สื่อสิงคโปร์ตีข่าว ‘ขอนแก่น’ ท้องถิ่น-เอกชนผนึกกำลังวางระบบ ‘รถไฟฟ้า’ ทลายข้อจำกัด ‘รัฐรวมศูนย์’
11 มี.ค. 2566 The Straits Times นสพ.ท้องถิ่นของสิงคโปร์ เสนอรายงานพิเศษ Thailand’s first urban rail network outside of Bangkok to be built from 2024 ว่าด้วย “ขอนแก่น (Khon Kaen)” จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ของไทย กำลังจะเป็นเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลข้างเคียง ที่มีระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าเป็นแห่งแรก และที่น่าสนใจคือทั้งหมดมาจากความทะเยอทะยานของภาคเอกชนในจังหวัด แม้กลไกภาครัฐจะมีข้อจำกัดก็ตาม
โครงการรถไฟฟ้าขนาดเบา ระยะทาง 26 กิโลเมตร ในพื้นที่ตัวเมืองของจังหวัดขอนแก่น มูลค่า 813 ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือราว 2.16 หมื่นล้านบาท สอดรับกับแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รวมถึงยังเชื่อมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงทิ่เส้นทางจากจีนผ่าน สปป.ลาว เข้ามายังประเทศไทยด้วย โดย สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย (Suradech Taweesaengsakulthai) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการแบบนี้ผู้คนมักพึ่งพารัฐบาลกลางในการนำและวางแผน แต่ที่ขอนแก่น เราเห็น “จุดอ่อน (Pain point)” ของเมือง
สุรเดช ชายวัย 57 ปี มีอีกสถานะคือเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท พัฒนาเมืองขอนแก่น จำกัด (KKTT) ซึ่งเป็นเครือข่ายกลุ่มทุนในท้องถิ่น บริษัทมีภารกิจเจรจากับรัฐบาลกลางเพื่ออนุมัติโครงการที่วางไว้ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีโครงสร้างการปกครองที่รวมศูนย์ รัฐบาลกลางมีอำนาจมากในการควบคุมการใช้จ่ายหรือจัดสรรงบประมาณ และโดยทั่วไปแล้วทรัพยากรจะกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ หรือเมืองที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนา
จักรกฤษ กมุทมาศ (Jackrit Kamudhamas) อาจารย์ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ความสำเร็จในการอนุมัติและการเริ่มต้นโครงการรถไฟฟ้ารางเบาในจังหวัดรอง เช่น ขอนแก่น แสดงถึงการกระจายอำนาจของกระบวนการพัฒนาและการกระจายทรัพยากร สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นมากกว่าระบบขนส่ง แต่แสดงถึงการต่อสู้กับการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเมืองหลวงและเมืองในภูมิภาค
จ.ขอนแก่น มีประชากรเกือบ 2 ล้านคน แม้ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของผู้มาเยือนชาวต่างชาติ แต่ก็มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจากเขตอุตสาหกรรมไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคสำหรับกิจกรรมทางการเงิน การศึกษา และการบริหาร และปัจจุบันก็ประสบปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหาความหนาแน่นของเมืองไม่ต่างจากกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีนักศึกษามากกว่า 40,000 คน
หลายทศวรรษที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ได้สร้างโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนอย่างหนาแน่นที่ครอบคลุมมากกว่า 200 กม. โดยมีส่วนต่อขยายหลายส่วนอยู่ในงาน แต่นั่นก็เป็นเพียงเมืองเดียวของไทยที่มีระบบขนส่งมวลชนเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นแทนที่จะรอเงินทุนและทรัพยากรที่จะจ่ายให้กับเมืองของพวกเขา ผู้อยู่อาศัยในเมืองขอนแก่นอย่าง สุรเดช ตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องดำเนินการอย่างอิสระ แม้ว่าจะต้องออกเงินเองก็ตาม นั่นเป็นที่มาของการก่อตั้ง KKTT ซึ่งนอกจากภาคธุรกิจในท้องถิ่นแล้ว ยังมีนักวิชาการและผู้นำชุมชน รวม 20 คน
“เรามีเงิน ก็เลยตกลงกันว่าจะลงเงินกันคนละ 10 ล้านบาท หากสิ่งนั้นสามารถพัฒนาขอนแก่นให้ดีขึ้นได้ นั่นคือการเดิมพันที่เราเต็มใจทำ บริษัทเริ่มดำเนินการในปี 2558 ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท สำหรับสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเมือง” สุรเดช ระบุ
แผนดังกล่าวถูกเรียกว่า “จอนแก่นโมเดล (Khon Kaen Model)” เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างเครือข่ายรถไฟฟ้ารางเบาเพื่อเป็นแกนหลักในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเมือง นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างการจ้างงานและอุตสาหกรรมระบบรางที่สามารถขายความรู้และเทคโนโลยีให้กับผู้อื่นได้ อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลท้องถิ่นในระดับเทศบาล จำนวน 5 แห่ง ในจ.ขอนแก่น ได้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) การประสานระหว่างทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้จัดการกับข้อจำกัดเรื่องกลไกภาครัฐเรียบร้อยลงในปี 2561
KKTS จะเป็นเจ้าของและดำเนินการรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งคล้ายกับวิธีที่บริษัท กรุงเทพธนาคม ที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานการลงทุนของกรุงเทพฯ จัดการโครงการขนส่งสาธารณะ แม้ว่าโครงการจะไม่ได้พึ่งพาเงินทุนจากรัฐบาลกลาง แต่ก็ยังต้องการการรับรองและการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเหมาะสม ตัวแทนอย่าง สุรเดช ใช้เวลา 8 ปีที่ผ่านมาเพื่อขอความเห็นชอบจากหน่วยงานท้องถิ่น ภูมิภาค และส่วนกลาง ท่ามกลางการถูกเพ่งเล็งว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาลกลาง ซึ่งเวลานั้นปกครองโดยทหาร
“เราบอกรัฐบาลขณะนั้นคือ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ว่าโครงการนี้แตกต่างออกไป เราแค่ต้องการการอนุมัติจากคุณ เราจะหาเงินและดำเนินการทุกอย่างเอง นี่จึงเป็นกุญแจสำคัญ” สุรเดช กล่าว
รัฐบาลทหารโดย คสช. ปกครองประเทศไทยช่วงปี 2557-2562 โครงการรถไฟฟ้ารางเบาใช้เวลา 4 ปีกว่าจะผ่านหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะอนุมัติขั้นสุดท้ายผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี ในปี 2561 โครงการนี้คาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทนภายในซึ่งเป็นมาตรวัดความสามารถในการทำกำไรมากกว่าร้อยละ 9 และสิ่งนี้จะทำให้ KKTS สามารถยืมเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการได้
พวกเขายังคิดการณ์ไกลไปมากกว่านั้น นั่นคือวางแผนพาโครงการเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเงินทุนที่ระดมทุนมาได้จะถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนเครือข่ายและสนับสนุนโครงการระดับจังหวัดในอนาคต โครงการรถไฟฟ้ารางเบาใน จ.ขอนแก่น คาดว่าจะเริ่มเปิดใช้งานได้ในปี 2567 การก่อสร้างเกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของบริษัท ช ทวี ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองใช้งาน
สุรเดช ให้ความเห็นว่า แทนที่จะล้มล้างรัฐบาลกลาง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการ “ทลายข้อจำกัด (Disrupt)” ของกระบวนการทางปกครอง และอนุญาตให้จังหวัดต่างๆ ริเริ่มโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อเมืองของตน ทั้งนี้ ผลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ศักยภาพที่จะได้รับจากเครือข่ายรถไฟฟ้ารางเบาขอนแก่นรวมถึงการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 1.5
จังหวัดอื่น ๆ ก็ได้เริ่ม KKTS เวอร์ชั่นของตนเองเช่นกัน และในเดือน ม.ค. 2565 รัฐบาลกล่าวว่าจะทำโครงการรถไฟรางด่วนใน 6 จังหวัด รวมทั้งในขอนแก่น ซึ่ง สุรเดช เล่าอีกว่า แม้โครงการรถไฟฟ้ารางเบาจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่เริ่มต้น แต่สำหรับตนนั้นมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์มาโดยตลอด เมื่อก่อนมีคนแซวกันมาก แต่พอขอนแก่นเริ่มตอกเสาเข็มและมีพิธีเปิด ตนก็มั่นใจว่าคนจะอยากทำสิ่งที่พวกตนทำ ขณะที่ อาจารย์จักรกฤษ ซึ่งอาศัยใน จ.ขอนแก่นมา นาน ก็ยอมรับว่าประหลาดใจไม่น้อยที่โครงการมาได้ถึงขนาดนี้
“ความสำเร็จในการได้รับการอนุมัติจากทุกฝ่ายรวมถึงรัฐบาลกลางนั้นถือเป็นประวัติศาสตร์ พวกเขาได้ปูทางในแง่ของการคิดนอกกรอบ การมีโครงการมูลค่าหลายพันล้านที่ขับเคลื่อนโดยท้องถิ่นนั้นเป็นเรื่องที่คิดไม่ถึงมาก่อน” อาจารย์จักรกฤษ กล่าวทิ้งท้าย -009
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี