เจนีวา (รอยเตอร์ส/บีบีซี นิวส์) – องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้โรคฝีดาษวานรเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก หลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในหลายประเทศแถบแอฟริกา ขณะที่ไทยยังไม่พบสายพันธุ์ดังกล่าว
ที่ประชุมฉุกเฉินของคณะกรรมการฉุกเฉินองค์การอนามัยโลก ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันพุธที่ 14 ส.ค. เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานร หรือเอ็มพ็อกซ์ ในหลายประเทศของทวีปแอฟริกา โดยการแพร่ระบาดในรอบนี้เป็นการระบาดของโรคที่เกิดจากสายพันธุ์แอฟริกากลาง หรือเชื้อ เคลด 1บีซึ่งเป็นเชื้อไวรัสฝีดาษวานรสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์ เคลด 2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดิมที่เคยพบการแพร่ระบาดเมื่อ 2 ปีก่อน ผ่านการสัมผัสใกล้ชิดในชีวิตประจำวัน รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์สายพันธุ์ดังกล่าวระบาดจากสาธารณประชาธิปไตยคองโก ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น บุรุนดี เคนยา รวันดา และยูกันดา
เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ประกาศให้โรคฝีดาษวานรเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก ตามคำแนะนำของคณะผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ร่วมประชุมหารือกัน ซึ่งนับเป็นการแจ้งเตือนด้านสาธารณสุขในระดับสูงสุดของโลก หลังจากที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค หรือซีดีซีของแอฟริกา ได้ประกาศให้ฝีดาษวานรเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในแอฟริกาไปเมื่อวันอังคารที่13 ส.ค.
ตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมามีผู้ติดเชื้อใน 13 ประเทศของแอฟริกาแล้วกว่า 17,000 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 500 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกกว่า 14,000 คน และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
สำหรับโรคฝีดาษวานรสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสกับสัตว์หรือผู้ติดเชื้อ รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ของผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อและหลัง อ่อนเพลีย รวมทั้งจะมีตุ่มหนองขึ้นตามร่างกาย แม้ว่าอาการของโรคจะไม่รุนแรงแต่ก็เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้
ด้านกรมควบคุมโรคของไทยเผยมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดทั้ง 2 สายพันธุ์ และขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรสายพันธุ์ใหม่ สำหรับการแพร่ระบาดในไทยตั้งแต่เดือนมกราคม- วันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมามีผู้ป่วย 140 คน และเสียชีวิต 3 ศพ หากนับรวมตั้งแต่ปี 2565 ถึงปีนี้มีผู้ป่วยสะสม 827 คน และเสียชีวิต 11 ศพ โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของฝีดาษวานรในไทยและทั่วโลกเป็นเชื้อสายพันธุ์เคลด 2 กรมควบคุมโรคระบุว่าฝีดาษวานรเป็นโรคที่รักษาได้และยืนยันไทยมีความพร้อมระบบการดูแลรักษาโรคฝีดาษวานรทั่วประเทศ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี