เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 โลกจับตาท่าทีของไทย ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา ที่สถานการณ์สงครามกลางเมืองกำลังร้อนระอุ โดย นสพ.South China Morning Post ของฮ่องกง รายงานข่าว Myanmar junta ‘losing strength’, Thai PM says: ‘it’s time to reach out and make a deal’ อ้างการให้สัมภาษณ์ของ เศรษฐา ทวีสิน (Srettha Thavisin) นายกรัฐมนตรีของไทย ที่เกาะสมุย เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2567 ที่ระบุว่า ระบอบการปกครองในปัจจุบันเริ่มสูญเสียความแข็งแกร่งไปบ้าง แต่ถึงจะเพลี่ยงพล้ำ พวกเขาก็ยังมีอำนาจและอาวุธ บางทีอาจถึงเวลาที่ต้องเจรจากัน
นับตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหารในปี 2564 เมียนมากำลังเผชิญกับการก่อความไม่สงบในหลายแนวรบ โดยกลุ่มพันธมิตรต่อต้านรัฐบาลทหารที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลคู่ขนานที่สนับสนุนประชาธิปไตย ยึดการควบคุมฐานทัพและเมืองทหารหลายแห่ง รวมถึงบางส่วนของเมืองสำคัญแห่งหนึ่งบริเวณชายแดนติดกับไทยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ประเทศไทยดำเนินการตามข้อตกลงหลายครั้งกับเมียนมานับตั้งแต่เศรษฐาขึ้นสู่อำนาจเมื่อเดือน ส.ค. 2566 รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาภายใต้โครงการริเริ่มด้านมนุษยธรรม ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปูทางสำหรับการเจรจาระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่กำลังสู้รบกัน รัฐสภาไทยยังเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเมื่อเดือน มี.ค. 2567 เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมา ซึ่งรวมถึงการปรากฏตัวของฝ่ายตรงข้ามของกองทัพเมียนมา แม้ว่ารัฐบาลเผด็จการทหารจะคัดค้านก็ตาม
เศรษฐา กล่าวว่า เมียนมามีความสำคัญมากสำหรับประเทศไทย ซึ่งตนและเจ้าหน้าที่ไทยคนอื่นๆ ได้พูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ในเมียนมาและพันธมิตรระหว่างประเทศ รวมถึงจีนและสหรัฐอเมริกา และประเทศที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดหากเมียนมากลายเป็นเอกภาพ สงบสุข และเจริญรุ่งเรืองก็คือไทย โดยตนกำลังวางแผนที่จะพูดคุยกับรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ทหารอาวุโส และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในวันที่ 9 เม.ย. 2567 เพื่อปรับปรุงนโยบายของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับเมียนมา ขณะที่ ชัย วัชรงค์ (Chai Watcharong) โฆษกรัฐบาล กล่าวเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2567 ว่า รัฐบาลไทยจะไม่เลือกข้างในความขัดแย้งระหว่างประเทศ และนโยบายคือการแก้ไขข้อขัดแย้งอย่างสันติ
เว็บไซต์สถานิวิทยุ Radio Free Asia ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา รายงานข่าว Rebels push over 600 junta personnel out of Myanmar-Thailand border town อ้างการเปิดเผยของกระทรวงการต่างประเทศของไทย ว่า ฝ่ายกองทัพรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ซึ่งถูกกองกำลังฝ่ายต่อต้านขับไล่ออกจากเมืองเมียวดี ได้ร้องขอให้ประเทศไทยช่วยเปิดทางสำหรับเป็นเส้นทางผ่านของการลี้ภัยสมาชิกในครอบครัวบุคลากร และเมื่อพิจารณาถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์และความเป็นไปได้ของการอพยพบุคลากรชาวเมียนมาและครอบครัวไปยังพื้นที่ปลอดภัย จึงมีการตัดสินใจในระดับรัฐบาลที่จะอนุมัติคำขอจากเมียนมาบนพื้นฐานด้านมนุษยธรรม
อ้างอิงจากสื่อท้องถิ่นของไทย บุคลากรในรัฐบาลทหารเมียนมาประมาณ 617 คนได้ร้องขอการอพยพ แบ่งเป็นทหาร 410 นาย และสมาชิกในครอบครัว 207 คน ขณะที่ฝ่ายต่อต้านซึ่งเป็นกองกำลังพันธมิตรในรัฐกะเหรี่ยง อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า สะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 ซึ่งเชื่อมระหว่างประเทศไทยบริเวณ อ.แม่สอด จ.ตาก กับเมืองเมียวดีของเมียนมา ที่ดูแลโดยรัฐบาลทหารเมียนมา ยังคงเปิดให้คนผ่านเข้า-ออกได้ตามปกติ แต่เป็นที่สังเกตว่า ไม่พบตำรวจ สำนักงานหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงทหาร และสำนักงานสอบสวนพิเศษทั่วไป บริเวณสะพานดังกล่าว
พันธมิตรฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มติดอาวุธ KNU ของชาวกะเหรี่ยง กลุ่ม PDF ที่เป็นประชาชนชาวเมียนมาซึ่งต่อต้านเผด็จการทหาร และกองกำลัง BGF ยังไม่มีการออกแถลงการณ์ใดๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากข้อมูลที่ทางการไทยประกาศ โดยฝ่ายต่อต้านได้ประกาศเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2567 ว่าได้ยึดหมู่บ้าน Thin Gan Nyi Naung ในเขตเมืองเมียวดี ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดน 12 กิโลเมตร ขณะที่ก่อนหน้านั้นในปี 2566 พวกเขาได้ยึดภูเขาที่มองเห็นเมืองเมียวดี และเข้าควบคุมทางหลวงสายเอเชียของเมืองในเดือนธันวาคม
รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช (Dulyapak Preecharush) อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า แม้ความสำเร็จในขอบเขตจำกัดเหล่านี้ที่ชายแดนอาจบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่สำคัญ แต่ยังมีเส้นทางการค้าเชิงยุทธศาสตร์และตำแหน่งทางทหารอื่นๆ ที่รัฐบาลทหารยังคงยึดถืออย่างเหนียวแน่น
“ตอนนี้กลุ่มต่อต้านมีอำนาจมากกว่า [สภาหน่วยงานของรัฐ-SCA หรือฝ่ายบริหารของรัฐบาลทหารเมียนมา] ในพื้นที่นี้ และจะกลายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีอำนาจที่นั่น อย่างไรก็ตาม แม้กองทัพพม่าจะล้มเหลวในการปกป้องเมือง (เมียวดี) แต่ค่ายทหารอื่นๆ ในรัฐกะเหรี่ยงและสำนักงานใหญ่ของกองบัญชาการภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ในเมืองเมาะลำเลิง ก็ยังไม่ถูกยึด” รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ในคืนวันที่ 7 เม.ย. 2567 มีเที่ยวบินหนึ่งเดินทางจากเมียนมาถึงสนามบินแม่สอด แต่กระทรวงการต่างประเทศของไทยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ทั้งหมดขึ้นเครื่องหรืออพยพออกไปหรือไม่ แต่กล่าวว่า นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐบาลทหารเมีนนมาได้ร้องขอให้ยกเลิกเที่ยวบินที่เหลือในวันที่ 8-9 เม.ย. 2567 นอกจากนั้น ในวันที่ 9 เม.ย. 2567 จะมีการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลของไทยเพื่อประเมินสถานการณ์และกำหนดแนวทางดำเนินการสำหรับประเทศไทย
หน่วยเฉพาะกิจราชมนู ซึ่งเป็นหน่วยทหารของไทยในพื้นที่ จ.ตาก บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ย้ำถึงจุดยืนที่เป็นกลางของประเทศไทยอย่างแน่วแน่เกี่ยวกับบรรดากลุ่มต่างๆ ที่ทำสงครามกันในเมียนมา โดย พ.อ.ณัฐกร เรือนติ๊บ (Nattakorn Reuntib) ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจราชมนู กล่าวว่า ตามหลักการด้านมนุษยธรรม ประเทศไทยจะไม่เข้าข้างกองทหารเมียนมาร์หรือกองกำลังชาติพันธุ์ แต่จะให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม นักรบไม่ว่าของฝ่ายใดก็ตาม จะต้องถูกปลดอาวุธ ได้รับความช่วยเหลือขั้นพื้นฐานและถูกส่งกลับ
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร (Panitan Wattanayagorn) ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์ที่พัฒนาไปนี้ ซึ่งหมายถึงกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอำนาจควบคุมชายแดนมากขึ้น อาจกระตุ้นให้ทางการไทยตรวจสอบการดำเนินงานของพวกเขาใน อ.แม่สอด อีกครั้ง เช่น ใครที่ควบคุมสะพานก็คือผู้ควบคุมการข้ามแดน และกลุ่มใหม่อาจมีความยืดหยุ่นมากกว่ารัฐบาลเผด็จการทหาร
“ทางการไทยจะต้องเจรจาใหม่กับกลุ่มใหม่เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริงในแง่ของการข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี