โลกจับตาความรุนแรงใน‘เอกวาดอร์’ หลังกลุ่มแก๊งก่อเหตุท้าทายพรก.ฉุกเฉิน-ปธน.ลั่นไม่เจรจาผู้ก่อการร้าย
11 ม.ค. 2567 สื่อต่างประเทศยังคงเกาะติดสถานการณ์ความรุนแรงในเอกวาดอร์ ภายหลัง แดเนียล โนบัว (Daniel Noboa) ประธานาธิบดีเอกวาดอร์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 60 วัน ห้ามออกจากเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ระหว่างเวลา 23.00-05.00 น. ตลอดจนระงับการใช้สิทธิในเคหสถานและสิทธิในการชุมนุมรวมกลุ่ม มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2567 เพื่อกวาดล้างแก๊งอาชญากรรมและขบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งทำให้กลุ่มแก๊งต่างๆ ตอบโต้ทั้งการวางเพลิง วางระเบิด จับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นตัวประกัน รวมถึงบุกยึกสถานีโทรทัศน์ขณะกำลังออกอากาศ
สถานีโทรทัศน์ France24 ของฝรั่งเศส เสนอรายงานพิเศษ Streets all but empty in Ecuador as gang attacks sow terror บอกเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตของชาวเอกวาดอร์ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยบรรยากาศภายในกรุงคีโต เมืองหลวงของเอกวาดอร์ มีเจ้าหน้าที่ทหารออกลาดตระเวนและยืมเฝ้าตามจุดต่างๆ ทั่วเมือง โรซิโอ กุุซมาน (Rocio Guzman) หญิงวัย 54 ปี เจ้าของร้านค้าแห่งหนึ่ง เล่าว่า ร้านค้าหลายแห่งปิดทำการและเจ้าของร้านก็อพยพออกไปจากเมือง ตนก็ปิดร้านเช่นกัน และยังคงมีอาการผวาหเพราะมีการยิงกันที่ใกล้ร้านของตนเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2567
สวนสาธารณะ ลา แคโรไลนา ในกรุงคีโต โดยปกติที่นี่บรรยากาศจะคึกคักในช่วงเช้า หลายคนมาวิ่งออกกำลังกายหรือรวมกลุ่มเล่นฟุตบอล แต่ขณะนี้เงียบสงัดจนน่ากลัว ขณะที่ แดเนียล ลิตูมา (Daniel Lituma) ชายวัย 30 ปี เจ้าของร้านเบเกอรี่แห่งหนึ่งในเมือง กล่าวว่า ตนยังต้องเปิดร้านเพื่อหาเลี้ยงชีพแม้จะมีความกลัวอยู่ในใจ ซึ่งเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2567 ตนเพิ่งได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุปล้นทรัพย์ใกล้กับร้าน และตนที่กำลังซื้อของอยู่ในตลาดต้องวิ่งกลับมาที่ร้านเพื่อดูว่าลูกสาวปลอดภัยหรือไม่ เพราะบริการรถเมล์ถูกระงับ
ที่เมืองกัวยาคิล เมืองท่าสำคัญของเอกวาดอร์ ร้านค้า โรงแรมและสำนักงานก็ปิดทำการเช่นกัน ในวันที่ 10 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว AFP ที่ลงพื้นที่ รายงานว่า ผู้คนไม่กล้าคุยกับสื่อ และหลายพื้นที่มองเห็นตำรวจได้มากกว่าพ่อค้า-แม่ค้า ซึ่งประเทศเล็กๆ ในทวีปอเมริกาใต้แห่งนี้ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติได้อาศัยท่าเรือของเอกวาดอร์ลำเลียงโคเคนไปยังสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป
ความรุนแรงระลอกล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2567 เมื่อ โฮเซ อดอลโฟ มาซิอาส (Jose Adolfo Macías) หรือฉายา “ฟิโต (Fito)” หัวหน้าแก๊ง “ลอส โชเนรอส (Los Choneros)” หลบหนีออกจากเรือนจำ ขณะที่เมื่อย้อนไปในเดือน พ.ย. 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ ปธน.โนบัว เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง เขาได้ให้คำมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มแก๊งต่างๆ แต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็กลายเป็นการจุดชวนความรุนแรงขึ้น สมาชิกแก๊งก่อการทั้งภายนอกและภายในเรือนจำ มีผู้คุมคุกและเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกลักพาตัวหรือจับเป็นตัวประกันหลายนาย
ในวันที่ 10 ม.ค. 2567 รถเมล์กลับมาให้บริการอีกครั้งในจำนวนและความถี่ที่น้อยลง สถาบันการศึกษาเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ และบริษัทต่างๆ ขอให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน มานูเอล มูนอซ (Manuel Munoz) พนักงานร้านขายยาในกรุงคีโต เล่าว่า ตนทำงานเพียงครึ่งวันเพื่อที่จะได้กลับถึงบ้านก่อนมืดค่ำ และรายงานสถานการณ์ของตนเองกับพ่อแม่ด้วยการส่งข้อความทางโทรศัพท์ทุกชั่วโมง
เช่นเดียวกับ ซานติอาโก เอนริเกซ (Santiago Enriquez) ชายวัย 30 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่ เล่าว่า เพื่อนร่วมอาชีพในกลุ่มตกลงจะติดตามสถานการณ์ซึ่งกันและกัน และตนให้กำลังใจการทำหน้าที่ของทหารและตำรวจในเมือง หลังจากที่ประธานาธิบดีมอบนโยบายให้สลายกลุ่มแก๊งต่างๆ ซึ่งนั่นจะทำให้ประชาชนปลอดภัย
นสพ.Malay Mail ของมาเลเซีย เสนอรายงานพิเศษ Soldiers on the street as Ecuador declares war on drug cartels ระบุว่า หลังการรับตำแหน่งผู้นำเอกวาดอร์ของ แดเนียล โนบัว ได้เพียง 2 เดือน เขาก็ได้ประกาศว่าประเทศนี้อยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งภายใน ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ทำให้บรรดาแก๊งต่างๆ ประกาศสงครามกับรัฐบาล ตามรายงานของตำรวจเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2567 ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 10 รายในเหตุโจมตีต่อเนื่องหลายครั้ง โดย 8 รายในเมืองกัวยาคิล และอีก 2 ราย ในเมืองโนโบลซึ่งอยู่ใกล้เคียง
เรือนจำหลายแห่งทั่วประเทศก็เกิดการจลาจล มีรายงานผู้คุมและเจ้าหน้าที่บริหารเรือนจำถูกจับเป็นตัวประกันกว่าร้อยคน ผู้สื่อข่าว AFP ที่อยู่ในกรุงคีโต เล่าว่า หญิงวัย 68 ปีรายหนึ่งที่เจอบนรถเมล์ เตือนให้มองซ้าย-ขวา ระมัดระวังตนเอง ขณะที่เหตุการณ์คนร้ายบุกยึดสถานีโทรทัศน์ในเมืองกัวยาคิล จับผู้ประกาศข่าวและพนักงานในห้องส่งเป็นตัวประกันถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ มีการอ่านประกาศของกลุ่มแก๊งว่าจะทำให้ทั้งทหาร ตำรวจ และประชาชนได้รับผลจากการที่รัฐบาลเอกวาดอร์ประกศสงครามกับพวกตน และจะฆ่าใครก็ตามที่เจอหลังเวลา 23.00 น.
มีความเคลื่อนไหวจากนานาชาติ อาทิ โจเซพ บอร์เรลล์ (Josep Borrell) หัวหน้านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (EU) กล่าวถึงกิจกรรมของกลุ่มอาชญากรว่าเป็นการโจมตีโดยตรงต่อประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ขณะที่ ไบรอัน นิโคลส์ (Brian Nichols) นักการทูตสหรัฐอเมริกาประจำภูมิภารลาตินอเมริกา กล่าวว่า สหรัฐฯ กังวลอย่างยิ่งต่อความรุนแรงและการลักพาตัวที่เกิดขึ้นในเอกวาดอร์ อีกทั้งให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือและยังคงติดต่ออย่างใกล้ชิดกับทีมงานของ ปธน.โนบัว
ประเทศเปรู เพื่อนบ้านทางทิศใต้ของเอกวาดอร์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ตามแนวชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ ขณะที่สถานทูตและสถานกงสุลจีนในเอกวาดอร์ ปิดการให้บริการสาธารณะตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 2567 ด้านฝรั่งเศสและรัสเซีย ออกคำเตือนประชาชนไม่ให้เดินทางไปยังเอกวาดอร์ ทั้งนี้ สถาพทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวย ประกอบกับปัญหาการทุจริต กลายเป็นปัจจัยอย่างดีที่ทำให้กลุ่มแก๊งอาชญากรรมเฟื่องฟูในเอกวาดอร์
กล่าวคือ เอกวาดอร์มีพรมแดนติดกับ 2 ประเทศที่ถูกระบุว่าเป็นแหล่งผลิตโคเคนรายใหญ่ของโลก คือโคลอมเบียและเปรู ซึ่งท่าเรือในเมืองกัวยาคิลของเอกวาดอร์ เป็นจุดที่ขนส่งยาส่วนใหญ่ไปต่างประเทศ โดยซุกซ่อนไปกับตู้คอนเทนเนอร์ที่ระบุว่าเป็นตู้ขนส่งกล้วยหรือสินค้าอื่นๆ ที่ถูกกฎหมาย โดยบริษัทที่เปิดขึ้นเพื่อบังหน้า ในขณะที่ประเทศนี้ถูกมองว่ามีระบบการตรวจสอบควบคุมที่อ่อนแอ สิ่งนี้ดึงดูดแก๊งต่างชาติจากโคลอมเบีย เม็กซิโก และยุโรป ซึ่งเป็นพันธมิตรกับแก๊งในท้องถิ่น และแก๊งเหล่านี้ทำสงครามกันอย่างโหดร้ายเพื่อแย่งชิงเส้นทางค้ายาเสพติด
สถานีโทรทัศน์ CGTN ในเครือ CCTV ของจีน เสนอข่าว Ecuadorian president says country in 'state of war,' won't give in to terrorists ระบุว่า แดเนียล โนบัว ประธานาธิบดีเอกวาดอร์ แถลงผ่านสถานีวิทยู เรดิโอ คาเนลา ในกรุงคีโต เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2567 ว่า เอกวาดอร์อยู่ในภาวะสงครามกับกลุ่มอาชญากรก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกับขบวนการค้ายาเสพติด และรัฐบาลจะไม่ทำตามข้อเรียกร้องใดๆ ของคนเหล่านี้
“เรากำลังอยู่ในความขัดแย้งที่ไม่ใช่ระหว่างประเทศ เรากำลังต่อสู้เพื่อสันติภาพของชาติ เรายังต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายที่ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 20,000 คน เมื่อพวกเขาเป็นผู้ก่อการร้ายและเราอยู่ในภาวะสงคราม กฎหมายอื่นๆ จะมีผลบังคับใช้ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศก็มีผลบังคับใช้ด้วย การประดาศสถานการณ์ฉุกเฉินคือข้อความที่เราจะไม่ยอมแพ้ เราจะไม่ปล่อยให้สังคมตายช้าๆ แต่วันนี้เราจะต่อสู้กับพวกเขา วันนี้เราจะเสนอวิธีแก้ปัญหา และเร็วๆ นี้เราจะนำ ความสงบสุขแก่ครอบครัวชาวเอกวาดอร์” โนบัว กล่าว
รายงานของสื่อจีน ยังกล่าวด้วยว่า ปธน.โนบัว นักการเมืองและนักธุรกิจที่มีอายุเพียง 36 ปี อีกทั้งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ยังไม่ถึง 2 เดือน ประกาศขึ้นบัญชีดำ 22 แก๊งหรือองค์กรอาชญากรรม ว่าเข้าข่ายเป็นองค์กรก่อการร้าย ซึ่งจะทำให้ทหารมีอำนาจจัดการกับกลุ่มแก๊งเหล่านี้ได้
ขอบคุณเรื่องจาก france24 , malaymail , news.cgtn
ข่าวที่เกี่ยวข้อง แก๊งอาชญากรเอกวาดอร์เหิมเกริมหนัก บุกห้องส่งสถานีโทรทัศน์-ทางการประกาศภาวะฉุกเฉิน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี