เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 สำนักข่าว BBC ของอังกฤษ รายงานข่าว Canada hits China-made electric cars with 100% tariff ระบุว่า แคนาดาเป็นประเทศล่าสุดที่ใช้นโยบายกำแพงภาษีเพื่อต่อต้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีน ต่อจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งที่ผ่านมา โลกตะวันตกกล่าวหารัฐบาลแดนมังกรใช้มาตรการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ผู้ประกอบการค่ายตะวันตกเสียเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่ฝ่ายจีนก็ตอบโต้บรรดาชาติตะวันตกว่ากำลังละเมิดกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องการกีดกันทางการค้า
โดยแคนาดา ปรับอัตราการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนไปอยู่ที่ร้อยละ 100 และยังเตรียมจะเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมนำเข้าจากจีนอีกในอัตราร้อยละ 25 โดยการขึ้นภาษีของแคนาดาต่อรถยนต์ไฟฟ้าของจีนจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2567 ในขณะที่ภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.ปีเดียวกัน ซึ่ง จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าวว่า แคนาดากำลังเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์ให้กลายเป็นผู้นำในการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต แต่ผู้มีบทบาทอย่างจีนกลับเลือกที่จะให้ตัวเองได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม
โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนออกแถลงการณ์ประท้วงในทันที โดยระบุว่า การกระทำของแคนาดาทำลายระบบเศรษฐกิจโลก กฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างจริงจัง และจีนเรียกร้องให้ฝ่ายแคนาดาแก้ไขการกระทำที่ผิดพลาดนั้นในทันที ทั้งนี้ จีนเป็นพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของแคนาดา รองจากสหรัฐฯ ขณะที่นโยบายกำแพงภาษีเพื่อสกัดกั้นการเติบโตของ EV จีนในตลาดตะวันตก เริ่มต้นเมื่อเดือน พ.ค.2567 เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนถึง 4 เท่า ตามด้วย EU ที่จะเพิ่มภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 36.3
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า นโยบายกำแพงภาษีของแคนาดา จะรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อเทสลา แบรนด์ดังสัญชาติอเมริกันด้วย หากผลิตจากโรงงานในจีน ซึ่ง มาร์ค เรนฟอร์ด (Mark Rainford) นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน ให้ความเห็นว่า เทสลาจะต้องวิ่งเต้นกับรัฐบาลแคนาดาเพื่อให้ผ่อนปรนภาษีนำเข้าเหล่านี้ เช่นเดียวกับที่ได้ทำกับยุโรปไปแล้ว แต่หากเทสลาไม่สามารถลดภาษีนำเข้าได้เพียงพอ พวกเขาอาจพิจารณาเปลี่ยนการนำเข้าไปเป็นรถที่ผลิตจากโรงงานในสหรัฐฯ หรือยุโรป เนื่องจากในปี 2567 แคนดาถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 6 ของแบรนด์ดังกล่าว
เมื่อต้นเดือน ส.ค.2567 สหภาพยุโรปได้ลดภาษีศุลกากรเพิ่มเติมที่วางแผนไว้สำหรับรถยนต์ยี่ห้อเทสลาที่ผลิตในจีนลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง หลังจากที่ผู้ผลิตรถยนต์ของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ร้องขอให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม ขณะที่ในเบื้องต้น เทสลายังไม่ได้ชี้แจงใดๆ กับทาง BBC ถึงนโยบายล่าสุดของแคนาดา อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนยังไม่ไดรับความนิยมในแคนาดา แม้บางยี่ห้อ เช่น BYD จะเริ่มเข้าไปทำตลาด
รายงานของสื่ออังกฤษทิ้งท้ายว่า จีนเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลก และผู้ผลิตรถยนต์จากแดนมังกรได้ส่วนแบ่งที่สำคัญในตลาดโลกอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน แคนาดาได้บรรลุข้อตกลงมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐกับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในยุโรป เนื่องจากพยายามที่จะเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี