เรื่องเล่าจากสื่อนอก‘เกาะพะงัน’แหล่งท่องเที่ยวที่มีมากกว่า‘ฟูลมูนปาร์ตี้’
7 พ.ค. 2565 เว็บไซต์ นสพ.South China Moring Post ของฮ่องกง เผยแพร่บทความ It’s not all full moon parties on Thailand’s Koh Phangan – Muay Thai gyms, lush nature and music have visitors staying long-term on the island เนื้อหาว่าด้วย “เกาะพะงัน” จ.สุราษฎร์ธานี ประเทศไทย แม้ชื่อเสียงในการรับรู้ของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับเกาะนี้จะเป็นเรื่องของ “ฟูลมูนปาร์ตี้” ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาดื่มกินและเต้นรำกันอย่างสนุกสุดเหวี่ยง แต่ในความเป็นจริง เกาะพะงันมีอะไรมากกว่านั้น และดึงดูดให้ใครหลายคนอยากตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยระยะยาว
บทความซึ่งเขียนโดย โธมัส เบิร์ด (Thomas Bird) นักเขียนสารคดีท่องเที่ยวซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวเอชียตะวันออกก เริ่มเรื่องที่ “หาดริ้นใน” ทางใต้ของเกาะพะงัน ขณะที่เขียนนั้นเป็นช่วงที่เกาะพะงันยังไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมากนัก รีสอร์ทบางแห่งมีลักษณะคล้ายกับเป็นซากปรักหักพัง ชวนให้รำลึกถึงยุคสมัยอันรุ่งเรืองของเกาะ นั่นคือช่วงเวลาที่โลกยังไม่เผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ผู้ดูเล Sun Beach Bungalows ที่พักของผู้เขียน กล่าวว่า ที่พักกำลังจะถูกจองเต็มในอีก 1 สัปดาห์หลังจากนั้น ซึ่งสอดคล้องกับการจัดการฟูลมูนปาร์ตี้ ณ “หาดริ้นนอก” ที่ไม่ไกลจากหาดริ้นมากนัก และฟูลมูนปาร์ตี้ก็คืองานสำคัญที่ดึงดูดผู้คนจำนวนมากให้มาเยือน ขณะที่ Sontaya Shtongrun ลูกชายชาวประมงในพื้นที่ซึ่งมีกิจการบังกะโล ที่ผู้เขียนได้พบที่ร้านกาแฟเล็กๆ Baan Nong Praew เล่าว่า ไม่มีผู้เข้าพักตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2563 แต่ก็ยังให้คนงานชาวเมียนมาอยู่อาศัยต่อไป เพราะตกงานประกอบกับที่บ้านเกิดก็มีสงคราม
บูติดรีสอร์ทของ Sontaya อยู่บริเวณหาดริ้นใน หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Sinset Beach กับเนินเขา บางครั้งพบเห็นลิงแสมเข้ามาขโมยมะม่วงที่ปลูกไว้ ลักษณะรีสอร์ทเป็นกระท่อมทรงไทยยื่นลงไปที่ริมน้ำ แต่ละหลังมีเฉลียงขนาดเล็กซึ่งมีเปลญวนผูกอยู่ด้านหน้า เจ้าของรีสอร์ทผู้นี้ ยังเปิดเผยว่า เคยมีคนจะขอซื้อที่ดิน แต่ตนไม่ขายเพราะชอบบรรยายกาศที่ผสมผสานระหว่างป่ากับทะเล โดยทราบว่า หากขายแล้วเจ้าของรายใหม่จะโค่นต้นไม้ทิ้งทั้งหมดแล้วแทนที่ด้วยคอนกรีต
หลังฟูลมูนปาร์ตี้จบลง หาดริ้นนอก หรืออีกชื่อคือ Sunrise Beach ก็ถูกเก็บกวาดทำความสะอาด นักท่องเที่ยวอาศัยรถแท็กซี่ไปยังท่าเรือเฟอร์รี่ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกเดือน แต่ในช่วงเวลาที่ไม่มีคลื่นมนุษย์ เสียงแห่งธรรมชาติอย่างนกและแมลงก็ถูกได้ยินอย่างแจ่มชัด การขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวรอบเกาะพะงันเป็นกิจกรรมสร้างความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง ระหว่างทางสามารถพบเห็นสุนัขยืนมึนๆ ลิงแสมที่กินผลไม้จากผู้คนที่สัญจรไป-มา รวมถึงไก่
เซอร์จิโอ วิดัส (Sergio Vidas) ชาวโปรตุเกสที่มาเปิดร้านกาแฟ Fat Cat Coffee & More บนเกาะพะงัน กล่าวว่า บรรยากาศความเป็นธรรมชาติคือสิ่งที่น่าสนใจของเกาะนี้ ร้านนั้นตั้งอยู่ในย่านท้องศาลา ที่นี่ยังเป็นชุมชนประมงพื้นบ้านของเกาะด้วย พื้นที่เกาะพะงันเกือบครึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติธารเสด็จ แม้บางส่วนขะถูกรีสอร์ทรบกวนบ้าง แต่ด้วยภูมิประเทศแบบเนินเขา ทำให้ป่าฝนแห่งนี้ไม่ถูกทำลายจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่
ในส่วนพื้นที่ลุ่มมีหมู่บ้านตั้งอยู่หลายแห่ง ทั้งหมดเชื่อมต่อกันด้วยถนนสายเล็กๆ ที่ปกคลุมด้วยร่วมเงาของต้นไม้ ยังมีวัดและน้ำตกอยู่ในเส้นทาง ผู้เขียนเดินทางสลับกับหยุดพักตามร้านค้าที่เป็นเพิงเพื่อซื้อน้ำมะพราวเย็นๆ มาดื่มดับความร้อน มีจุดหนึ่งว่ากันว่าเป็นต้นไม้ที่สูงที่สุดบนเกาะ ต้นยางนานั้นดูราวกับยักษ์เพราะสูงถึง 177 ฟุต หรือ 54 เมตร มีอายุ 400 ปี มากกว่ากรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยเสียอีก มันให้มุมมองบางอย่างเกี่ยวกับอายุขัยของมนุษย์
“หาดแม่หาด” ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะพะงัน มีสันดอนทรายนำไปสู่โขดหิน เป็นทิวทัศน์ที่สวยงามอีกจุดหนึ่ง ที่นี่เป็นจุดที่นักดำน้ำนิยมมาดูปะการัง ผู้เขียนมองลอดผิวน้ำแล้วเห็นปลาหมึกกำลังคืบคลานอยู่บนพื้นในทะเล และมีปลาอื่นๆ ว่ายน้ำผ่านมันไป ด้านตะวันตกมี “หาดเซน” รายรอบด้วยสถานที่เล่นโยคะและร้านอาหารมังสวิรัติ จุดนี้เป็นที่นิยมของชาวโบฮีเมียน (Bohemian) มาดิ่มด่ำกับเกาะเล็กเกาะน้อยรอบอ่าวไทย
“หาดท้องนายปานใหญ่” ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ ผู้เขียนหยุดพักที่ Flipflop Pharmacy Bar มันให้ความรู้สึกถึงเทศกาลดนตรี Woodstock และใกล้เคียงกับบรรยากาศของเกาะภูเก็ตและเกาะสมุย เบิร์ท บูเดล (Bert Budel) เจ้าของร้าน เล่าว่า เมื่อ 23 ปีก่อนแถวนี้ไม่มีอะไรเลย ไม่มีแม้กระทั่งถนนราดยางที่เชื่อมกับย่านท้องศาลา ซึ่งต่างกับปัจจุบันที่มีที่พักเกิดขึ้นเรียงรายในลักษณะบังกะโลแนวราบ
บูเดล เฝ้ามองความเจริญของเกาะพะงันมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งทุกอย่างหยุดชะงักในเดือน เม.ย. 2563 ในช่วงเริ่มต้นของสถานการณ์โควิด-19 ร้านต้องปิดไป 1 เดือน แต่ก็กลับมาเปิดอีกครั้งเพื่อให้บริการคนในพื้นที่และคนต่างถิ่นที่ตกค้าง ซึ่งในกลุ่มหลังนั้นมีหลายคนตัดสินใจปักหลักหางานทำที่เกาะนี้เสียเลย ผู้เขียนบรรยายต่อไปว่า รีสอร์ทหลายแห่งไปไม่รอดต้องปิดตัวลงจากสถานการณ์โควิด-19 แต่นักท่องเที่ยวกำลังกลับมาแล้ว เพราะนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 ทางการไทยได้ยกเลิกกฎการกักตัวนักท่องเที่ยว กรณีฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบตามที่วัคซีนนั้นกำหนด
Sureewat Yodpotnong เล่าว่า เคยสอนมวยไทยที่เกาะภูเก็ตอยู่ 15 ปี แต่วิกฤติโรคระบาดครั้งใหญ่ทำให้ต้องกลับไปบ้านเกิดในชนบททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย กระทั่งเมื่อกิจการต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดทำการอีกครั้งในปี 2565 และมีเพื่อนชวนมาที่เกาะพะงัน จึงตัดสินใจมาเปิดค่ายมวย “JLM Muaythai” ขึ้นที่นี่ แม้จะเพิ่งเริ่มสอนได้ไม่กี่เดือน แต่ก็มีคนไม่น้อยทยอยกันเข้ามาเรียนแล้ว
Pui Wichitra เล่าว่า เคยเป็นนักร้องในกรุงเทพฯ อยู่ 3 ปี กระทั่งบาร์และทั้งเมืองเข้าสู่ช่วงล็อกดาวน์ การสูญเสียงานทั้งหมดทำให้ตัดสินใจเดินทางมาที่เกาะพะงันและรู้สึกตกหลุมรัก ที่นี่ไม่เพียงสวยงาม แต่ยังเป็นสถานที่ทางดนตรีอีกด้วย ไม่ใช่แค่เหล่าดีเจ แต่ยังรวมถึงนักดนตรี ตนเองเพิ่งมาที่นี่ได้ไม่กี่เดือน แล้วก็เจอเพื่อนใหม่ที่มาร่วมตั้งวงดนตรี “Drifting Island” ปัจจุบันมีคิวแสดง 4-5 งานต่อสัปดาห์ นอกจากนั้นยังมีงาน open-mic nights และการแสดงที่ Jam Bar เวทีกลางแจ้งที่รายรอบด้วยป่าไผ่ ที่นั่นมีนักดนตรีหลากหลายเชาติมารวมตัวกันสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
Jam Bar ตั้งอยู่ตอนกลางของเกาะพะงัน เมื่อขับรถขึ้นไปทางทิศเหนือไม่ไกลนักจะพบกับศาลเจ้าแม่กวนอิม เทพแห่งความเมตตาตามความเชื่อของชาวจีน จากนั้นเดินทางขึ้นเหนือไปอีกจะสุดทางที่ “หาดโฉลกหลำ” ผู้เขียนระบุว่า นอกจากชายหาดจะสวยงามแล้ว ยังมีตลาดนัดวันอาทิตย์ และอาหารขึ้นชื่อของท้องถิ่นอย่างผัดไทยราดซอสมะพร้าวขายอยู่แถวท่าเรือ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี