‘อินโดนีเซีย’แบนซื้อ-ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ลั่นต้องปกป้องพ่อค้า-แม่ค้าในตลาด
29 ก.ย.2566 สื่อต่างประเทศรายงาน อินโดนีเซียออกกฎห้ามการซื้อ-ขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) โดย นสพ.Daily Express สื่อท้องถิ่นในรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย เสนอข่าว Indonesia bans goods transactions on social media platforms ระบุว่า ซุลกิฟลี ฮาซัน (Zulkifli Hasan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของอินโดนีเซีย ประกาศเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ว่า ทางการได้ออกประกาศห้ามเพื่อปกป้องการค้าในตลาดออนไซต์ หรือตลาดทางกายภาพในพื้นที่จริง ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจขนาดเล็กหลายล้านรายได้รับผลกระทบ
ฮาซัน ได้กล่าวว่า ตอนนี้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-คอมเมิร์ซ (E-Commerce) ไม่สามารถกลายเป็นสื่อสังคมออนไลน์ได้ มันถูกแยกออกจากกัน โดยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พบกระแสเรียกร้องเพิ่มขึ้นในการมีกฎระเบียบเพื่อควบคุมสื่อสังคมออนไลน์และอี-คอมเมิร์ซ โดยพ่อค้า-แม่ค้าแบบมีหน้าร้านในโลกจริง มองว่า วิถีชีวิตของพวกตนถูกคุกคามจากการขายผลิตภัณฑ์ราคาถูกบนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น ติ๊กต๊อก (TikTok) ซึ่งแดนอิเหนาเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับแพลตฟอร์มดังกล่าว
“แพลตฟอร์มสังคมการค้าออนไลน์ (Social Commerce Platform) จะมีเวลา 1 สัปดาห์ในการเตรียมตัวเพื่อปฏิบัติตามกฎใหม่ รัฐบาลใดๆ ก็ตามจะปกป้องธุรกิจขนาดเล็กในท้องถิ่น กฎระเบียบดังกล่าวเพื่อเป็นแนวทางในการรับประกันความเท่าเทียมกันในการแข่งขันทางธุรกิจ การค้าผ่านแพลตฟอร์มสามารถเผยแพร่โฆษณาได้เช่นในโทรทัศน์ แต่จะต้องไม่ใช่การทำธุรกรรม พวกเขาเปิดร้านไม่ได้ ขายตรงไม่ได้ บริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามจะได้รับการเตือนก่อน และสุดท้ายก็จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้ทำธุรกิจในอินโดนีเซีย” ฮาซัน กล่าว
กฎระเบียบดังกล่าวหมายความว่าธุรกิจสื่อสังคมออนไลน์เพื่อการค้า ถูกห้ามไม่ให้อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมการชำระเงินในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก่อนจะมีกฎระเบียบใหม่ กฎหมายในอินโดนีเซียไม่ครอบคลุมการทำธุรกรรมโดยตรงผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ติ๊กต๊อก , เฟซบุ๊ก (Facebook) หรืออินสตาแกรม (Instagram) ทั้งนี้ กฎหมายใหม่ถือเป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่งสำหรับ ติ๊กต๊อก ซึ่งต้องเผชิญกับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลของผู้ใช้และข้อกล่าวหาเรื่องความสัมพันธ์ของบริษัทกับรัฐบาลประเทศจีน
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้อินโดนีเซียเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ต่อต้านความนิยมที่เพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มในการค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ด้าน สำนักงานในอินโดนีเซียของติ๊กต๊อก กล่าวว่า บริษัทกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ขายและผู้สร้างหลายล้านรายที่ใช้ ติ๊กต๊อกช็อป (TikTok Shop) บริษัทเคารพกฎหมายและข้อบังคับท้องถิ่น และจะดำเนินการตามเส้นทางที่สร้างสรรค์ไปข้างหน้า ขณะที่ เมตา (Meta) บริษัทเจ้าของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อเรื่องนี้
กฎกระทรวงซึ่งเป็นการแก้ไขกฎเกณฑ์ทางการค้าที่ออกในปี 2563 ไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งท่าทีของ ฮาซัน พยายามแสดงจุดยืนว่า ผู้ประกอบธุรกิจต้องแยกออกจากกันระหว่างการขอใบอนุญาตประกอบกิจการสื่อสังคมออนไลน์ กับกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กล่าวคือ จะไม่มีใบอนุญาตสำหรับการค้าผ่านแพลตฟอร์ม หากผู้ใดต้องการการค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จะให้ทำได้เฉพาะการส่งเสริมการขายและโฆษณาเท่านั้น และหากต้องการขายสินค้าก็ต้อขอใบอนุญาตอี-คอมเมิร์ซ
กฎระเบียบดังกล่าวยังกำหนดราคาขั้นต่ำที่ 100 เหรียญสหรัฐ (ราว 3,500 บาท) สำหรับสินค้าต่างประเทศบางรายการที่ซื้อจากผู้ขายชาวอินโดนีเซียบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งหลังจากทราบข่าวว่ามีการออกประกาศห้ามนี้ ผู้ค้าบางรายในตลาด Tanah Abang ที่กรุงจาการ์ตา กล่าวชื่นชมความกล้าตัดสินใจของรัฐบาลอินโดนีเซีย อาทิ สเตวานี อาฮัว (Stevanie Ahua) แม่ค้าขายส่งกางเกงยีนส์วัย 60 ปี กล่าวว่า รัฐบาลควรกล้าที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบั ที่ตลาดเงียบสงบเช่นนี้ ซึ่งการที่ผู้คนหันไปซื้อสินค้าออนไลน์ ทำให้รายได้ของตนลดลงถึงร้อยละ 60
แต่อีกด้านหนึ่ง ปันจี มาเด อากุง (Panji Made Agung) พ่อค้าคุกกี้วัย 29 ปี บนเกาะบาหลี ไม่เห็นด้วยกับการห้ามทำการค้าบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ โดยให้เหตุผลว่า สำหรับคนค้าขายแบบตน ติ๊กต๊อกเป็นช่องทางสำหรับกลยุทธ์ “การค้าแบบไม่เป็นทางการ (Soft Selling)” ผู้ค้าสามารถประกอบอาชีพไปพร้อมๆ กับเป็นผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ได้
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การห้ามทำธุรกรรมจะส่งผลกระทบต่อแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อย่างติ๊กต๊อก ซึ่งคิดค่าคอมมิชชั่นจากการขายทุกครั้ง เตาฮิด อาหมัด (Tauhid Ahmad) ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันเพื่อการพัฒนาเศรษฐศาสตร์และการเงินในกรุงจาการ์ตา กล่าวว่า แพลตฟอร์มจะขาดทุนแน่นอน ทั้งนี้ ตลาดการค้าออนไลน์ของอินโดนีเซียมีผู้เล่นหลากหลายแพลตฟอร์ม
อาทิ โทโกพีเดีย (Tokopedia) ช็อปปี้ (Shopee) ลาซาด้า (Lazada) แต่ ติ๊กต๊อกช็อป ได้รับส่วนแบ่งการตลาดที่สำคัญนับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2564 โดยอินโดนีเซียซึ่งมีผู้ใช้งาน 125 ล้านคน เป็นตลาดโลกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของติ๊กต๊อกรองจากสหรัฐอเมริกา ซึ่ง โซวซิชิว (Shou Zi Chew) ผู้บริหารระดับสูงของติ๊กต๊อก เคยไปเยือนกรุงจาการ์ตาในเดือน มิ.ย. 2566 โดยให้คำมั่นว่าจะทุ่มเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในอีกหลายปีข้างหน้า
สำนักข่าว Deutsche Welle ของเยอรมนี เสนอรายงานพิเศษ Can Indonesia's social media e-commerce ban help merchants? อ้างคำกล่าวของ รมว.พาณิชย์อินโดนีเซีย ซุลกิฟลี ฮาซัน เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ที่ระบุว่า รัฐบาลได้ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) สามารถแข่งขันในระบบนิเวศทางธุรกิจที่ยุติธรรม ดีต่อสุขภาพ และเป็นประโยชน์
ตามกฎหมายใหม่ที่ออกโดยกระทรวงพาณิชย์แดนอิเหนา แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์จะถูกใช้ได้เพียงเพื่อการโฆษณาสินค้าเท่านั้น แต่จะไม่สามารถซื้อ-ขายสินค้าได้โดยตรง โดยอ้างถึงความเสียหายต่อธุรกิจขนาดเล็กที่เร่ขายสินค้าโดยส่วนใหญ่ออฟไลน์ กฎระเบียบดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการร้องเรียนเป็นเวลานานจากผู้ค้าออฟไลน์รายย่อยที่กล่าวว่ารายได้ของพวกเขาได้รับผลกระทบจากยอดขายออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น
รายงานของสื่อเยอรมนี กล่าวถึง Tanah Abang ตลาดในกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย ในอดีตที่นี่เคยเป็นตลาดสิ่งทอที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แต่ปัจจุบันบรรยากาศดูซบเซา อาทิ นาดา อากิ (Nada Agi) แม่ค้าเสื้อผ้าชุดประจำชาติ วัย 25 ปี เปิดเผยว่า ยอดขายตกต่ำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถึงกระนั้นก็ไม่ได้คาดหวังว่า ระเบียบใหม่ที่ทางการออกมาจะช่วยอะไรได้มากนัก ทั้งนี้ อากิ ขายสินค้าทั้งหน้าร้านและบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งยอดขายหน้าร้านลดลงในช่วงที่มีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้คนไม่สบายใจที่จะไปเดินตลาด
ยาสริล อูมาร์ (Yasril Umar) ประธานสมาคมผู้ค้าตลาด Tanah Abang กล่าวว่า หลายร้านปิดตัวลง และผู้คนก็หยุดขายสินค้าโดยตรง สิ่งนี้กระทบต่อร้านค้าที่ยังเหลืออยู่ เนื่องจากตลาดที่ดูร้างและเงียบไม่ทำให้คนสนใจมาเยี่ยมชม มีร้านค้าประมาณ 20,000 แห่งในและรอบๆ เขต Tanah Abang และขณะนี้ประมาณร้อยละ 20% ของกำลังการผลิตว่างเปล่า ผู้ค้าส่วนใหญ่ประสบปัญหาตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดในเดือน มี.ค. 2563 ทำให้ลูกค้ามีกำลังซื้อน้อยลง แต่ถึงต่อมาเศรษฐกิจจะฟื้นตัว พฤติกรรมการจับจ่ายก็เปลี่ยนไปแล้ว
เฮดี จาจา เรีย (Hedy Djaja Ria) ตัวแทนสมาคมผู้ค้าปลีกและผู้เช่าศูนย์การค้าอินโดนีเซีย (Hippindo) กล่าวว่า สมาคมสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาล เพราะป็นเรื่องยากสำหรับผู้ค้าในตลาดที่จะแข่งขันกับผู้ค้าปลีกออนไลน์ การช็อปปิ้งออนไลน์ทำให้ผู้ซื้อง่ายขึ้นและราคาไม่แพง อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจว่าลูกค้าชาวอินโดนีเซียจะต้องการไปห้างสรรพสินค้าเพื่อสัมผัสประสบการณ์นี้ ซึ่งสมาคมมีสมาชิกเป็นเจ้าของศูนย์การค้าหรือห้างสรพสินค้ากว่า 300 ราย
“ตลาดออนไลน์และออฟไลน์ในอินโดนีเซียสามารถอยู่ร่วมกันในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีได้ ตราบใดที่ร้านค้าออนไลน์ได้รับใบอนุญาตทางกฎหมายและเป็นไปตามข้อกำหนดเดียวกันกับร้านค้าออฟไลน์ เราหวังว่าร้านค้าออนไลน์จะไม่ขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อร้านค้าออฟไลน์” เรีย กล่าว
โตโต ปราสโตโว (Toto Prastowo) ชายชาวจาการ์ตา ยอมรับว่า ตนสามารถซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง ติ๊กต๊อกช็อป ได้ในราคาถูก อาทิ ครั้งหนึ่งเคยซื้อเครื่องดูดฝุ่นใช้กับรถยนต์ได้ในราคาต่ำกว่า 40,000 รูเปียห์ (2.43 ยูโร หรือราว 95 บาท) พร้อมค่าจัดส่งฟรี ทั้งนี้ ต้นทุนที่ลดลงและการจัดส่งฟรีที่รวดเร็วสามารถดึงดูดลูกค้าให้พึ่งพาการช็อปปิ้งออนไลน์ได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าในตลาดมองว่ารัฐบาลสามารถช่วยทำให้การช็อปปิ้งด้วยตนเองเป็นประสบการณ์ที่สนุกสนานที่จะดึงดูดลูกค้าได้ ตัวอย่างเช่น การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อปรับปรุงประสบการณ์การช็อปปิ้งที่สนุกสนาน ทำให้ง่ายต่อการได้รับใบอนุญาตในการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจในตลาด หรือการจำกัดผู้ค้าที่ผิดกฎหมายจะสร้างสภาพแวดล้อมที่มีชีวิตชีวา และทำให้ผู้คนสามารถซื้อสินค้าแบบออฟไลน์ได้มากขึ้น
ขอบคุณที่มา dailyexpress , dw
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี