เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2567 หนังสือพิมพ์ Taipei Times ของไต้หวัน รายงานข่าว Pet dogs and cats have outnumbered newborns ระบุว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีการลงทะเบียนเลี้ยงสุนัขและแมว สูงกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่แล้ว โดยข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของไต้หวัน พบว่า ในปี 2566 จำนวนสุนัขที่ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงไว้มีจำนวน 94,544 ตัว ส่วนแมวอยู่ที่ 137,652 ตัว รวมสัตว์เลี้ยงทั้ง 2 ชนิดที่ขึ้นทะเบียนไว้ 232,196 ตัว ในขณะที่ปีดังกล่าว ไต้หวันมีประชากรเกิดใหม่เพียง 135,571 คน
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืชของไต้หวัน ณ วันที่ 29 ก.พ. 2567 พบว่า จากจำนวนสัตวแพทย์ทั้งหมด 5,773 คนในไต้หวัน ในจำนวนนี้ 3,993 คน เป็นสัตวแพทย์ที่ทำงานด้านการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง สะท้อนภาพความต้องการการรักษาพยาบาลสำหรับสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกุมารแพทย์ที่ดูแลเด็ก จะพบว่า ในปี 2565 ไต้หวันมีกุมารแพทย์ 3,077 คน ส่วนปี 2566 มีแพทย์ 1,880 คน เลือกทำงานเป็นแพทย์เฉพาะทางดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยจะต้องดูแลเด็ก 195,552 คน ในสถาบันการแพทย์ 1,048 แห่ง
ร้อยละของสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลี้ยงนั้นสูงกว่าหาเป็นในเขตเมืองใหญ่หรือเมืองที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี อาทิ เมืองซินจู๋ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุทยานวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมซินจู๋ มีผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพสัตว์ในสัดส่วนที่สูงที่สุด สำหรับร้อยละในเขตเทศบาลพิเศษทั้ง 6 แห่งมีดังนี้ ร้อยละ 84.3 ในเมืองนิวไทเป ร้อยละ 78.4 ในเกาสง ร้อยละ 76.7 ในเถาหยวน ร้อยละ 76.4 ในกรุงไทเป ร้อยละ 76.1 ในไทจง และร้อยละ 70 ในไถหนาน
หยาง เซียวโป (Yang Hsiao-po) ประธานสมาคมสัตวแพทยศาสตร์แห่งไทเป กล่าวว่า ไต้หวันมีโรงพยาบาลสัตว์ประมาณ 1,800 แห่ง แต่อาจเพิ่มเป็น 2,000 แห่งภายในสิ้นปี 2567 หรือภายในปี 2568 ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยแล้ว สัตวแพทย์ไต้หวันดูแลสัตว์ 575 ตัวต่อคน เทียบกับสัตวแพทย์ในญี่ปุ่นที่ดูแลสัตว์ 2,500 ตัวต่อคน และสัตวแพทย์ในสหรัฐอเมริกาที่ดูแลสัตว์ 4,000 ตัวต่อคน ความต้องการการรักษาพยาบาลสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น ยังกระตุ้นให้โรงพยาบาลสัตว์เพิ่มการลงทุนเพื่อปรับปรุงสถานพยาบาลอีกด้วย
“เมื่อก่อนสัตวแพทย์สามารถเปิดโรงพยาบาลสัตว์ที่มีแค่โต๊ะกับหูฟังได้ ผู้คนจำนวนมากปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงของตนเป็นเพียงสัตว์เท่านั้น หากสุนัขหรือแมวอาเจียน คุณเพียงแค่ต้องสั่งยาบางชนิดเท่านั้น และหากไม่ได้ผล เจ้าของสัตว์เลี้ยงก็แค่กลับมาที่โรงพยาบาลอีกครั้ง แต่ปัจจุบันผู้คนปฏิบัติต่อสุนัขและแมวเสมือนสมาชิกในครอบครัว และพวกมันก็สามารถมีชีวิตยืนยาวได้เท่ากับมนุษย์ ทุกวันนี้สัตว์ได้รับการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับคน หากพวกมันอาเจียน คุณต้องตรวจเลือดและอัลตราซาวนด์เพื่อดูว่าเป็นโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบหรือไม่” หยาง กล่าว
ประธานสมาคมสัตวแพทยศาสตร์แห่งไทเป ยังกล่าวอีกว่า การไม่ต้องการมีลูกเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเลือกที่จะเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงมากขึ้น การเลี้ยงสุนัขและแมวมีผลในการเยียวยา และผู้คนก็เลือกที่จะหาสัตว์เลี้ยงมาให้กับพ่อแม่ที่แก่เฒ่า เพื่อให้ผู้สูงอายุนั้นได้มีชีวิตที่เป็นปกติและเข้าสังคมได้มากขึ้น
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.taipeitimes.com/News/taiwan/archives/2024/04/15/2003816445
ขอบคุณภาพจาก : theasianparent.com
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี