมา ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตนได้ปรับรูปแบบอาหารอินเดีย เช่น เติมชีลลงไป แน่นอนกว่าการปรับปรุงสูตรอาหารเป็นเรื่องปกติเพราะการค้าพัฒนาไปพร้อมกับการเข้ามาของคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยลูกชายจะเข้ามารับช่วงต่อกิจการของตน
แอมเบอร์ พง (Amber Pong) หญิงวัย 30 ปี ตัดสินใจหันหลังให้อาชีพบริหารการตลาด แล้วเดินเข้าสู่อาชีพขายอาหารแผงลอย โดยเปิดร้านในศูนย์อาหาร Ghim Moh เนื่องจากจะได้พบกับผู้คนหลากหลายช่วงวัยและเชื้อชาติมากกว่าการเปิดร้านเบเกอรี่หรือร้านกาแฟ แม้จะเป็นการขายขนมเค้กเหมือนกันก็ตาม นอกจากนี้ตนยังเติบโตมากับศูนย์อาหาร โดยมาใช้บริการสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ทั้งนี้ก่อนจะมาเปิดร้าน ตนลงทุนไปฝึกงานเป็นแม่ครัวทำขนมอบที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียถึง 1 ปีเต็ม
ทอม ลู (Tom Loo) พ่อค้าก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา เปิดเผยว่า ตนดีใจที่ยูเนสโกยอมรับอาชีพขายอาหารแผงลอย ซึ่งตนก็ไม่รู้มาก่อน เพราะในแต่ละวัน บรรดาผู้ค้าจะวุ่นอยู่กับการจ่ายค่าเช่าและภาษี ทั้งนี้ หากจะรักษาอาชีพขายอาหารแผงลอยให้คนอยู่ต่อไป คือการทำให้ต้นทุนอยู่ในระดับต่ำ เพราะการเพิ่มราคาแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำร้ายผู้ประกอบชีพนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่สามารถส่งต่อไปยังผู้บริโภค ผู้ค้าต้องรักษาราคาให้เหมาะสม หากต้นทุนเพิ่มขึ้นผู้คนจะต้องจ่ายมากขึ้น
เค.เอฟ.ซีโต๊ะ (K.F.Seetoh) นักวิจารณ์อาหารชาวสิงคโปร์ ชี้ให้เห็นว่า ผุ้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ต้องใช้ประโยชน์จากการรับขึ้นทะเบียนอาหารแผงลอยจากยูเนสโกอย่างแข็งขัน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับสำหรับผู้ค้า ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในด้านการค้า การท่องเที่ยว การศึกษา ตลอดจนพิพิภัณฑ์หาบเร่แผงลอย และเทศกาลอาหารที่ทั้งชาวสิงคโปร์และผู้มาเยือนสามารถเชื่อมต่อได้ และเมื่อประตูสนามบินถูกเปิดอีกครั้ง โลกจะหิวโหยอาหาร มันไม่ใช่เพียงเรื่องการกิน แต่ยังมีเบื้องหลังวัฒนธรรมด้วย
ขอบคุณเรื่องจาก : https://www.straitstimes.com/singapore/stalls-in-hawker-centres-islandwide-to-get-unesco-intangible-cultural-heritage-label
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี