เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 สำนักข่าว BBC ของอังกฤษ รายงานข่าว Czech Republic struggles to contain surge of whooping cough ระบุว่า สาธารณรัฐเช็ก กำลังเผชิญสถานการณ์การระบาดของโรคไอกรน (Whooping Cough หรือ Pertussis) ซึ่งนับจากสัปดาห์แรกของเดือน ม.ค. 2567 ที่มีการบันทึกจำนวนผู้ป่วย 28 ราย ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยสะสมแล้ว 3,084 ราย ซึ่งเป็นสถิติที่ไม่เคยเห็นมานานแล้วนับตั้งแต่ปี 2506 หรือเมื่อ 6 ทศวรรษก่อน และหนึ่งในผู้ป่วยยังมี โบฮิวสลาฟ สโวโบดา (Bohuslav Svoboda) วัย 80 ปี นายกเทศมนตรีกรุงปราก เมืองหลวงของสาธารณรัฐเช็กด้วย
อย่างไรก็ตาม สโวโบดา จากพรรคประชาธิปไตยพลเมือง (Civic Democratic Party) และยังเป็นอดีตแพทย์ ต้องเผชิญมรสุมทางการเมือง เนื่องจากถูกพรรคกรีน (Green Party) สาขากรุงปราก ฟ้องเอาผิดฐานมีส่วนทำให้เกิดการแพร่เชื้อ เนื่องจากไปร่วมประชุมคณะกรรมการสุขภาพของรัฐสภา ทั้งที่กฎระเบียบด้านสาธารณสุขกำหนดให้ผู้ที่เป็นโรคไอกรนต้องอยู่บ้านจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
โดย สโวโบดา ซึ่งมีมีอาการไอและน้ำลายไหลระหว่างการประชุม อ้างว่า ตนกำลังฟื้นตัวจากอาการไอกรน แต่ในวันที่ 6 ของการได้รับยาปฏิชีวนะ ดังนั้นตนจึงไม่อยู่ในสถานะติดเชื้ออีกต่อไป หรืออย่างน้อยนั่นคือสิ่งที่ตนเคยได้เรียนมา ขณะที่เพื่อนร่วมงานของ สโวโบดา กล่าวว่า อย่างน้อยนายกเทศมนตรีกรุงปรากก็สามารถสวมหน้ากากอนามัยได้ ด้านหน่วยงานสาธารณสุขในกรุงปราก ออกแนวปฏิบัติถึงโรงเรียนต่างๆ หากพบนักเรียนที่ป่วยเป็นโรคไอกรน ให้นักเรียนที่ไม่ได้รับวัคซีนและอยู่ห้องเรียนเดียวกับผู้ป่วย หยุดเรียนและกลับบ้านทันที
แต่แนวปฏิบัติดังกล่าวได้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างท้องถิ่นกับหน่วยงานระดับชาติ เมื่อหน่วยงานระดับชาติได้ออกมาเตือนว่า โรงเรียนไม่มีอำนาจส่งเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนกลับบ้านเพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน แต่ควรตัดสินทุกกรณีเป็นรายบุคคล โดยพิจารณาจากระยะเวลาที่เด็กที่ติดเชื้ออยู่ในห้องเรียนและปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่บรรดา นักระบาดวิทยา รวมถึงผู้ที่เป็นผู้นำมาตรการของรัฐบาลในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ต่างส่ายหัวด้วยความไม่เชื่อ แนวปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุขที่แก้ไขเมื่อเร็วๆ นี้เรียกร้องให้มีแนวทางที่แนะนำโดยหน่วยงานของกรุงปราก
คำถามต่อมา ยังมีเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอยู่มาก – น้อยเพียงใด? ซึ่งตามกฎหมายของสาธารณรัฐเช็ก กำหนดให้เด็กทุกคนต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน หรือที่ชาวเช็กเรียกว่า “โรคไอดำ (Black Cough)” ควบคู่กับวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ เช่น คอตีบ บาดทะยักและโปลิโอ ถึงกระนั้น ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการ พบการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 97 ของประชากรทารก นั่นหมายถึงยังมีอีกหลายพันคนที่ไม่ได้รับวัคซีน
การให้วัคซีนป้องกันโรคไอกรนกับเด็กแบ่งเป็น 5 ระยะ โดย 3 ระยะแรกในช่วง 12 เดือนแรกของชีวิต ซึ่งเด็กเกือบทั้งหมดได้รับปริมาณเริ่มต้นเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม มีเด็กร้อยละ 90 ที่ได้รับใน 2 ระยะสุดท้าย ซึ่งจะต้องเข้ารับวัคซีนในช่วงอายุประมาณ 6 – 10 ขวบ ซึ่ง วลาสติมิล วาเล็ค (Vlastimil Valek) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสาธารณรัฐเช็ก กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยโรคไอกรนที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันมาจาก 2 ปัจจัย คือ 1.การฟื้นตัวของโรคระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากสังคมละทิ้งมาตรการป้องกันที่เข้มงวดที่เคยใช้ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด
กับ 2.การสร้างภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ในเด็ก ซึ่งเป็นคำอธิบายได้ว่าเหตุใดจึงพบการระบาดในหมู่ประชากรวัยรุ่นมากที่สุด ดังนั้นขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองควรตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนของบุตรหลาน ขณะที่ประชากรวัยผู้ใหญ่ก็ควรไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้งนี้ สาธารณรัฐเช็ก ซึ่งในอดีตคือประเทศเช็กโก-สโลวาเกีย เคยมีทารกหรือเด็กเล็กเสียชีวิตหลายสิบหรือหลายร้อยคนต่อปีจากโรคไอกรน นำไปสู่การออกกฎหมายบังคับฉีดวัคซีนในปี 2501
บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ประชากรยุคใหม่ยังคงได้รับการปกป้องอย่างดีจากมาตรการวัคซีนภาคบังคับโดยรัฐ แต่การกลับมาเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยก็ยังคงมีอันตรายอยู่ คนหนุ่ม – สาวที่ติดเชื้อเอาจไม่มีอาการอะไรร้ายแรงไปกว่าการไออย่างต่อเนื่อง แต่พวกเขายังสามารถแพร่เชื้อไปยังพี่น้องซึ่งเพิ่งเริ่มกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือแม้แต่ผู้สูงอายุซึ่งภูมิคุ้มกันอาจจางหายไป ทำให้คนเหล่านั้นมีอาการป่วยรุนแรงได้
ทั้งนี้ โรคไอกรน เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ สัญญาณแรกของโรคไอกรนจะคล้ายกับไข้หวัด โดยมีอาการน้ำมูกไหลและเจ็บคอ แต่หลังจากผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ การติดเชื้ออาจพัฒนาไปสู่อาการไอซึ่งกินเวลาไม่กี่นาที และโดยทั่วไปจะมีอาการแย่ลงในเวลากลางคืน
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี