เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 สำนักข่าว Channel News Asia ของสิงคโปร์ รายงานข่าว PR executive reportedly departs China's Baidu after comments glorifying overwork draw backlash ระบุว่า ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายประชาสัมพันธ์ของไป่ตู้ (Baidu) บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของจีน ตัดสินใจลาออกหลังถูก “ทัวร์ลง” ปมแสงความคิดเห็นยกย่องเชิดชูวัฒนธรรมการทำงานหนักและทุ่มเทชีวิตให้องค์กร
เรื่องนี้เกิดขึ้นจากการเผยแพร่คลิปวีดีโอที่ ฉูจิง (Qu Jing) ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของไป่ตู่ แสดงความคิดเห็นโดยกล่าวอย่างให้ตีความได้ว่า ตนไม่ได้กังวลกับพนักงาน เพราะตนไม่ใช่แม่ของพวกเขา ดังนั้นตนจะสนใจเฉพาะผลลัทธ์เท่านั้น อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างตนกับพนักงาน เป็นเพียงนายจ้างกับลูกจ้าง นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงบนแพลตฟอร์มเว่ยป๋อ (Weibo – สื่อสังคมออนไลน์ของจีน ที่ใช้งานเหมือน X หรือทวิตเตอร์) ว่า ฉูจิง ขาดความเห็นอกเห็นใจ
สื่อออนไลน์ของจีน 36Kr รายงานครั้งแรกเมื่อค่ำวันที่ 9 พ.ค. 2567 โดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อ ว่า ฉูจิง ได้ลาออกจากตำแหน่งที่ไปตู้แล้ว โดยในวันเดียวกัน ก่อนที่จะมีข่าวการลาออก เจ้าตัวได้ออกมาขอโทษผ่านแพลคฟอร์ม Wechat และยอมรับว่า การโพสต์คลิปวีดีโอดังกล่าวตนเองทำไปโดยพลการ ไม่ได้ขออนุญาตกับต้นสังกัดก่อน และย้ำว่าความคิดเห็นของตนไมได้สะท้อนจุดยืนของไป่ตู้ และยังให้คำมั่นที่จะปรับปรุงรูปแบบการสื่อสารและการจัดการของเธอ และดูแลเพื่อนร่วมงานให้มากขึ้น
“คำวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากตรงประเด็นมาก ฉันใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งและยอมรับอย่างถ่อมตัว มีสิ่งที่ไม่เหมาะสมหลายอย่างในวิดีโอที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดจากภายนอกเกี่ยวกับค่านิยมของบริษัทและวัฒนธรรมองค์กร ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง ฉันขอโทษอย่างจริงใจ” ฉูจิง กล่าว
รายงานของสื่อสิงคโปร์ กล่าวต่อไปว่า กระแสทัวร์ลงที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารระดับสูงรายนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสต่อต้านของคนวัยหนุ่ม-สาวของจีน ต่อค่านิยมการทำงานหนักและการมุ่งแข่งขันสูง อนึ่ง ยังมีการขุดคลิปวีดีโอเก่าๆ ที่ ฉูจิง เคยโพสต์ไว้ในแพลตฟอร์มโตวอิน (Douyin หรือ TikTok เวอร์ชั่นที่ใช้ในประเทศจีน) อาทิ การขู่ว่าจะทำลายอาชีพของพนักงานที่ส่งจดหมายร้องเรียนต่อเธอหลายร้อยฉบับไปที่ออฟฟิศ โดยทำให้แน่ใจว่าพวกเขาจะหางานใหม่ไม่ได้ในอุตสาหกรรมนี้
นอกจากนี้ เธอยังวิพากษ์วิจารณ์พนักงานรายหนึ่งที่ปฏิเสธที่จะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจเป็นเวลา 50 วันในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จีนจำกัดการเคลื่อนไหวอย่างเข้มงวด และกำหนดให้นักเดินทางต้องกักกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ มีการบ่นว่าทำไมเธอต้องคำนึงถึงครอบครัวของพนักงานด้วย ในเมื่อเธอไม่ใช่แม่ผัว-แม่ยาย (mother-in law) ของคนเหล่านั้น และยังขู่ด้วยว่าใครปฏิเสธจะไปทำงานระวังจะไม่ได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนหรือเลื่อนตำแหน่ง
รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า บริษัทเทคโนโลยีของจีนถูกวิพากษ์วิจารณ์มานานแล้วในเรื่องชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงาน "996" ซึ่งพนักงานในบริษัทเทคโนโลยีควรทำงานตั้งแต่ 9.00-21.00 น. ใน 6 วันต่อสัปดาห์ ปัญหาดังกล่าวยังถูกเน้นย้ำหลังจากการเสียชีวิตของพนักงาน 2 คนของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน Pinduoduo ซึ่งหนึ่งในนั้นล้มลงกะทันหันบนถนนระหว่างทางกลับบ้านจากที่ทำงาน
รวมถึงมหาเศรษฐีคนดังของจีนอย่าง แจ็ค หม่า (Jack Ma) ผู้ต่อตั้งบริษัทอาลีบาบา ก็ยังเจอกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในปี 2562 เมื่อเขาให้ความเห็นสนับสนุนวัฒนธรรมการทำงาน 12 ชั่วโมงในแต่ละวัน โดยกล่าวว่าผู้ที่สนุกกับงานของตนเองจะไม่พบว่าหลักปฏิบัติ 996 นั้นเป็นปัญหา
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี