เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 Los Angeles Daily News นสพ.ท้องถิ่นในเมืองลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เสนอรายงานพิเศษ Thousands of street vendors are hit hard by severe heat wave in Los Angeles ระบุว่า สภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ส่งผลกระทบต่อผุ้จำหน่ายสินค้าริมทางซึ่งทำการค้าในพื้นที่กลางแจ้ง เนื่องจากจำนวนลูกค้าลดลงทำให้รายได้น้อยลง อีกทั้งยังทำให้สุขภาพของผู้ค้าเองแย่ลงด้วย
ซิลเบีย มาร์ติเนซ (Silbia Martinez) แม่ค้าขายทาโก้ (Taco-อาหารจานด่วนแบบเม็กซิกัน) ตั้งแผงค้าอยู่ใต้ต้นไม้บริเวณหัวมุมหนึ่่งในย่านปาโคมา สมาแล้ว 20 ปี ตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจที่ไม่ดีบวกกับอากาศร้อนทำให้คนไม่ค่อยออกมาซื้อของ และความร้อนก็ยังมีผลกับร่างกายของทั้งตนเองและลูกค้า ซึ่ง มาร์ติเนซ เป็นหนึ่งในผู้ค้าริมทางนับพันในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ขายสินค้าจิปาถะทั้งผลไม้ ขนมขบเคี้ยว ทาโก้ ฮอทด็อก ดอกไม้ และอื่นๆ และแม้อุณหภูมิของหน้าร้อนปีนี้จะสูงขึ้น แต่ผู้ค้ากลางแจ้งก็ต้องประกอบอาชีพโดยไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือที่พักหลบแดดในอาคาร
กัวดูลูเป เรเยส (Guadulupe Reyes) แม่ค้าผลไม้ในย่านเอ็นซิโน ซึ่งทำการค้ามาแล้ว 16 ปี กล่าวว่า แม้ตนจะชินกับอากาศร้อน แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำมาหากินภายใต้สภาพแบบนี้เพราะจำนวนลูกค้าลดลง เช่นเดียวกับ เอเวลิโอ กาลิเซีย (Evelio Galicia) พ่อค้าขายขนมขบเคี้ยวในย่านแวนนายส์ กล่าวว่า ตนต้องทำงาน 8 ชั่วโมงทุกวันไม่มีวันหยุด เพราะต้องหาเลี้ยงครอบครัวซึ่งอยู่ในฝั่งประเทศเม็กซิโก แม้อากาศร้อนจะส่งผลต่อสุขภาพ รวมถึง โซเนีย โคลินเดรส (Zonia Colindres) ผู้ขายทาโก้อีกรายในย่านพาโคมา กล่าวว่า การอยู่กลางแจ้งทั้งวันทำให้มีอาการปวดศีรษะ
ศ.ไมเคิล เมนเดส (Prof.Michael Mendez) อาจารย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ (UCI) ซึ่งศึกษาประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศกับผลกระทบต่อประชากรฐานรากและคนชายขอบ กล่าวว่า คนทำงานกลางแจ้งตั้งแต่แรงงานภาคเกษตร คนงานก่อสร้าง ไปจนถึงผู้ขายสินค้าริมทาง มักได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากคลื่นความร้อน จึงเป็นปัญหาความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม
“ผู้ค้าริมถนนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารหรือประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ พวกเขาไม่มีเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมที่จะปกป้องพวกเขาและหางานประเภทอื่น คลื่นความร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหล่านี้เป็นตัวแทนของความไม่เท่าเทียมกันที่มีอยู่” เมนเดส กล่าว
เมนเดส กล่าวต่อไปว่า ผู้ขายสินค้าริมถนนที่ลำบากมักเผชิญกับปัญหาที่ใหญ่กว่าสำหรับคนงานที่มีรายได้น้อยในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมืองต่างๆ เช่น ลอสแองเจลิส จำเป็นต้องเพิ่มความเขียวขจีและวางแผนให้รถยนต์เป็นศูนย์กลางน้อยลง เพราะมีปรากฏการณ์ที่มักเรียกว่า “เกาะความร้อนในเมือง (Urban Heat Island)” เพราะเมืองเต็มไปด้วยคอนกรีตและยางมะตอย มีพื้นที่สีเขียวหรือต้นไม้น้อยมาก และมีร่มเงาเล็กน้อย มันเพิ่มอุณหภูมิในพื้นที่และทำให้ภาระหนักขึ้น รวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนโดยเฉพาะคนทำงานกลางแจ้ง เกี่ยวกับอันตรายและสัญญาณของการเจ็บป่วยจากความร้อนเป็นกุญแจสำคัญ
เบรนดา แจ็คลิทช์ (Brenda Jacklitsch) นักวิจัยจากสถาบันแห่งชาติเพื่อความปลอดภัยและอาชีวอนามัย กล่าวว่า อุณหภูมิที่กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้อยู่อาศัยในแคลิฟอร์เนียตอนใต้อาจเป็นอันตรายต่อคนทำงานได้ อุณหภูมิที่สูงประกอบกับความร้อนภายในร่างกายระหว่างการใช้แรงงานสามารถนำไปสู่ความเครียดจากความร้อนและแม้แต่โรคลมแดดได้ เงื่อนไขเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยอาการป่วยที่ต้องระวัง ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และสับสน แต่การหยุดพักก็เป็นเรื่องท้าทายของผู้ค้าริมทางที่ดำเนินกิจการโดยลำพัง
“เมื่อมีคนเจ็บป่วยจากความร้อน พวกเขาต้องสามารถหยุดสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่และทำใจให้เย็นลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ร่มหรือพื้นที่ปรับอากาศ พวกเขายังต้องได้รับของเหลวเพียงพอและเปลี่ยนอิเล็กโทรไลต์ด้วยการดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ การให้น้ำและการหยุดพักบ่อยๆ เป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันโรคอันตรายจากความร้อน” แจ็คลิทช์ กล่าว (ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'ร้อนระอุ'ซ้ำเติม'เหลื่อมล้ำ'ทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญชี้‘กลุ่มเปราะบาง’ยิ่งเสี่ยง)
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี