เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2567 เว็บไซต์นิตยสาร Tempo ของอินโดนีเซีย รายงานข่าว No Permit for Temu in Indonesia, Communication Minister Assures อ้างคำกล่าวของ บูดี อารี เซเตียดี (Budie Arie Setiadi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2567 ว่า ทางการอินโดนีเซีย ยังไม่อนุญาตให้ ‘เตมู (Temu)’ แอปพลิเคชั่นซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์สัญชาติจีน ดำเนินธุรกิจในแดนอิเหนา เพราะสุ่มเสี่ยงจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจรายย่อย รายเล็ก และรายกลาง (MSMEs) ภายในประเทศ
รายงานของ Tempo ยังอ้างถึงการบรรลุข้อตกลงร่วมกัน ระหว่าง เซเตียดี รมว.การสื่อสารและสารสนเทศ , ซัลคิฟลี ฮาซัน (Zulkifli Hasan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ เตเตน มัสดูกี (Teten Masduki) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยทั้ง 3 กระทรวง มีความเห็นร่วมกันว่า จะไม่อนุญาตให้แอปฯ ดังกล่าวจากแดนมังกร เข้ามาประกอบการในอินโดนีเซีย
เทมมี สัตยา เปอร์มานา (Temmy Satya Permana) รักษาการในตำแหน่งรองหัวหน้าฝ่าย SMEs ของกระทรวงสหกรณ์และ SMEs ได้แสดงจุดยืนคัดค้านการอนุญาตแอปฯ เตมู ให้เข้ามาในอินโดนีเซีย โดยให้เหตุผลว่า แอปฯ ดังกล่าว มีศักยภาพมากพอจะทำให้ตลาดปั่นป่วน โดยแอปฯ เตมู เป็นแพลตฟอร์มการค้าข้ามพรมแดนจากจีนที่ใช้ระบบการขายตรงจากโรงงานถึงผู้บริโภค (factory-to-consumer : F2C) ซึ่งแตกต่างจากแอปฯ ซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์อื่นๆ โดยแอปฯ เตมู จะตัดห่วงโซ่คนกลางออกไปทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นผู้ขาย ผู้ขายต่อ หรือผู้ส่งสินค้า
กระทรวงสหกรณ์และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของอินโดนีเซีย พบว่า การแข่งขันกับราคาตลาดที่ต่ำเป็นพิเศษของสินค้าที่นำเข้าที่ขายบนแอปฯ ใหม่นี้เป็นเรื่องท้าทาย โดย เทมมี ให้ความเห็นว่า ไม่เฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยเท่านั้น แม้แต่โรงงานขนาดใหญ่ก็อาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงด้วยจากการเข้ามาของแอปฯ ดังกล่าว
ในวันที่ 4 ต.ค. 2567 Tempo ได้เผยแพร่รายงานพิเศษ Reasons Why Temu App Considered a Threat to Indonesia's Market ระบุเหตุผลที่ทางการอินโดนีเซีย มองแอปพลิเคชั่นเตมู เป็นภัยคุกคามต่อตลาดในประเทศ ไว้ 5 ประการ ดังนี้
1.ทำให้ราคาสินค้าในตลาดปั่นป่วน : เตมูเป็นแพลตฟอร์มการค้าข้ามพรมแดนจากจีนที่ใช้ระบบการขายตรงจากโรงงานถึงผู้บริโภค ซึ่งเรียกว่าโรงงานถึงผู้บริโภค (F2C) ซึ่งแตกต่างจากแอปพลิเคชันซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์อื่นๆ โดยเตมูจะไม่เกี่ยวข้องกับผู้ขาย ผู้ขายต่อ หรือผู้ส่งตรง ดังนั้น จึงเชื่อกันว่ารูปแบบธุรกิจ F2C นี้สร้างความเสียหายต่อผู้ประกอบการรายย่อยในอินโดนีเซีย ซึ่งกระทรวงสหกรณ์และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของอินโดนีเซีย พบว่าการแข่งขันกับราคาตลาดที่ต่ำเป็นพิเศษของสินค้าที่นำเข้าซึ่งขายผ่านแอปฯ ใหม่นี้เป็นเรื่องท้าทาย
2.สั่นคลอนเสถียรภาพของผู้ประกอบการในประเทศทั้งหมดไม่ว่ารายย่อยหรือรายใหญ่ : เทมมี สัตยา เปอร์มานา รักษาการในตำแหน่งรองหัวหน้าฝ่าย SMEs ของกระทรวงสหกรณ์และ SMEs กล่าวว่า แอปฯ เตมู มีศักยภาพที่จะทำให้ไม่มั่นคงไม่เพียงแค่ผู้ประกอบการรายย่อยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริษัทหรือโรงงานขนาดใหญ่ด้วย ซึ่งเราเพียงแค่ต้องระบุซัพพลายเออร์ที่เหมาะสม รวมพวกเขาเข้ากับแอปพลิเคชั่น (เช่น เตมู) และอำนวยความสะดวกในการซื้อโดยตรง ต้นทุนการจัดส่งต่ำมาก มีรูปแบบดังกล่าวให้เลือกมากมาย
3.เป็นช่องทางระบายสินค้าจากจีนที่ขายไม่ออกในตลาดแดนมังกร : เวียนเทอร์ ราห์ มาดา (Wientor Rah Mada) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Smesco Indonesia ตั้งข้อสังเกตว่า แอปฯ เตมู อาจกำลังส่งเสริมการนำสินค้าที่ขายไม่ออกในตลาดภายในประเทศจีนไปจำหน่ายให้กับประเทศอื่นๆ โดยระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับสินค้าส่วนเกินของจีนในปัจจุบัน และอินโดนีเซียก็อาจเป็นเป้าหมายหนึ่ง ซึ่ง เวียนเทอร์ กล่าวถึงเรื่องนี้เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567 ในการอภิปรายเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์นำเข้า
4.เป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม : มุสดาลิฟาห์ มัชมุด (Musdhalifah Machmud) รักษาการในตำแหน่งรองหัวหน้าฝ่ายประสานงานเศรษฐกิจ กำลังคน และ SMEs ประจำกระทรวงเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย กล่าวว่า การมีแอปพลิเคชั่นอย่างเตมู โดยไม่มีกฎระเบียบที่เหมาะสมอาจก่อกวนระบบนิเวศของตลาดและสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลกระทบต่อความต้องการผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น และอาจนำไปสู่การสูญเสียตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรม
บทความของสื่ออินโดนีเซีย อ้างถึงคำกล่าวของ มุสดาลิฟาห์ ในการแถลงข่าวเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2567 ว่าด้วยบทเรียนจาก “ติ๊กต๊อกช็อป (TikTok Shop)” ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์จากจีนอย่างติ๊กต๊อก ว่า ไม่ใช่ทุกโมเดลธุรกิจหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลจะเหมาะสมกับความต้องการของอินโดนีเซีย แม้ว่า TikTok Shop จะนำเสนอโอกาส แต่ก็เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานและธุรกรรมของผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางธุรกิจและการเกิดขึ้นของการผูกขาดทางธุรกิจฟ
และ 5.สุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาแรงงานถูกเลิกจ้าง : อิซซูดิน อัล-ฟาร์รัส (Izzudin Al-Farras) นักวิจัยจากสถาบันเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการเงิน (Indef) เคยกล่าวเตือนไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2567 ว่า หากแอปฯ เตมู เข้ามาในอินโดนีเซีย อาจส่งผลให้ตลาดที่เชื่อมโยงโรงงานกับผู้บริโภคมีการแข่งขันน้อยลง ซึ่งอาจนำไปสู่การปิดตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงการเลิกจ้างพนักงานในภาคส่วนเหล่านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ‘อินโดนีเซีย’แบนซื้อขายออนไลน์ ลั่นต้องปกป้องพ่อค้าแม่ค้าในตลาด
ขอบคุณเรื่องจาก
- https://en.tempo.co/read/1924538/no-permit-for-temu-in-indonesia-communication-minister-assures
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี