สื่อมะกันจับตา"ไทย" 2 เหตุการณ์ทำประชาธิปไตยถอยหลัง หวั่น"สหรัฐฯ"เสียพันธมิตรสำคัญต้าน"จีน"
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 นสพ.The Washington Post สหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทบรรณาธิการ ชื่อเรื่อง “Thailand’s democracy takes two steps back” ระบุว่า ประชาธิปไตยที่เปราะบางของไทยประสบกับความล้มเหลวครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้งในเดือนนี้ จากคำตัดสินของศาลที่มีอำนาจสูงสุดและไม่สามารถอุทธรณ์คำตัดสินได้ เหตุการณ์ล่าสุดนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่นำโดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่จะส่งเสริมประชาธิปไตยเป็นศูนย์กลางของนโยบายต่างประเทศมีข้อจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประชาธิปไตยถดถอยในประเทศที่สนับสนุนสหรัฐฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นปราการสำคัญในการต่อต้านอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีน
เหตุการณ์แรก ในวันที่ 7 ส.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุดของประเทศและเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เมื่อปี 2566 อีกทั้งยังสั่งห้ามนักการเมืองระดับสูงของพรรค 11 คน ไม่ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี รวมถึงผู้นำหนุ่มหล่อของพรรคอย่าง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งหลายคนคาดการณ์ว่าคำตัดสินดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับ เนื่องจากเมื่อ 4 ปีก่อน พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองรุ่นก่อนหน้าของพรรคก้าวไกล ก็เคยถูกยุบไปแล้วเช่นกัน
การกระทำของพรรคก้าวไกล พรรคการเมืองที่คว้าชัยชนะการเลือกตั้งอย่างน่าทึ่ง ได้ สส. มากถึง 151 ที่นั่ง จากเสียงประชาชนถึง 14 ล้านเสียง ที่นำไปสู่การสั่งยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญ คือการเสนอให้มีการถกเถียงอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ซึ่งถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ใช้ปิดปากผู้เห็นต่าง โดยตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีผู้ถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายนี้อย่างน้อย 272 คน
เหตุการณ์ต่อมา ในวันที่ 14 ส.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งปลดนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากละเมิดจริยธรรม หลังจากดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 ปี โดยนายเศรษฐา เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่ง สส. มาเป็นอันดับ 2 ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ได้รับตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากพันธมิตรอันประกอบด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มธุรกิจฝ่ายอนุรักษ์นิยม เห็นว่าแนวคิดของพรรคก้าวไกลสุดโต่งเกินไป จึงไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลได้จัดตั้งรัฐบาล
การถอดถอยนายเศรษฐาออกจากตำแหน่ง มีสาเหตุมาจากการแต่งตั้งทนายความที่ประพฤติผิดจริยธรรมให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี แม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะลาออกหลังจากดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึงเดือนก็ตาม แต่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าสาเหตุที่แท้จริงคือ ผู้นำฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องการส่งคำเตือนถึงผู้สนับสนุนของนายเศรษฐา ซึ่งก็คืออดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร มหาเศรษฐีที่หลายคนเชื่อกันยังว่าเป็นผู้บงการพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลัง
คำตัดสินทั้งสองฉบับแสดงให้เห็นว่า “กลุ่มอำนาจเก่า” ของประเทศไทยได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง แทนที่จะใช้การรัฐประหาร กลุ่มต่อต้านการปฏิรูปและต่อต้านประชาธิปไตยกลับใช้กฎหมายเพื่อบ่อนทำลายเจตจำนงของประชาชนโดยใช้ระบบกฎหมาย หรืออาจกล่าวได้ว่าใช้อำนาจในทางที่ผิด กฎหมายกลายเป็นอาวุธที่รัฐบาลเผด็จการนิยมใช้กันทั่วไป โดยต้องการความชอบธรรมทางกฎหมายเพื่อปกปิดสิ่งที่ยังเป็นเพียงการปราบปรามแบบเก่า
อย่างไรก็ตาม ผลในทางปฏิบัติของคำตัดสินดังกล่าวอาจมีจำกัด หนึ่งวันหลังจากที่พรรคก้าวไกลถูกยุบ สส. ของพรรคที่ยังเหลือทั้งหมด 143 คนได้ประกาศจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่เรียกว่า พรรคประชาชน โดยมีหัวหน้าพรรคคนใหม่คือ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ชายหนุ่มอายุ 37 ปี ที่กล่าวว่า พรรคที่ตั้งขึ้นใหม่จะยังคงผลักดันการปฏิรูปต่อไป ท่ามกลางชะตากรรมของ สส. จำนวน 44 คนของพรรค ถูกสอบสวนกรณีละเมิดจริยธรรมโดยหน่วยงานปราบปรามการทุจริตของประเทศ กรณีร่วมลงชื่อแก้ไข ม.112 ขณะที่ยังอยู่กับพรรคก้าวไกล
เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 พรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตรในสภาผู้แทนราษฎร ได้เลือก แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาววัย 37 ปี ของอดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น แม้ว่าประวัติของเธอจะไม่ค่อยดีนักก็ตาม ซึ่งรวมถึงกรณีพ่อและอาที่เคยจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและถูกโค่นอำนาจจากการรัฐประหาร โดยยังไม่ชัดเจนว่า น.ส. แพทองธาร จะอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ได้นานเพียงใด
บทความนี้ยังกล่าวด้วยว่า ไทยถือเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไขสำหรับสหรัฐฯ โดยประเทศไทยยังคงเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งกองทัพของทั้ง 2 ประเทศ ได้จัดการซ้อมรบร่วมกันเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าสหรัฐฯ กำลังพิจารณาขายเครื่องบินรบ F-16 Block 70 ที่ทันสมัยให้กับกองทัพอากาศไทยอีกด้วย
กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ระบุว่า สหรัฐฯ รู้สึกกังวลอย่างยิ่งต่อการยุบพรรคก้าวไกล ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ของสหรัฐฯ อย่าง เบน คาร์ดิน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า รัฐสภาจะประเมินต่อไปว่าการพัฒนาจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างไร คำถามคือ พันธมิตรประชาธิปไตยของสหรัฐฯ และไทยจะทำอย่างไร หากประวัติศาสตร์เป็นเครื่องชี้นำ คำตอบนั้นน่าเศร้าที่ไม่ค่อยมีมากนัก
เจ้าหน้าที่ของทางการไทยส่วนใหญ่ปัดตกคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการยุบพรรคก้าวไกล โดยกล่าวว่าประเทศจะไม่ถูกแทรกแซงจากต่างชาติ พวกเขารู้ดีว่าในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้น ไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญเกินกว่าที่จะคว่ำบาตรอย่างจริงจัง ตราบใดที่สหรัฐฯ ไม่สนใจที่จะส่งเสริมประชาธิปไตยเป็นหลักการชี้นำ พวกเขาก็คงจะพูดถูก
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี