โลกจับตาเลือกตั้งไทย จุดหัวเลี้ยวหัวต่อสู่ความขัดแย้งรอบใหม่-นโยบายต่างประเทศกับการแข่งขันของมหาอำนาจ
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 สำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ เผยแพร่รายงานพิเศษ ‘Time for a new way’: Thais look for change as election nears ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของไทย ในวันที่ 14 พ.ค.2566 ซึ่งมีความสำคัญทั้งภายในประเทศไทยเอง ระหว่างการต่อสู้ของฝ่ายกุมอำนาจเดิม นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (Prayuth Chan-ocha) จากพรรครวมไทยสร้างชาติ และฝ่ายตรงข้ามนำโดย แพทองธาร ชินวัตร (Paetongtarn Shinawatra) จากพรรคเพื่อไทย กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (Pita Limjaroenrat) จากพรรคก้าวไกล และสำคัญกับการเมืองระหว่างประเทศ บนการขับเคี่ยวระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา
รายงานเริ่มด้วยการเล่าย้อนไปในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อปรากฏภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ สวมเสื้อลายดอกร่วมเล่นสาดน้ำกับประชาชนบริเวณถนนข้าวสาร ตัดสลับไปยังผลโพลที่พบว่า ประชาชนเทคะแนนไปยังคู่แข่งอย่างแพทองธารและพิธามากกว่า สำหรับแพทองธารนั้นเป็นลูกสาวของ ทักษิณ ชินวัตร (Thaksin Shinawatra) และหลานสาวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (Yingluck Shinawatra) 2 อดีตนายกรัฐมนตรีไทยที่ถูกกองทัพทำรัฐประหาร โดยกรณีของยิ่งลักษณ์นั้น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ทำรัฐประหารในปี 2557 สมัยยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แต่ถึงจะมีความพยายามสกัดกั้นอย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลยังคงยืนหยัดได้อย่างน่าทึ่ง
ถึงกระนั้น กระแสข่าวที่ว่า พรรคเพื่อไทยอาจทำข้อตกลงกับพรรคการเมืองที่สนับสนุนโดยกองทัพ ได้ทำให้ “กลุ่มคนรุ่นใหม่” บางรายกังวลใจ อาทิ Sirikanda Jariyanukoon หญิงวัย 26 ปี ชาว จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ตนจะเลือกพรรคก้าวไกล เพราะยึดมั่นหลักการประชาธิปไตยและไม่สนับสนุนรัฐประหาร อีกทั้งมีนโยบายมากมายที่พยายามแก้ปัญหาในสังคมไทย แต่จะไม่เลือกพรรคเพื่อไทย เพราะถึงเวลาของการเมืองใหม่ๆ คนใหม่ๆ พรรคใหม่ๆ และรูปแบบเก่าๆ ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยอีกต่อไป
เช่นเดียวกับ Rawipa หญิงวัย 20 เศษ อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ยืนยันว่า ตนจะเลือกพรรคก้าวไกลและสนับสนุนพิธา ซึ่งก่อนนั้นนั้น ตนเคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่แต่นโยบายและการสื่อสารของพรรคเพื่อไทยสิ้นหวังเกินไป ในขณะที่พรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นผู้นำแบบหัวก้าวหน้า ซึ่งต้องบอกว่าคนไทยมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตนจึงสงสัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพวกของเขาจะปฏิเสธเจตจำนงของประชาชนได้ตลอดไปจริงหรือ เพราะภายใต้การปกครองของ พล.อ.ประยุทธ์ มีกระแสความไม่พอใจเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยตนนั้นต้องการให้การเมืองปฏิรูปเพื่อป้องกันทั้งการรัฐประหารและผู้นำแบบประชานิยม
พรรคเพื่อไทยนั้นเป็นพรรคที่สืบทอดเชื่อมโยงมาจากพรรคของทักษิณที่ก่อตั้งขึ้นก่อนหน้านั้น ขณะที่พรรคก้าวไกล เป็นพรรครุ่นที่ 2 ต่อจาก พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งก่อตั้งโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (Thanathorn Juangroongruangkit) นักธุรกิจที่มีบุคลิกดึงดูดใจผู้คน ในการเลือกตั้ง สส. เมื่อปี 2562 พรรคดังกล่าวสร้างความตกตะลึงให้กับบรรดาชนชั้นนำของไทย กับการได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 3 แต่หลังจากนั้นพรรคอนาคตใหม่ก็ถูกยุบ ธนาธรถูกแบนจากการเมือง และพรรคก้าวไกลก็มารับช่วงต่อ
ขณะเดียวกัน ยังมีการลุกฮือของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ชุมนุมประท้วงในกรุงเทพฯ ท้าทายชนชั้นนำเดิม โดยเฉพาะการพูดถึงประเด็นข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นเรื่องที่ยุคสมัยก่อนหน้านี้คือ “เรื่องต้องห้าม (Taboo)” ในสังคมไทย แต่ความท้าทายของทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล นั่นคือการจะตั้งรัฐบาลได้ จำเป็นต้องมีเสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 376 เสียง เนื่องจากเป็นการประชุมร่วมกันของ ส.ส. 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 คน รวม 750 คน ซึ่ง สว. นั้นมาจากการแต่งตั้งในยุครัฐบาลทหาร
ดังนั้น ชัยชนะของฝ่ายตรงข้ามต่ออำนาจเก่า จึงตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่า นักการเมืองกลุ่มดังกล่าวหรือพรรคการเมืองของพวกเขาจะไม่ถูกยุบหรือถูกกีดกันออกจากตำแหน่งโดยผู้มีอำนาจหลังการเมืองตั้ง อนึ่ง ในการเลือกตั้งปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐ แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ย้ายไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐนั้นมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (Prawit Wongsuwan) เป็นหัวหน้าพรรค ถึงกระนั้น ทั้งคู่ปฏิเสธข่าวเรื่องความแตกแยกกันเอง
ในเดือน เม.ย.2566 พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นของไทย มั่นใจว่าพรรครวมไทยสร้างชาติจะได้ ส.ส.อย่างน้อย 25 ที่นั่งในสภา ซึ่งเป็นจำนวนที่เข้าเกณฑ์พรรคสามารถเสนอชื่อบุคคลชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะที่เป็นนายกฯ มาแล้วและรักษาการณ์อยู่ในปัจจุบัน ย้ำว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะสานต่อสิ่งที่ทำไว้ โดยเฉพาะการปกป้องประเทศและปกป้องสถาบันหลักของชาติ จึงอยากให้ประชาชนเชื่อในสิ่งที่ตนเคยทำ อีกด้านหนึ่ง พล.อ.ประวิตร แสดงจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน 20 ล้านคน โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนที่ดินและแหล่งน้ำ
รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ (Thitinan Pongsudhirak) อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ จะเป็นการตัดสินว่า การเมืองแบบอนุรักษ์นิยมจารีตซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้มข้นขึ้นหรือไม่ หรือจะเกิดการประนีประนอมระหว่างกองทัพกับการเมืองฝ่ายนิยมประชาธิปไตยเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการปกครอง แต่หากการเลือกตั้งถูกล้มล้างอีกครั้ง ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อผู้นำทางการเมืองก็จะยิ่งบั่นทอน พร้อมกับยกตัวอย่างวิกฤตในเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่กองทัพทำรัฐประหารในเดือน ก.พ.2564
รายงานข่าวของสื่อกาตาร์ ยังกล่าวถึงภูมิทัศน์การเมืองระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงกับการเมืองไทย นั่นคือการแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นขึ้นระหว่าง 2 มหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ กับจีน ในยุคสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ มีข้อสังเกตว่าดูเหมือนไทยจะขยับไปใกล้ชิดจีนมากขึ้น รวมถึงการละเว้นมติขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และยอมรับผู้นำรัฐบาลทหารของเมียนมา แต่แนวทางนี้ก็อาจเปลี่ยนได้หากมีผู้นำรายอื่นขึ้นมามีอำนาจปกครองแทนที่
กษิต ภิรมย์ (Kasit Piromya) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ มองว่า หากผลการเลือกตั้งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยอาจเปลี่ยนแปลงไป โดยยกตัวอย่างความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.มินอ่องหล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อนโยบายไม่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์เช่นนั้นอีก ซึ่งนโยบายต่างประเทศในปัจจุบันถูกกำหนดโดยการหลีกเลี่ยงจุดยืนและความมุ่งมั่นของนโยบายต่างประเทศ หรือไม่ทำอะไรเลยเพื่อไม่ให้เรือล่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ
แซค อาบูซา (Zach Abuza) อาจารย์วิทยาลัยการสงครามแห่งชาติ กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ ส.ว.จะลงมติขัดขวางไม่ให้พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล เพราะกองทัพเลือก ส.ว.ด้วยจุดประสงค์เดียวคือไม่ต้องการให้ทักษิณมีบทบาทกับการเมืองไทย อย่างไรก็ตาม ไมเคิล อึ้ง (Michael Ng) อดีตรองหัวหน้าสำนักงานรัฐบาลฮ่องกงในกรุงเทพฯ กล่าวว่า การปฏิเสธสิทธิในการปกครองของฝ่ายที่ชนะจะทำให้การแบ่งแยกที่ลึกอยู่แล้วยิ่งรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวจะรู้สึกท้อแท้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งนี้เป็นอันตรายต่อประเทศไทย
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี