9 ม.ค. 2567 สถานีโทรทัศน์ Euronews Albania ในเครือ Euronews สื่อของสหภาพยุโรป (EU) เสนอข่าว Italian Foreign Minister calls for formation of EU army ระบุว่า อันโตนิโอ ทายานี (Antonio Tajani) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิตาลี เรียกร้องให้สหภาพยุโรปจัดตั้งกองกำลังร่วมของตนเองขึ้นมาทำหน้าที่แทนการพึ่งพากลไกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)
“ถ้าเราอยากเป็นผู้สร้างสันติภาพในโลก เราจำเป็นต้องมีกองทัพยุโรป นี่เป็นข้อกำหนดเบื้องต้นพื้นฐานสำหรับเราในการมีนโยบายต่างประเทศของยุโรปที่มีประสิทธิภาพ ในโลกที่มีผู้เล่นที่ทรงพลังเช่นสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย รัสเซีย พร้อมด้วยวิกฤตการณ์จากตะวันออกกลางไปจนถึงอินโดแปซิฟิก พลเมืองอิตาลี ฝรั่งเศส หรือสโลวีเนียสามารถยืนหยัดได้เฉพาะบางสิ่งที่มีอยู่เท่านั้น คือสหภาพยุโรป” รมว.ต่างประเทศอิตาลี กล่าว
ทั้งนี้ ปัญหาความร่วมมือด้านกลาโหมของยุโรปถือเป็นวาระทางการเมืองนับตั้งแต่รัสเซียยกทัพบุกยูเครนเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ความพยายามมุ่งเน้นไปที่การขยาย NATO เป็นหลัก โดยฟินแลนด์ซึ่งเป็นสมาชิก EU ได้เข้าร่วมเมื่อปี 2566 และสวีเดนก็กำลังพยายามขอเข้าร่วมกับ NATO เช่นกัน โดย ทายานี ยังกล่าวด้วยว่า สมาชิก EU ทั้ง 27 ประเทศ จำเป็นต้องปรับปรุงความเป็นผู้นำและสร้างตำแหน่งผู้นำเพียงหนึ่งเดียว ไม่เหมือนโครงสร้างปัจจุบันที่มีประธานทั้งในส่วนของสภายุโรป (European Council) และคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission)
รายงานของ Euronews Albania ยังระบุด้วยว่า ทายานี กล่าวถึงความร่วมมือด้านการป้องกันของยุโรปที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับพรรค ฟอร์ซา อิตาเลีย (Forza Italia) โดยเขาเป็นผู้นำตำแหน่งหัวหน้าพรรคดังกล่าวเมื่อปี 2566 หลังการถึงแก่อสัญกรรมของ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี (Silvio Berlusconi) อดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลี ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าพรรค และการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในเดือน มิ.ย. 2567 จะเป็นครั้งแรกที่พรรคฟอร์ซา อิตาเลีย ต้องพิสูจน์ความนิยมในยุคที่ไม่มี แบร์ลุสโคนี เป็นผู้นำ
สำนักข่าว Anadolu Agency ของตุรกี เสนอข่าว Italian foreign minister calls for creation of EU army, Russia responds with criticism ระบุว่า อันโตนิโอ ทายานี รมว.ต่างประเทศอิตาลี ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นของอิตาลี เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2567 เรียกร้องให้สหภาพยุโรปมีกองทัพของตนเอง ซึ่งหลังจากนั้น มาเรีย ซาคาโรวา (Maria Zakharova) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ข้อเรียกร้องดังกล่าว
โดย ซาคาโรวา ตั้งคำถามถึงลำดับความสำคัญ ว่าก่อนที่จะจัดตั้งกองทัพร่วม สหภาพยุโรปควรมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของตนเอง เพื่อให้มั่นใจว่ามีการคุ้มครองพรมแดนอย่างมีมนุษยธรรมตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และจัดการกับผู้ลี้ภัยรวมถึงปัญหาการย้ายถิ่นฐาน นอกจากนั้นยังหยิบยกข้อกังวลในทางปฏิบัติเกี่ยวกับกองทัพสหภาพยุโรป โดยเรียกร้องให้สหภาพยุโรปเข้าใจแง่มุมด้านลอจิสติกส์ เช่น ประเภทของยานพาหนะทางทหารและเครื่องบินที่ใช้เชื้อเพลิง
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย ยังยกตัวอย่างสถานการณ์สมมติที่ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อาจใช้ประโยชน์จากราคาน้ำมันเพื่อกดดันสหภาพยุโรปหากไม่สามารถปฏิบัติตามความคาดหวังได้ โดยตั้งคำถามถึงภาระทางการเงินที่มีต่อสมาชิกสหภาพยุโรปในฐานะประเทศใน NATO ที่สนับสนุนกองทุนร่วม และหากสหภาพยุโรปต้องการจัดตั้งกองทัพร่วม ก็ควรเข้าใจก่อนว่ายานพาหนะทางทหารและเครื่องบินทหารจะใช้เชื้อเพลิงอะไร
“แล้วประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมาที่บรัสเซลส์ (ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ EU) และบอกว่าเขาจะขึ้นราคาน้ำมันหากไม่โจมตีเป้าหมายที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ทำไมประเทศสมาชิก NATO ทุกประเทศในสหภาพยุโรปจึงควรจ่ายเงินจำนวนมหาศาลให้กับกองทุนร่วม ซึ่งจริงๆ แล้วให้กับวอชิงตัน เพื่อความปลอดภัยตามที่ระบุไว้” ซาคาโรวา กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี