‘เพจเจอร์’สังหาร!ระเบิดรอบ2ที่‘เลบานอน’ดับแล้ว 20 ศพ ‘ญี่ปุ่น-ไต้หวัน’แจงวุ่นปมยี่ห้อ
19 กันยายน 2567 สื่อต่างประเทศรายงานความคืบหน้ากรณีเกิดเหตุระเบิดเครื่องเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารซึ่งใช้ในประเทศเลบานอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย โดยเว็บไซต์นิตยสาร India Today ของอินเดีย รายงานข่าว Japan firm says production of devices used in Lebanon blasts discontinued in 2014 ระบุว่า ไอคอม (Icom) บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่ผลิตวิทยุสื่อสาร รับทราบรายงานข่าวที่พบว่า วิทยุสื่อสารที่เกิดระเบิดขึ้นเป็นยี่ห้อของตน โดยมีภาพข่าวซากวิทยุสื่อสารที่ระเบิด ปรากฏตราสินค้าของไอคอมอย่างชัดเจน รวมถึงคำว่า “เมดอินเจแปน” ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ของบริษัท ไอคอมชี้แจงว่า แบตเตอรี่สำหรับใช้กับวิทยุสื่อสารรุ่นดังกล่าวเลิกผลิตไปตั้งแต่ปี 2557 และยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า วิทยุสื่อสารที่เกิดระเบิดนั้นจัดส่งโดยบริษัทหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ไอคอมอยู่ระหว่างการสืบสวน และหากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบบนเว็บไซต์ของบริษัทโดยเร็ว ขณะที่เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2567 มีรายงานเหตุระเบิดระลอกที่ 2 ในเลบานอน บริเวณเขตอิทธิพลของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บกว่า 450 คน ตามรายงานของเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ให้ข้อมูลว่า อุปกรณ์ที่สมาชิกกลุ่มใช้ระเบิดในฐานที่มั่นของพวกเขาในกรุงเบรุต ขณะที่สื่อของรัฐรายงานเหตุระเบิดที่คล้ายกันในพื้นที่ทางตอนใต้และตะวันออกของประเทศ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น 1 วันหลังจากอุปกรณ์เพจเจอร์หลายร้อยเครื่องที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ใช้ระเบิด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย รวมทั้งเด็ก 2 ราย และบาดเจ็บอีกประมาณ 2,800 คนทั่วเลบานอน
แม้ว่าอิสราเอลจะยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นติดต่อกัน 2 ครั้ง แต่ โยฟ กัลลันต์ (Yoav Gallant) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิสราเอล ได้ประกาศถึง “ช่วงใหม่ของสงคราม” โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2567 ได้กล่าวกับทหารในกองทัพอิสราเอล ว่า เราอยู่ในช่วงเริ่มต้นของช่วงใหม่ของสงคราม ซึ่งต้องอาศัยความกล้าหาญ ความมุ่งมั่น และความพากเพียร
นสพ.Taiwan News ของไต้หวัน รายงานข่าว Taiwan issues response to pager explosions in Lebanon ระบุว่า เจฟฟ์ หลิว (Jeff Liu) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน ชี้แจงกรณีที่พบว่า เครื่องเพจเจอร์ที่ระเบิดในเลบานอนนั้นผลิตในไต้หวัน ใน 3 ประเด็น คือ
1.เพจเจอร์รุ่นที่ปรากฏเป็นข่าวนั้นไต้หวันไม่ได้ส่งออกไปยังเลบานอนโดยตรง โดยโครงสร้างภายในของเพจเจอร์รุ่นนี้ ประกอบด้วยเสาอากาศรับสัญญาณการสื่อสาร ชิปไมโครโปรเซสเซอร์ ตัวถอดรหัสการสื่อสาร เมนบอร์ด หน้าจอแสดงผล และแบตเตอรี่อัลคาไลน์ขนาด AA ที่มีความจุพลังงานขั้นต่ำ ซึ่งหากเป็นอุปกรณ์มาตรฐานจะไม่สามารถสร้างการระเบิดที่เป็นอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิตได้
2.ตั้งแต่ปี 2565 ถึงเดือน ส.ค. 2567 บริษัทส่งออกเพจเจอร์ 260,000 เครื่อง โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ และไม่เคยมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการระเบิดที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์นี้มาก่อน
3.คดีนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนทางกฎหมายเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ ในวันที่ 17 ก.ย. 2567 ฉือชิงกวง (Hsu Ching-kuang) ผู้ก่อตั้ง Gold Apollo บริษัทสัญชาติไต้หวัน ที่ผลิตเครื่องเพจเจอร์ รุ่น AR-924 ที่ปรากฏเป็นข่าว ชี้แจงว่า เพจเจอร์รุ่นนี้ผลิตและจำหน่ายภายใต้ใบอนุญาตจากบริษัท BAC Consulting KFT ของฮังการี โดย Gold Apollo เป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตจากแบรนด์เท่านั้น และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการออกแบบหรือผลิตสินค้ารุ่นนี้โดยเฉพาะ
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี