หลายเมืองใน‘สหรัฐ’งัดยาแรง‘จับกุม-ยึดรถ’จัดระเบียบ‘ไรเดอร์’ขับขี่อันตรายทำปชช.เดือดร้อน
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2567 เว็บไซต์ Boston.com สำนักข่าวออนไลน์ในเครือ นสพ. The Boston Globe สื่อท้องถิ่นในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานพิเศษ Demand for food delivery has skyrocketed. So have complaints about some drivers ว่าด้วยหลายเมืองในสหรัฐฯ เริ่มจัดระเบียบการทำงานของเหล่า “ไรเดอร์” หรือผู้ขี่มอเตอร์ไซค์รวมถึงสกู๊ตเตอร์ส่งอาหาร รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เนื่องจากทางการได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมาก เกี่ยวกับพฤติกรรมการขับขี่ที่ฝ่าฝืนกฎจราจร และเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ
พฤติกรรมการ “ปาดซอกแซกเข้า-ออกอย่างรวดเร็ว (zip in and out of traffic)” ไปจนถึงการขึ้นไปวิ่งบนทางเท้าแม้จะมีคนเดินเท้าอยู่ของเหล่าไรเดอร์เพื่อเร่งส่งอาหารอย่างสลัดและแซนด์วิชให้ถึงมือลูกค้า กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้มากขึ้น ท่ามกลางการเติบโตอย่างมากของธุรกิจรับ-ส่งอาหาร นำไปสู่การใช้ “ยาแรง” ของทางการในหลายเมือง อาทิ ที่บอสตัน ทางการได้ส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เหล่าไรเดอร์รับงาน ถึงผลกระทบของพฤติกรรมการขับขี่ที่เป็นอันตราย
ในจดหมายดังกล่าว ระบุว่า ผู้ขับขี่บางคนใช้ยานพาหนะที่ไม่ได้จดทะเบียนและฝ่าฝืนกฎจราจร และเตือนว่าเร็วๆ นี้จะมีการกวดขันจับกุมอย่างจริงจัง พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้ประกอบการต้องมีแนวปฏิบัติเพื่อให้มั่นใจว่าบรรดาไรเดอร์จะประกอบอาชีพอย่างปลอดภัยได้อย่างไร ขณะที่รัฐแมสซาชูเซตส์ เปิดเผยว่า มีข้อมูลมอเตอร์ไซค์หลายคันไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้อง และคนขับก็ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ในเมือบอสตัน มีการยึดมอเตอร์ไซค์และสกู๊ตเตอร์ที่ผิดกฎหมายถึง 14 คัน
เอ็ดเวิร์ด ฟลินน์ (Edward Flynn) สมาชิกสภาเมืองบอสตัน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบู๊ก ระบุว่า ท้องถนนในบอสตันจะต้องไม่เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน (Wild West) อีกต่อไป ทุกคนที่ใช้ถนนในเมืองต้องปฏิบัติตามกฎจราจร ใครก็ตามที่สามารถเดินทางด้วยความเร็ว 25 ไมล์ (40 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมงได้เหมือนรถยนต์ ก็ควรได้รับใบอนุญาตขับขี่ จดทะเบียนรถ และทำประกันภัยความรับผิดในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ
ชาวเมืองบอสตันบางส่วนสนับสนุนการดำเนินการที่รุนแรงยิ่งขึ้นกับสกู๊ตเตอร์ อาทิ แอนน์ เคอร์บี (Anne Kirby) นักศึกษาวัย 25 ปี เล่าว่า ตนรู้สึกหงุดหงิดที่คนเหล่านี้ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ตนเกือบถูกชนอยู่หลายครั้ง เพราะคนเหล่านี้พยายามขับผ่านทางม้าลายทั้งที่ยังไม่ถึงสัญญาณให้ยานพาหนะเคลื่อนที่ได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีชาวเมืองที่เห็นว่าอาชีพนี้จำเป็นการชีวิตคนในเมือง อาทิ ไจอา ซามูเอล (Jaia Samuel) เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลวัย 25 ปี ยอมรับว่า แม้สกู๊ตเตอร์ส่งอาหารจะเป็นอันตราย แต่ตนก็พึ่งพาบริการของพวกเขาอย่างมาก
ที่เมืองนิวยอร์ก ทางการเปิดเผยว่า ในปีนี้มีการยึดมอเตอร์ไซค์และสกูคเตอร์ที่ผิดกฎหมายไปแล้วถึง 18,000 คัน และเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2567 มีการทำยานพาหนะที่ผิดกฎหมายเหล่านั้นไปทำลายแล้ว 200 คัน ซึ่ง เอริค อดัมส์ (Eric Adams) นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก กล่าวว่า เหล่าไรเดอร์หลายคนมีพฤติกรรมข่มขู่คนเดินเท้าโดยเฉพาะผู้สูงอายุ และพวกที่คิดว่ากฎหมายใช้ไม่ได้ หลังจากนี้ได้จะเห็นการบังคับใช้แบบเชิงรุก ขณะที่ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ในวันที่ 5 มิ.ย. 2567 ทางการได้เปิด “ปฏิบัติการขี่ให้ถูกกฎ (Operation Ride Right)” เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ขับขี่ยานพาหนะสองล้อจะปฏิบัติตามกฎหมาย นับตั้งแต่เริ่มต้น เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้กระทำผิด 5 ครั้ง และยึดมอเตอร์ไซค์ 17 คัน
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า เหล่าไรเดอร์ส่วนใหญ่เป็นประชากรย้ายถิ่นจากภูมิภาคลาตินอเมริกา (ทวีปอเมริกากลางและใต้) ไปจนถึงภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกและภูมิภาคเอเชียใต้ กล่าวว่า พวกเขาแค่พยายามหาเลี้ยงชีพและให้บริการที่ทำให้ลูกค้าได้รับอาหารอย่างรวดเร็ว อาทิ หลุยส์ โลเปซ (Luis Lopez) ไรเดอร์ชาวสาธารณรัฐโดมินิกัน ซึ่งมาทำงานในบอสตัน กล่าวว่า อาชีพของพวกตนไม่ได้มีแต่คนไม่ดีไปเสียทั้งหมด พวกตนมาทำงานหาเลี้ยงชีพ จ่ายค่าช่าและส่งเงินกลับไปเลี้ยงดูครอบครัว
ไรเดอร์รายนี้ ซึ่งมาอยู่ในสหรัฐฯ ได้ 3 ปีแล้ว ยอมรับว่า เพื่อนร่วมอาชีพบางคนไม่มีใบขับขี่ หรือใช้รถที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงมีพฤติกรรมฝ่าไฟแดง-ขี่ขึ้นทางเท้า ซึ่งนอกจากคนอื่นๆ บนท้องถนนแล้ว พฤติกรรมขับขี่โดยประมาทเหล่านี้ยังเป็นอันตรายต่อคนทำงานอาชีพเดียวกันด้วย ทั้งนี้ เมื่อคืนวันที่ 6 มิ.ย. 2567 มีตำรวจนำเอกสารแนะนำวิธีการขึ้นทะเบียนไรเดอร์มาแจกจ่าย และตนกับเพื่อนๆ ไรเดอร์ด้วยกันราว 10 คน ก็ยินดีดะปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้ยังสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้
รศ.ฮิลลารี โรบินสัน (Assoc. Prof. Hilary Robinson) อาจารย์ด้านกฎหมายและสังคมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น เมืองบอสตัน กล่าวว่า หากเทียบกับเมื่อหลายปีก่อน ที่ผู้รับงานขนส่งสินค้าด้วยรถยนต์ถูกเข้มงวดกวดขันการบังคับใช้กฎหมาย บรรดาไรเดอร์ดูจะถูกเพ่งเล็งและเอาจริงเอาจังจากรัฐมากกว่า นั่นเพราะพาหนะ 2 ล้อ อย่างมอเตอร์ไซค์ สามารถฝ่าฝืนกฎจราจรได้ง่ายกว่า
“การเปลี่ยนมาใช้ยานพาหนะเป็นความพยายามที่จะจัดหาแรงงานค่าแรงต่ำและมีความเสี่ยงสูง เพื่อให้เราทุกคนมีสินค้าและบริการราคาถูก นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักว่าของฟรีนั้นไม่มีอยู่จริง” อาจารย์โรบินสัน กล่าว
แต่อีกด้านหนึ่ง ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเองก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย อาทิ วิลเลียม เมดินา (William Medina) ไรเดอร์ซึ่งทำงานในเมืองนิวยอร์ก ที่เริ่มอาชีพตั้งแต่ใช้จักรยาน ก่อนขยับมาเป็นสกู๊ตเตอร์ จนปัจจุบันหันมาใช้มอเตอร์ไซค์ กล่าวว่า บริษัทต่างๆ กดดันให้ไรเดอร์ต้องวิ่งส่งอาหารในระยะทางไกล อาทิ 6-7 ไมล์ (ประมาณ 9.6-11.2 กิโลเมตร) ให้ได้
ทั้งนี้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรับ-ส่งอาหารรายใหญ่ 3 เจ้าในสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกับทางการและผู้สนับสนุนพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อแก้ไขปัญหา อาทิ DoorDash เผยแพร่จดหมายข่าวประชาสัมพันธ์ ในวันที่ 5 มิ.ย. 2567 ระบุว่า ไรเดอร์ที่รับงานกับบริษัทส่วนใหญ่ปฏิบัติตามกฎหมาย และผู้ที่ฝ่าฝืนก็ต้องเผชิญกับผลที่ตามมาไม่ต่างจากผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ เช่นเดียวกับ Grubhub ที่ออกจดหมายข่าวในวันที่ 6 มิ.ย. 2567 ยืนยันว่า ไรเดอร์พร้อมปฏิบัติตามกฎหมายของท้องถิ่น และบริษัทก็ความสำคัญกับความปลอดภัยอย่างจริงจัง และจะดำเนินการเพื่อจัดการกับรายงานใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.boston.com/news/business/2024/06/08/demand-for-food-delivery-has-skyrocketed-so-have-complaints-about-some-drivers/
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี