ตร.สลายม็อบนักศึกษามหา’ลัยทั่วสหรัฐฯชุมนุมต้านนโยบายหนุนอิสราเอล มีผู้ถูกจับหลายร้อยคน
29 เม.ย. 2567 สำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ รายงานข่าว Hundreds of university students arrested in US as Gaza war protests spread ระบุว่า ที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนมากได้ออกมาเดินขบวนประท้วงสงครามอิสราเอล-ฮามาส โดยเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทำตามข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา และหยุดการสนับสนุนทางการทหารให้กับอิสราเอล ขณะที่ตำรวจจัดชุดควบคุมฝูงชนพร้อมอุปกรณ์แบบเต็มอัตรา โดยมีเหตุปะทะระหว่างตำรวจกับผุ้ชุมนุมตั้งแต่วันเสาร์ที่ 27 เม.ย. 2567 มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมแล้วหลายร้อยคน
ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ มีรายงานตำรวจได้จับกุมผู้คนประมาณ 100 คน ในปฏิบัติการกระชับพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่จัดชุมนุม โดยภาพจากสื่อสังคมออนไลน์ เผยให้เห็นเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน กำลังขนย้ายเต็นท์ขึ้นรถบรรทุก ขณะที่บัญชีแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์) ของ ม.นอร์ธอีสเทิร์น โพสต์ข้อความในวันที่ 27 เม.ย. 2567 เวลา 19.42 น. ว่า พื้นที่ในมหาวิทยาลัยที่การประท้วงถูกจัดขึ้นขณะนี้ได้รับการรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่ และการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยทั้งหมดกลับสู่ภาวะปกติแล้ว
นอกจากนั้น ม.นอร์ธอีสเทิร์น ยังมีคำชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า การประท้วงของนักศึกษาถูกแทรกซึมโดยผู้จัดการประท้วงที่เป็นมืออาชีพ ซึ่งไม่ใช่บุคคลในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมที่มีบัตรประจำตัวที่มหาวิทยาลัยออกให้อย่างต้องได้ถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา และจะต้องถูกดำเนินการทางวินัยไม่ใช่ทางกฎหมาย อนึ่ง ทางมหาวิทยาลัยยังอ้างว่า ในระหว่างการชุมนุมมีการตะโกนปลุกระดมด้วยคำว่า “ฆ่าชาวยิว” ซึ่งเป็นการสนับสนุนความชอบธรรมในการสลายการชุมนุมดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สมาชิกของขบวนการประท้วงที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ที่ ม.นอร์ธอีสเทิร์นได้ตอบโต้คำกล่าวอ้างเหล่านั้น พร้อมกับโพสต์คลิปวีดีโอที่ดูเหมือนจะแสดงให้เห็นผู้คนที่ถือธงชาติอิสราเอลใช้คำพูดเหยียดหยาม ในความพยายามที่ชัดเจนในการต่อต้านผู้ประท้วงที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ ขณะที่เมืองบลูมมิงตัน รัฐอินเดียนา ตำรวจได้จับกุมผู้ชุมนุม 23 คน ภายในมหาวิทยาลัยอินเดียนา
เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา รัฐรัฐแอริโซนา มีรายงานผู้ชุมนุมถูกจับกุม 69 คน โดยผู้ชุมนุมตั้งค่ายพักค้างในมหาวิทยาลัยโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยทางการรัฐแอริโซนา ชี้แจงว่า ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่ใช่นักศึกษาหรือบุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยมีการตั้งค่ายประท้วงในมหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2567 และเพิกเฉยต่อคำสั่งให้ยุติการกระทำดังกล่าว ด้านมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 80 คน ซึ่งรวมถึง จิล สไตน์ (Jill Stein) นักการเมืองสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมกับทีมงานหาเสียง
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วทั้งสหรัฐฯ แม้จะพยายามแต่ก็ล้มเหลวเสียเป็นส่วนใหญ่ในการระงับการชุมนุม และมักจบลงด้วยภาพของตำรวจเข้าแทรกแซงอย่างรุนแรง โดยมีวิดีโอที่โผล่ออกมาจากรัฐต่างๆ เผยให้เห็นนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยจำนวนมากถูกจับกุม ทั้งนี้ การประท้วงดังกล่าวเป็นผลต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในเมืองนิวเยอร์ก ซึ่งมีนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยถูกไล่ออกจากสถาบันดังกล่าวกว่า 100 คน หลังถูกจับกุมเนื่องจากจัดการชุมนุมเพื่อสนับสนุนชาวปาเลสไตน์
จากเหตุการณ์ที่ ม.โคลัมเบีย ในอีก 1 สัปดาห์ต่อมาได้ลุกลามเป็นการประท้วงตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ตามที่ปรากฏเป็นข่าว โดยผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้นิรโทษกรรมนักศึกษาและบุคลากรเหล่านั้น เป็นการเผชิญหน้ากันทั่วประเทศระหว่างนักศึกษาและผู้บริหารมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการประท้วงที่สนับสนุนปาเลสไตน์และข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ตลอดช่วง 10 วันที่ผ่านมา ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐฯ นักศึกษาหลายร้อยคนถูกจับกุม ถูกพักการเรียน ถูกคุมประพฤติ และในบางกรณีซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก คือถูกไล่ออกพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยเยล เมืองนิวเฮเวน รัฐคอนเนตทิคัต , มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย เมืองลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย , มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ เมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี และมหาวิทยาลัยมินนิโซตา รัฐมินนิโซตา โดยมหาวิทยาลัยบางแห่งต้องยกเลิกพิธีสำเร็จการศึกษา ในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ เห็นว่าอาคารของตนถูกผู้ประท้วงยึดครอง
จอห์น เฮนเดรน (John Hendren) ผู้สื่อข่าวของอัลจาซีรา ซึ่งลงพื้นที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน เมืองปรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ กล่าวว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมการประท้วงมีความเสี่ยงที่พวกเขาอาจต้องทำใจยอมรับ โดยสถาบันการศึกษาแห่งนี้มีค่าเล่าเรียนเฉลี่ย 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ (ราว 1.8 ล้านบาท) ต่อปี แต่การฝ่าฝืนกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยอาจทำให้พวกเขาถูกไล่ออก ซึ่งสำหรับหลายคน การได้เรียนที่นี่มันคือสิ่งที่พวกเขาคาดหวังมาทั้งชีวิต แต่ แซม บิสโน (Sam Bisno) หนึ่งในนักศึกษาที่เข้าร่วมประท้วง กล่าวว่า การเดิมพันความเสี่ยงแสดงให้เห็นว่านักศึกษามีความกระตือรือร้นต่อปัญหานี้อย่างไร
โมโมดู ทาล (Momodou Taal) นักศึกษามหาวิทยาลัยคอร์เนล เมืองนิวยอร์ก เปิดเผยว่า ตนเป็น 1 ใน 4 คน ที่ถูกทางมหาวิทยาลัยสั่งพักการเรียนชั่วคราว หลังตั้งค่ายประท้วงในวันที่ 27 เม.ย. 2567 และนักศึกษาที่เข้าร่วมชุมนุมยังถูกข่มขู่คุกคาม เช่น การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลบนอินเตอร์เน็ตโดยไมได้รับความยินยอม แต่กลับไม่ได้รับการปกป้องจากสถาบันการศึกษาแต่อย่างใด ตนจึงไม่เชื่อมั่นในผู้บริหารมหาวิทยาลัย ในเรื่องการทำให่มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม นักศึกษากลุ่มชาติพันธุ์อาหรับและปาเลสไตน์ ตลอดจนนักศึกษาคนใดก็ตามที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์
เมซัม เอลกาซาลี (Maysam Elghazali) แกนนำผู้ประท้วงที่มหาวิทยาลัยเอมอรี ในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย กล่าวว่า ผู้ประท้วงมีข้อเรียกร้อง 3 ประการ คือ 1.เปิดเผยการลงทุนทั้งหมด 2.ถอนตัวออกจากบริษัทสัญชาติอิสราเอล และ 3.นิรโทษกรรมและคุ้มครองสิทธิของนักศึกษาที่ถุกจับกุมอย่างไม่ยุติธรรม อนึ่ง ยังมีรายงานการประท้วงปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย และในทวีปยุโรป
ที่ประเทศแคนาดา ในวันที่ 27 เม.ย. 2567 มีการจัดชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยมแม็คกิล และมหาวิทยาลัยคอนคอร์เดีย เมืองมอนทริออล รัฐควิเบก โดยสิ่อท้องถิ่นรายงานว่า ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ถอนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนอิสราเอล รวมถึงยุติความสัมพันธ์กับสถาบันการศึกษาของอิสราเอล
ขอบคุณที่มา aljazeera
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี