‘อังกฤษ’ออกกฏหมายห้ามเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์‘อเมริกัน บูลลี่’ มีผลสิ้นปี’66 หลังพบเหตุกัดคนหลายครั้งเป็นอันตรายต่อชุมชนโดยเฉพาะลูกหลาน
16 ก.ย. 2566 นสพ.Daily Mail ของอังกฤษ เสนอรายงานพิเศษ What happened the last time Britain banned dangerous dogs - and the mistakes that the Government must not repeat this time around อ้างการเปิดเผยของ ริชี ซูแน็ก (Rishi Sunak) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ว่า รัฐบาลเตรียมออกกฎหมายห้ามเลี้ยงสุนัขพันธุ์ “อเมริกัน บูลลี่ (American XL Bully)” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่สิ้นปี 2566 เป็นต้นไป หลังมีรายงานหลายครั้งกรณีสุนัขพันธุ์ดังกล่าวทำอันตรายคน และอธิบายเพิ่มเติมว่า เกณฑ์การห้ามนั้นพิจารณาถึงรูปแบบพฤติกรรมที่ไม่สามารถให้ทำต่อไปได้
ย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน เคนเน็ธ เบเกอร์ (Kenneth Baker) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ (ในขณะนั้น) ได้ประกาศว่าจะแบนสุนัขพันธุ์ “พิทบูล เทอร์เรีย (Pit Bull Terrier)” ด้วยเหตุผลเดียวกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ รักษณา ข่าน (Rukhsana Khan) เด็กวัย 6 ขวบ ที่เมืองแบรตฟอร์ต นำไปสู่การออก พ.ร.บ.สุนัขอันตราย พ.ศ.2534 (Dangerous Dogs Act 1991) จากนั้นสุนัขพันธุ์พิทบูล โดสะ (Dosa-สุนัขพันธุ์ใหญ่ของญี่ปุ่น) โดโก อาร์เจนติโน (Dogo Argentino-สุนัขพันธุ์ใหญ่ของอาร์เจนตินา) ฟิลา บราซิเลโร (Fila Brasileiro-สุนัขพันธุ์ของบราซิล) ก็ถูกแบน
ตามกฎหมายดังกล่าวระบุว่า สำหรับผู้ที่ครอบครองสุนัขสายพันธุ์ต้องห้ามก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะต้องทำหมันสุนัขและขึ้นทะเบียนด้วยรอยสักและการฝังไมโครชิป การพาสุนัขเหล่านี้ออกไปนอกเคหสถานต้องสวมอุปกรณ์ครอบปาก และเจ้าของต้องซื้อประกันบุคคลที่สามในกรณีที่สัตว์เลี้ยงไปทำร้ายผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ก่อนเส้นตายมีผลบังคับใช้ในปี 2534 พบว่า 3 ใน 4 ของผู้เลี้ยงสุนัขพิตบูลจำนวน 10,000 ตัวในอังกฤษล้มเหลวในการนำสุนัขไปขึ้นทะเบียน และนั่นจะเป็นความท้าทายเมื่อปัจจุบันรัฐบาลเมืองผู้ดีกำลังจะสั่งแบนสุนัขพันธุ์อเมริกัน บูลลี่
ก่อนที่รัฐสภาอังกฤษจะลงมติให้ (ร่าง) พ.ร.บ.สุนัขอันตราย ผ่านในปี 2534 มีการยกกรณีของ รักษณา ข่าน รวมถึง แฟรงค์ เทมเปส (Frank Tempest) ขึ้นเป็นตัวอย่างถึงความจำเป็นในการออกกฎหมาย โดย เทมเปส นั้นถูกสุนัขพันธุ์พิทบูล 2 ตัวทำร้าย ได้รับบาดเจ็บเป็นแผลหลายแห่งตามร่างกายโดยเฉพาะที่จมูก เหตุเกิดเมื่อเดือน เม.ย. 2534 ก่อนที่กฎหมายจะผ่านออกมาไม่กี่เดือน
พ.ร.บ.สุนัขอันตราย พ.ศ.2534 มีบทลงโทษกับเจ้าของสุนัขที่ปล่อยปละละเลยให้สัตว์เลี้ยงของตนก่ออันตราย อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีข้อขัดแย้งท่ามกลางรายงานเหตุคนถูกสุนัขกัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังที่ ราชสมาคมเพื่อการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ (RSPCA) องค์กรการกุศลชั้นนำด้านการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ในอังกฤษ เคยแสดงความกังวลว่า กฎหมายดังกล่าวทำให้ผู้คนเชื่อว่าสุนัขที่ไม่ถูกห้ามเลี้ยงนั้นปลอดภัย เช่นเดียวกับองค์กร Battersea Dogs & Cats Home ที่มองว่ากฎหมายออกมาอย่างไม่รอบคอบ ไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา
สุนัขพันธุ์อเมริกันพิทบูลมีต้นกำเนิดในอังกฤษและได้รับการเลี้ยงดูมาโดยคำนึงถึงการต่อสู้เป็นหลัก มันถูกใช้ในการล่อวัวและหมีจนถึงต้นศตวรรษที่ 19 (ปี 2343-2442) เมื่อกิจกรรมทั้งสองถูกห้าม ทั้งนี้ กรณีของ รักษณา ข่าน เด็กหญิงผู้นี้ถูกทำร้ายขณะข้ามสนามเด็กเล่นกับน้องสาว ลูกพี่ลูกน้อง 4 คน และป้า 2 คน พิทบูลที่เจ้าของเป็นหญิงตั้งครรภ์พามาเดินออกกำลังกาย หลุดจากการควบคุมก่อนจะมุ่งเป้าไปที่เด็กน้อย
รายงานข่าวของ Daily Mail ในเวลานั้น บรรยายเหตุการณ์ว่า สุนัขฉีกหน้าอกของเด็ก ทุบหน้าของเธอบนพื้นถนนซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเขย่าเธอจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง เด็กหญิงต้องการออกซิเจนและการผ่าตัดฉุกเฉินขณะพยายามหายใจ นอกจากนี้ สุนัขตัวนี้ยังหักซี่โครงของเธอ 4 ซี่ ฟัน 2 ซี่ และได้รับบาดเจ็บผิวเผินอื่นๆ อีกมากมาย โดยป้าของเด็กหญิง กล่าวว่า สุนัขกัดหลานสาวแบบจมเขี้ยวและเหวี่ยงร่างของเธอลงกับพื้น มันไม่ยอมปล่อยและกัดเธอตามร่างกายและใบหน้า รวมถึงฉีกเสื้อผ้าของเธอออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
เหตุการณ์จบลงด้วยลุงของเด็กหญิงเข้ามาช่วยเปิดปากสุนัข และผู้ชายคนอื่นๆ ได้เข้ามาทุบตีสุนัขด้วยท่อนไม้และก้อนอิฐ ซึ่งลุงของรักษณาก็ได้รับบาดเจ็บถูกถูกกัดเข้าที่แขนเช่นกัน จากนั้นในปี 2549 รักษณาในวัย 21 ปี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ยอมรับว่าเหตุการณ์นั้นยังคงเป็นฝันร้ายของเธอ และทำให้กลายเป็นโรคกลัวสุนัข เรียกว่าเห็นทีไรก็มักยืนตัวแข็งแบบควบคุมไม่ได้อยู่เสมอ
เช่นเดียกับกรณีของ แฟรงค์ เทมเปส เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเขากำลังเดินกลับบ้านหลังจากทำงานที่ร้านเบเกอรี่ สุนัขพิทบูล 2 ตัวที่หนีออกจากสวนหลังบ้านที่มันอาศัยอยู่ได้เข้ามากัด เขาได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน แพทย์ต้องทำการผ่าตัดหลายครั้งเพื่อสร้างจมูกใหม่และรักษาส่วนอื่นๆ ของใบหน้า ซึ่งหลังจากนั้น เทมเปส ได้ร้องขอให้แพทย์เปิดเผยภาพของเขาที่ถูกสุนัขกัดต่อสาธารณะ
ในช่วงที่ พ.ร.บ.สุนัขอันตรายผ่านออกมาบังคับใช้ สถิติแสดงให้เห็นว่า 1 ใน 9 ของพิทบูลมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องในแต่ละปี พิทบูลมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สุนัขอันตรายถึง 185 ครั้ง ขณะที่สถิติของสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์และอัลเซเชี่ยนอยู่ที่ 1 ใน 200 และ 1 ใน 300 ตามลำดับ ทั้งนี้ สุนัขที่ไม่ขึ้นทะเบียนอาจถูกยึดและทำลายทิ้ง เจ้าของเสี่ยงต่อการถูกปรับสูงถึง 2,000 ปอนด์ หรือราว 9 แสนบาท หรือจำคุกไม่เกือย 6 เดือน แต่ 1 วันก่อนถึงเส้นตายการลงทะเบียน มีเจ้าของเพียง 2,700 รายจากทั้งหมดประมาณ 10,000 รายเท่านั้นที่ปฏิบัติตาม
สุนัขพันธุ์โดสะของญี่ปุ่นซึ่งในอังกฤษพบได้น้อยกว่า มีต้นกำเนิดในศตวรรษที่ 19 และได้รับการเพาะพันธุ์มาเพื่อก๊ฬาการต่อสู้โดยเฉพาะ แนวปฏิบัติของโดสะคือสุนัขไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งเสียงใดๆ เมื่อต่อสู้ และกล่าวกันว่าโทสะสามารถทำเช่นนั้นอย่างเงียบๆ ได้ ขณะที่ โดโก อาร์เจนติโน และ ฟิลา บราซิเลโร ทั้ง 2 ชนิดเป็นสุนัขจากทวีปอเมริกาใต้ ยังไม่พบรายงานการเลี้ยงในอังกฤษ แต่ที่อยู่ในบัญชีสุนัขต้องห้ามเนื่องจากลักษณะกล้ามเนื้อและมีนิสัยชอบการต่อสู้
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2566 นสพ.Daily Mail รายงานข่าว XL bullies WILL be banned as attacks claim yet more victims: Rishi Sunak finally vows to crack down on the 'mutant' dogs - as man dies after being set upon by two of the animals, and horrific footage emerges of boy, 10, mauled as he plays outside his house ระบุเหตุการณ์ที่มีผู้ได้รับอันตรายจากสุนัขพันธุ์อเมริกัน บูลลี่ อาทิ ในช่วงบ่ายวันที่ 14 ก.ย. 2566 ชายคนหนึ่งถูกสุนัขดังกล่าว 2 ตัว กัดจนเสียชีวิต ใกล้กับโรงเรียนประถมในหมู่บ้านสโตนแนล เมืองวอลซอลล์ แทศมณฑลสตาฟฟอร์ดเชียร์
รวมถึงเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 มีรายงานสุนัขทำร้าย โมฮัมเหม็ด ซามี ราซา (Mohammed Sami Raza) เด็กชายวัย 10 ขวบ ขณะที่กำลังเล่นฟุตบอลอยู่บริเวณนอกรั้วหน้าบ้าน ที่ย่านเบนท์ลีย์ ไดร์ฟ ในเมืองวอลซอลล์ จนได้รับบาดเจ็บมีแผลตามแขนและขา ซึ่งภาพจากกล้องวงจรปิดเผยให้เห็นสุนัขวิ่งผ่านถนนก่อนที่จะหันหลังกลับและตะครุบร่างของเด็กชาย โดยลากลงไปที่พื้นขณะที่กัดแขนของเด็กชายแบบจมเขี้ยว
นั่นทำให้นายกฯ ซูแน็ก กล่าวว่า สุนัขพันธุ์อเมริกัน บูลลี่เป็นอันตรายต่อชุมชนโดยเฉพาะลูกหลาน และจากคลิปวีดีโอล่าสุดที่ได้เห็น นี่ไม่ใช่สุนัขที่ได้รับการฝึกฝนมาไม่ดีเพียงไม่กี่ตัว แต่เป็นพฤติกรรมแบบหนึ่งและไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าเจ้าของมีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมสุนัข แต่ตนต้องการให้ความมั่นใจกับประชาชนว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อหาวิธีหยุดการโจมตีเหล่านี้และปกป้องประโยชน์ของสาธารณะ
“ผมได้มอบหมายให้บรรดารัฐมนตรีนำตำรวจและผู้เชี่ยวชาญมารวมตัวกันเพื่อกำหนดสายพันธุ์ของสุนัขที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีเหล่านี้ก่อน เพื่อกำหนดให้สุนัขเหล่านั้นผิดกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันนี้ยังไม่ใช่สายพันธุ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ดังนั้นก้าวแรกที่สำคัญนี้จะต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากนั้นเราจะสั่งห้ามสุนัขพันธุ์นี้โดยอาศัยอำนาจของ พ.ร.บ.สุนัขอันตราย และกฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้” นายกฯ ซูแน็ก กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี