สื่อทั่วโลกร่วมตีข่าว‘ไทย’ ผ่านกฎหมาย‘สมรสเท่าเทียม’ ชาติแรกใน‘อาเซียน’รับรองสิทธิแต่งงานคนทุกเพศ
วันที่ 19 มิถุนายน 2567 สื่อมวลชนนานาชาติ ร่วมเสนอข่าว ร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” รับรองการแต่งงานของคนทุกเพศ ผ่านการพิจารณาในสภาสูงของไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยสำนักข่าวออนไลน์ The Macau News เขตปกครองพิเศษมาเก๊า ประเทศจีน รายงานข่าว ‘Love trumps prejudice’: Thai lawmakers pass same-sex marriage law ระบุว่า ที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ของไทย มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 130 เสียง มากกว่าคะแนนเสียงไม่เห็นด้วยซึ่งมีเพียง 4 เสียง โดยมี สว. อีก 18 คน งดออกเสียง
สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเปลี่ยนนิยามการสมรสจากคำว่า “ชายและหญิง” เป็นคำว่า “บุคคล” ซึ่งเป็นคำที่ไม่ระบุเพศ โดยขั้นตอนหลังจากนี้ จะเป็นการนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลบังคับใช้หลังจากนั้นอีก 120 วัน ทำให้ไทยกลายเป็นชาติที่ 3 ในทวีปเอเชีย ต่อจากเนปาลและไต้หวัน และเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่รับรองการแต่งงานของบุคคลทุกเพศ
นสพ.Daily Post ของไนจีเรีย รายงานข่าว Thailand passes same-sex bill, becomes 3rd Asian country to legalise gay marriage ระบุว่า ก่อนจะมาถึงการพิจาณณาของวุฒิสภาในวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ย้อนไปเมื่อเดือน มี.ค. 2567 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทย ผ่านการพิจารณาจากสภาล่างด้วยคะแนนเสียงแบบท้วมท้น โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เพียง 10 คนเท่านั้นที่ยกมือคัดค้าน จากสมาชิกทั้งหมด 415 คน ที่ร่วมประชุมในครั้งนั้น ทำให้ล่าสุด ไทยกำลังจะเป็นประเทศลำดับที่ 38 ของโลก ที่รับรองสิทธิของคู่รักไม่ว่าจะมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบใดก็ตาม
สำหรับ 37 ประเทศก่อนหน้า เริ่มจาก เนเธอร์แลนด์ เป็นชาติแรกในโลกที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2544 ส่วนประเทศอื่นๆ ได้แก่ อันดอร์รา อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม บราซิล แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา คิวบา เดนมาร์ก เอกวาดอร์ เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก มอลตา เม็กซิโก เนปาล นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สโลวีเนีย แอฟริกาใต้ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และอุรุกวัย ครอบคลุมประชากรโลก 1.5 พันล้านคน
สื่อไนจีเรียยังกล่าวด้วยว่า แม้การรักเพศเดียวกันจะยังเป็นสิ่งต้องห้ามในหลายประเทศแม้แต่ในทวิปเอเชีย แต่ความคืบหน้าล่าสุดของประเทศไทยก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยเปิดใจยอมรับการแต่งงานของคนทุกเพศมานานแล้ว แต่อีกด้านหนึ่ง กว่าที่จะได้รับการรับรองทางกฎหมาย การณรงค์เพื่อสร้างกระแสสนับสนุนในไทยสังคมไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ต้องเผชิญอุปสรรคจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งคนไทยที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จำนวนไม่น้อยยังคงมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมอิงจารีตประเพณี
สำนักข่าว CBC ของแคนาดา รายงานข่าว Same-sex marriage bill wins approval of Thailand's Senate ระบุว่า แม้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะได้รับเสียงโหวตสนับสนุนอย่างท่วมท้นในที่ประชุมวุฒิสภา แต่ก็มีเสียงคัดค้านอยู่บ้าง อาทิ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร (Worapong Sa-nganet) หนึ่งใน สว. ที่ร่วมประชุม แสดงตวามเป็นห่วงว่า อาจเป็นการบ่อนทำลายสถาบันครอบครัวอย่างรุนแรง
เศรษฐา ทวีสิน (Srettha Thavisin) นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการพักรักษาตัวเนื่องจากติดเชื้อโควิด-19 ได้โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์เดิม) ร่วมยินดีกับการผ่านร่างกฎหมายสมรมเท่าเทียมในชั้น สว. โดยระบุว่า ตนภูมิใจในความพยายามร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ซึ่งตอกย้ำพลังของความสามัคคีในความหลากหลายของสังคมไทย และเราจะต่อสู้เพื่อสิทธิทางสังคมสำหรับทุกคนต่อไป โดยไม่คำนึงถึงสถานะของพวกเขา
นอกจากนั้นยังมีสำนักข่าว Deutsche Welle (DW) ของเยอรมนี นสพ.ท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกา เช่น Miami Herald , Los Angeles Times , The Washington Post สำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ นสพ. The Hindu ของอินเดีย สำนักข่าว News.am ของอาร์เมเนีย นสพ.Metro ของอังกฤษ สำนักข่าว GMA News ของฟิลิปปินส์ นสพ. The Irish Examiner ของไอร์แลนด์ เป็นต้น ที่ร่วมรายงานข่าวนี้ด้วย
https://macaonews.org/news/around-the-world/thailand-same-sex-marraige-equality-bill/
https://dailypost.ng/2024/06/18/thailand-passes-same-sex-bill-becomes-3rd-asian-country-to-legalise-gay-marriage/
https://www.cbc.ca/news/world/thailand-marriage-equality-senate-1.7238065
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี