‘ไนจีเรีย’กังวลคุณภาพอาหาร หลังทราบข่าว’ไทย’จะส่ง ‘ข้าว10ปี’มาขายในทวีปแอฟริกา
วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 จากกรณีที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เสนอแนวคิดให้นำข้าวที่เก็บอยู่ในโกดังเป็นเวลานาน 10 ปี ซึ่งตกค้างมาจากนโยบายรับจำนำข้าว สมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่งไปขายในตลาดทวีปแอฟริกา จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าข้าวนั้นมีคุณภาพหรือไม่? บริโภคแล้วจะเป็นอันตรายหรือเปล่า? ซึ่งอาจกระทบต่อชื่อเสียงของข้าวไทยที่สั่งสมมาหลายสิบปีได้นั้น
ล่าสุดมีรายงานว่า สื่อท้องถิ่นของประเทศไนจีเรีย อย่าง นสพ.Business Day นำเสนอข่าวนี้แล้วเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 ตามเวลาท้องถิ่น โดยพาดหัว “10-year-old stored Thailand rice may find its way to Nigeria, Africa” ระบุว่า นับตั้งแต่ได้ทราบว่าทางการไทยจะส่งข้าวเก่าเก็บ 10 ปี จำนวน 1.5 แสนกระสอบ ด้วยการเปิดประมูลเพื่อส่งมาขายในทวีปแอฟริกา ซึ่งไทยหวังว่าจะมีรายได้ระหว่าง 200 ถึง 400 ล้านบาท (5.4 และ 10.8 ล้านเหรียญสหรัฐ) ชาวไนจีเรียต่างแสดงความคิดเห็นในเชิงกังวลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยของอาหาร
อาทิ ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ @NwaOnyekuzi ตั้งคำถามว่า “ข้าวเก็บ 10 ปี แล้วสารอาหารยังอยู่หรือไม่?” ขณะที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @Kdenkss แสดงความเห็นว่า “นี่เป็นเรื่องน่าอาย และฉันแน่ใจว่าข้าวบางส่วนจะต้องมาจบลงที่ไนจีเรีย” หรือผู้ใช้ทวิตเตอร์ @labeakai ก็โพสต์ระบายความรู้สึกว่า “ตามปกติแล้ว แอฟริกาก็เป็นเหมือนพื้นที่ทิ้งขยะอย่างสมบูรณ์แบบ" เป็นต้น
สื่อไนจีเรียอ้างอิงข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวของประเทศไทย ที่ระบุว่า ประเทศในทวีปแอฟริกาได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางหลักของข้าวไทย เนื่องจากปริมาณการซื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ Statista ระบุว่า ในฤดูกาลปี 2566-2567 ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ด้วยปริมาณ 8.2 ล้านตัน ผู้นำเข้าข้าวจากไทย 10 อันดับแรกของทวีปแอฟริกา ในปี 2566 ได้แก่ แอฟริกาใต้ เซเนกัล แคเมอรูน โมซัมบิก และโกตดิวัวร์ ซึ่งนำเข้ารวมกัน 2.48 ล้านตันภายในช่วงเวลาดังกล่าว
ถัดจากนั้นมาคือซิมบับเว 55,691 ตัน แอลจีเรีย 76,747 ตัน แองโกลา 135,909 ตัน เบนิน 139,206 ตัน และโตโก ในขณะที่ไนจีเรีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปแอฟริกา อาจไม่อยู่ในรายชื่อ เนื่องจากนโยบายก่อนหน้านี้ของธนาคารกลางไนจีเรีย ในการจำกัดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสำหรับผู้นำเข้าข้าวเพื่อเพิ่มการผลิตในท้องถิ่น การนำเข้าส่วนใหญ่ที่บันทึกโดยเบนินและโตโกหาทางเข้าสู่ตลาดไนจีเรีย ผ่านการลักลอบผ่านแดนทางบก
เจมส์ มาร์ช (James Marsh) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยด้านอาหารและผู้อำนวยการบริหารจุดวิเคราะห์อันตรายและจุดควบคุมวิกฤต (HACCP) กล่าวว่า ข้าวอายุ 10 ปีจะไม่มีสารอาหาร เนื่องจากส่วนใหญ่จะเสื่อมสลายออกไปจนหมด นอกจากนั้น สารพิษและสารเคมีอันตรายอาจมีอยู่ในข้าวเป็นจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมีที่ใช้ในโกดังเพื่อเก็บรักษาตลอด 10 ปี ทั้งนี้ ข้าวไม่ควรถูกเก็บไว้นานเกิน 5 ปี
“น่าเสียดายที่มันจะหาทางเข้าสู่ไนจีเรียได้เพราะพรมแดนของเรามีรูพรุน รัฐบาลไนจีเรียต้องดำเนินการในตอนนี้โดยรับรองว่าข้าวจะไม่เข้าประเทศเมื่อมีการประมูล และนั่นคืองานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งชาติ (NAFDAC) และองค์การมาตรฐานแห่งไนจีเรีย (SON) ซึ่งข้าวมีหมายเลขเรือซึ่งสามารถใช้เพื่อติดตามได้” มาร์ช กล่าว
ศ.ชิตตู อคินเยมี (Prof.Shittu Akinyemi) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรแห่งสหพันธรัฐ (Federal University of Agriculture) กล่าวว่า ความปลอดภัยของอาหารมีปัจจัยกำหนด 2 ประการ ได้แก่ 1.วิธีการจัดการอาหาร และ 2.ชนิดของสารเคมีที่ใช้เพื่อการเก็บรักษา โดยธัญพืชสามารถเก็บไว้ได้เป็นระยะเวลานาน ซึ่งสังเกตว่าผู้คนมักจะไวต่อผลิตภัณฑ์อาหารที่เก็บไว้ในระยะยาว และการแก่ชราเกิดขึ้นในข้าวเช่นกัน ซึ่งเมื่อแก่แล้ว ก็จะไม่ถือเป็นสิ่งพิเศษ
ขอบคุณเรื่องจาก
https://businessday.ng/agriculture/article/10-year-old-stored-thailand-rice-may-find-its-way-to-nigeria-africa/
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี